กรมชลประทานปัดเก็บค่าน้ำภาคการเกษตร

กรมชลประทานปัดเก็บค่าน้ำภาคการเกษตร

กรมชลประทาน แจง กรอบร่างพรบ.การชลประทานหลวง ยังไม่เรียกเก็บเก็บค่าน้ำจากภาคการเกษตร ขณะ ขายภาคอุตสาหกรรม ประปาลูกบาศก์เมตรละ 50สตางค์ต่อ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา กรมชลประทานการเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. ....   ซึ่งมี เป็นประเด็นเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าชลประทาน ตามหลักการในพระราชบัญญัติ(พรบ.)การชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 มาตรา 8 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจในการออกกฎกระทรวงเพื่อเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม

กรมชลประทานปัดเก็บค่าน้ำภาคการเกษตร

 แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเรียกเก็บค่าชลประทานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งตามพรบ. ดังกล่าว ให้เรียกเก็บได้ไม่เกินไร่ละ 5 บาทต่อปีเนื่องจากไม่มีกฎกระทรวงเรียกเก็บแต่อย่างใด มีแต่เพียงกฎกระทรวงที่ให้อำนาจรองรับในการจัดเก็บค่าชลประทานเฉพาะนอกภาคเกษตรกรรม ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม การประปา และกิจการอื่น เป็นต้น ในอัตราลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์

เนื่องจากทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวงเป็นทรัพยากรน้ำสาธารณะตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดแบ่งทรัพยากรน้ำสาธารณะออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่1 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือนการรักษาระบบนิเวศน์ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย

 ประเภทที่ 2 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และประเภทที่สามการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ ในการใช้น้ำประเภทที่หนึ่งไม่ต้องขออนุญาตใช้น้ำและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ ส่วนการใช้น้ำประเภทที่ 2

และประเภทที่ 3 จะต้องขออนุญาตใช้น้ำและชำระค่าใช้น้ำตามหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม ซึ่งนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำจะได้ออกกฎกระทรวงกำหนดต่อไป

 

ดังนั้น กรมชลประทานจึงต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับอัตราการจัดเก็บค่าใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ       พ.ศ. 2561

ส่วนในประเด็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เป็นการกำหนดหลักการขึ้นมาเพื่อรองรับตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้กำหนดให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาความเป็นได้ในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

 

อย่างไรก็ตาม ตามหลักการในร่างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. .... เป็นเพียงกรอบตัวอย่างเบื้องต้นเพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งทางมูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมายในฐานะผู้รับจ้างในการแก้ไขกฎหมาย ต้องสรุปภาพรวมของการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ภาค เสนอกรมชลประทานเพื่อพิจารณา

ให้เป็นไปตามสัญญาจ้างแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง ก่อนที่จะส่งมอบรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการยกร่างแก้ไขกฎหมายต่อไป โดยจะมีการ พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรและในทุกภาคส่วนต่อไป