พาณิชย์ทำระบบเฝ้าระวังนำเข้าอาร์เซ็ป

พาณิชย์ทำระบบเฝ้าระวังนำเข้าอาร์เซ็ป

พาณิชย์วางระบบเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้านำเข้า ภายใต้ RCEP ยันพร้อมรับมือหากมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นผิดปกติ และกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ เผยมีมาตรการที่จะใช้ได้ทั้งการใช้เซฟการ์ด เอดี และยังมีกองทุน FTA ที่คอยช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้วางระบบเฝ้าระวัง และติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้านำเข้า เพื่อเตรียมการรับมือ หากมีการเคลื่อนไหวของการนำเข้าที่ผิดปกติและอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมภายในประเทศแล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการของไทยที่กังวลว่าจะมีการไหลทะลักเข้าประเทศของสินค้านำเข้า จากการเปิดตลาดภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา กับอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และนอกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ และจะมีผลใช้บังคับกับเกาหลีใต้ ในวันที่ 1 ก.พ.2565 รวมทั้งกับสมาชิกอีก 4 ประเทศที่เหลือ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา และมาเลเซีย ในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ ภายใต้ RCEP ไทยจะลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP ในทันที 6,340 รายการ และขยายเป็น 8,724 รายการ ภายใน 20 ปี แต่สินค้าส่วนใหญ่ ไม่ใช่การเปิดตลาดใหม่ เป็นรายการสินค้าที่ไทยได้เปิดตลาดให้กับสมาชิก RCEP อยู่แล้ว ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับคู่ค้าในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งรายการสินค้าส่วนใหญ่ เป็นการยกเลิกสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบหรือที่ต้องการใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก เช่น สินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าประมง สินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องเพชรพลอยเทียม หินที่ใช้ในการก่อสร้าง ท่อนเหล็ก ท่อนทองแดง เป็นต้น 

พาณิชย์ทำระบบเฝ้าระวังนำเข้าอาร์เซ็ป

“เพื่อไม่ประมาท กรมฯ ได้วางระบบเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้านำเข้าไว้แล้ว หากพบมีความเคลื่อนไหวของการนำเข้าผิดปกติ ก็มีมาตรการที่จะนำมาใช้ได้ ทั้งการใช้มาตรการปกป้องทางการค้า (เซฟการ์ด) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ที่กรมการค้าต่างประเทศดูแลอยู่ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศได้ทันท่วงที และยังมีกองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA ซึ่งรวมถึง RCEP ที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการด้วย”นางอรมนกล่าว

นางอรมนกล่าวว่า ในทางกลับกัน ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศสมาชิก RCEP ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยในทันที จะมีสินค้ารวม 29,891 รายการ และขยายเพิ่มเป็น 39,366 รายการ ภายใน 20 ปี

โดยสินค้าที่จะได้ประโยชน์ในทันที เช่น สินค้ากลุ่มผลไม้สด (มังคุด ทุเรียน) ผักผลไม้แปรรูป น้ำสัปปะรด   สับปะรด  สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์จากยาง และพลาสติกที่ส่งออกไปเกาหลีใต้ สินค้าประมง ผักผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ กาแฟคั่ว ที่ส่งออกไปญี่ปุ่น และสินค้าเกษตร เช่น พริกไทย สัปปะรดปรุงแต่ง และน้ำมะพร้าว ที่ส่งออกไปจีน จึงขอให้ผู้ประกอบการและ SMEs ไทย เร่งศึกษาทำความเข้าใจความตกลง โดยเฉพาะในรายการสินค้าที่สนใจ เพื่อเร่งใช้โอกาสขยายการส่งออกไปตลาด RCEP

นอกจากนี้ RCEP ยังได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขถิ่นกำเนิดสินค้าให้ง่ายขึ้น โดยไทยสามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ นำมาผลิตและสามารถส่งออกไปตลาด RCEP รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในแต่ละสินค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการ โดยสินค้าที่ได้ประโยชน์ เช่น น้ำผลไม้ ที่สามารถใช้วัตถุดิบจาก RCEP ได้ หรือแป้งมันสำปะหลังของไทยจะถูกนำไปผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว ยางพาราผลิตด้ายยางวัลแคไนซ์ และผลไม้เป็นวัตถุดิบนำไปแปรรูป ของสมาชิก RCEP อื่น ๆ

ส่วนอาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง รองเท้า และเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก รวมถึงปลาทูน่ากระป๋อง ที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากแหล่งนอกภูมิภาค ก็จะสามารถผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดและได้รับสิทธิ์การลดภาษีนำเข้าได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับความตกลง FTA ก่อนหน้า ทั้งไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่จำกัดวัตถุดิบให้มาจากประเทศภาคีด้วยกันเท่านั้น