ค่าธรรมเนียมการทิ้งเทแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้ว | กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

ค่าธรรมเนียมการทิ้งเทแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้ว | กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

พลังงานจากแบตเตอรี่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ทำงานตามอรรถประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้น การใช้แบตเตอรี่จึงมีความใกล้ชิดกับการดำรงชีวิตของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง

ในอดีตผู้อ่านทั้งหลายคงคุ้นชินกับการใช้ “ไฟฉาย” ที่มีรูปลักษณ์เป็นทรงกระบอกหรือรูปทรงต่าง ๆ ซึ่งไฟฉายต้องอาศัยการบรรจุแบตเตอรี่ (Battery) จำนวนหลายก้อนเพื่อทำให้เกิดแสงสว่างตามความต้องการ     
    หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ เช่น วิทยุ ของเล่นเด็ก มอเตอร์ขนาดเล็ก เป็นต้น ยังต้องพึ่งพาอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่เพื่อทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ทำงานตามอรรถประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้น ปัจจุบันนี้ยังคงมีการนำแบตเตอรี่มาใช้เป็นต้นกำเนิดพลังงานให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสิ่งอื่น ๆ เช่นเดิม 

แบตเตอรี่ยุคปัจจุบันย่อมมีความแตกต่างจากในอดีต เนื่องจากลักษณะของแบตเตอรี่มีความแตกต่างกันไปตามชนิดของแบตเตอรี่ไม่ว่าจะเป็นการจำแนกตามขนาดทางกายภาพ กำลังไฟ การใช้งาน หรือกระบวนการผลิต เป็นต้น 
    รวมถึงอรรถประโยชน์ของแบตเตอรี่ที่มีมากขึ้นกว่าในอดีต เช่น แบตเตอรี่ผลิตใหม่ แบตเตอรี่ที่ผ่านกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือแบตเตอรี่สำหรับใช้กักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นต้น จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแบตเตอรี่เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญในทุกด้านทั้งในปัจจุบันและอนาคต 
    นอกจากการใช้ประโยชน์จากแบตเตอรี่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในด้านการจัดเก็บภาษีอากร แบตเตอรี่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีอากรเช่นเดียวกัน กล่าวคือ แบตเตอรี่เป็นสินค้าที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต และหากมีการนำแบตเตอรี่เข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรต้องเสียภาษีศุลกากรอีกด้วย ซึ่งในทางหลักการจัดเก็บภาษีอากรแล้ว ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อหรือผู้ใช้แบตเตอรี่จะเป็นผู้รับภาระภาษีดังกล่าวข้างต้นตามอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ หากพิจารณาความหมายของแบตเตอรี่แล้ว บัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 4 กำหนดความหมายของแบตเตอรี่ หมายความว่า เซลล์หรือหมู่เซลล์ไฟฟ้า ซึ่งต่อกันอยู่อย่างอนุกรมหรืออย่างขนานหรือทั้ง 2 อย่าง และสามารถเก็บพลังงานและให้พลังงานไฟฟ้าได้ 
    ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของแบตเตอรี่ หมายถึง หมู่ของเซลล์ไฟฟ้าซึ่งต่อกันอยู่อย่างอนุกรม หรืออย่างขนาน หรือทั้ง 2 อย่าง ดังนั้นคำนิยามตามกฎหมายภาษีอากรและคำนิยามทั่วไปทั้งสองกรณีข้างต้นจึงเป็นความหมายของแบตเตอรี่ตามที่ทุกคนเข้าใจกันโดยทั่วไป
    ประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าแบตเตอรี่ในอัตราคงที่ร้อยละ 7 และจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าแบตเตอรี่ หากเป็นแบตเตอรี่ทั่วไปกำหนดอัตราร้อยละ 8 หากเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการผลิตสิ่งของอื่นเพื่อการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรกำหนดอัตราภาษีร้อยละ 0 ทั้งนี้ตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 
    ส่วนอัตราอากรนำเข้าและส่งออกแบตเตอรี่ตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มีการกำหนดอัตราอากรที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทและรายการของแบตเตอรี่
    หากพิจารณาการจัดเก็บภาษีจากแบตเตอรี่ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรปแล้วจะพบว่า มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการทิ้งเทแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้ว (Waste disposal fees) ของผู้ใช้ (User) อีกด้วยเพื่อเป้าหมายด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพราะแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้วถือเป็นขยะของเสียอันตราย 
    หากจะกล่าวสรุปเพื่อให้เข้าใจได้โดยง่ายแล้ว ผู้บริโภคหรือผู้ใช้แบตเตอรี่จะต้องเสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่เป็นอย่างน้อย 2 ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกสำหรับการซื้อขายแบตเตอรี่นำมาใช้ประโยชน์ (Sales tax) และครั้งที่สองสำหรับการทิ้งเทแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้ว 
    สำหรับการซื้อขายแบตเตอรี่นำมาใช้ประโยชน์นั้น ทุกประเทศต่างมีการจัดเก็บภาษีในขั้นตอนนี้ทั้งสิ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสินค้าและบริการ ภาษีสรรพสามิตหรือภาษีศุลกากร เป็นต้น แต่อาจมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการเสียภาษีที่แตกต่างกันไป 
    ส่วนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการทิ้งเทแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้วนั้น สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมในขั้นตอนการทิ้งเทแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งมักกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามสภาพหรือตามปริมาณของแบตเตอรี่ เช่น จำนวนชิ้น น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หรือประเภทของแบตเตอรี่ที่แตกต่างกัน เป็นต้น
    การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการทิ้งเทแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้วจึงเป็นมาตรการที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้แบตเตอรี่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้แบตเตอรี่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้วจัดเป็นสิ่งของที่สามารถสร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมได้ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศหรือชีวิตมนุษย์
    ดังนั้น การนำแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการจัดการของเสีย (Waste management) จึงเป็นแนวทางที่นานาประเทศดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป้าหมายด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
    แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะมีระบบการจัดการขยะและของเสียอันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งแบตเตอรี่ใช้แล้วก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่า ต้นทุนการจัดการของเสียเหล่านี้ยังไม่สะท้อนไปสู่ความรับผิดชอบโดยตรงของผู้บริโภคหรือผู้ใช้แบตเตอรี่โดยทั่วไป แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้แบตเตอรี่โดยทั่วไปเข้ามารับภาระต้นทุนการจัดการของเสียเหล่านี้ผ่านการเสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมแล้ว เมื่อนั้นผู้บริโภคหรือผู้ใช้แบตเตอรี่โดยทั่วไปจะตระหนักถึงความสำคัญของต้นทุนระบบการจัดการของเสีย 
    นอกจากนี้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้แบตเตอรี่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานของตนเองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างการปรับเปลี่ยนทัศนคติการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เกิดความประหยัดและความคุ้มค่ามากที่สุด 
    ซึ่งในที่สุดแล้วความเห็นต่อประเด็นทั้งสองข้างต้นถือเป็นหมุดหมายปลายทางที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ที่นานาประเทศนำมาปรับใช้กับการบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน.
คอลัมน์ : กฎหมาย 4.0 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์