‘UOB’ ปิดดีล ซื้อพอร์ตลูกค้ารายย่อย ‘ซิตี้’4ประเทศ 1.2 แสนล้าน ดันกำไรพุ่ง

‘UOB’ ปิดดีล ซื้อพอร์ตลูกค้ารายย่อย ‘ซิตี้’4ประเทศ 1.2 แสนล้าน ดันกำไรพุ่ง

ยูโอบี ปิดดีลซื้อกิจการรายย่อย 4ประเทศ 1.2 แสนล้านบาท คาดหนุนกำไร อาร์โออีกระฉูด คาดดีลซื้อกิจการในไทย ปิดดีลภายในครึ่งปีแรกนี้ หนุนพอร์ตรายย่อยขึ้นแท่นอันดับ6 บัตรเครดิตแซงหน้าเป็นอันดับ 3 จากอันดับ 8

       นาย วี อี เชียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี (UOB) เปิดเผย ว่า ล่าสุดธนาคารได้ประกาศเข้าซื้อกิจการลูกค้ารายย่อยใน 4 ประเทศ  ทั้ง ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยการพิจารณาข้อเสนอการเสนอซื้อกิจการนี้ จะคำนวณจากค่าพรีเมียมรวม 915 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 2.25 หมื่นล้านบาท บวกกับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 9.86 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดมูลค่าในซื้อกิจการครั้งนี้ 5,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 1.2 แสนล้านบาท 

      โดยปัจจุบันยูโอบีมีฐานลูกค้า 2.4 ล้านราย ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 และมีรายได้ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 64 เมื่อเข้าทำการซื้อกิจการรายย่อยของซิตี้กรุ๊ปแล้วจะทำให้ฐานลูกค้ายูโอบีเพิ่มเป็น 5.2 ล้านราย

      อย่างไรก็ตาม โดยหลังจากนี้ ในครึ่งปีแรก จะเข้าสู่การททยอยรับโอนธุรกิจรายย่อย จากซิติกรุ๊ป จาก 2ประเทศ คือไทย มาอยู่ภายใต้ยูโอบี ซี่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2ปีนี้ ขณะที่ครึ่งปีหลัง จะเป็นการทยอยโอนธุรกิจจากเวียดนาม และอินโด ซี่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งสองประเทศในไตรมาส 1ปี 2566 
      ทั้งนี้ สำหรับการโอนธุรกิจรายย่อยเข้ามาอยู่ภายใต้ยูโอบี เบื้องต้น พอร์ตลูกค้ายังคงใช้ชื่อ “ซิตี้”ตามเดิม ก่อนจะเปลี่ยนให้ลูกค้าทั้งหมดมาใช้ชื่อภายใต้ ยูโอบีทั้งหมดในปลายปี 2565 

      โดยภายหลังจากการซื้อกิจการ คาดว่า จะส่งผลให้ให้ ยูโอบีขึ้นมามีส่วนแบ่งการตลาดหรือมาร์เก็ตแชร์ในธุรกิจรายย่อยของไทย อยู่ที่อันดับ 6  จากปัจจุบันที่ที่อันดับ 7 ขณะที่ ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นอันดับที่ 3 ขึ้นมาจากอันดับ 8 และมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น เป็น 2.4 ล้านราย จากเดิม 1.3 ล้านราย 
      ทั้งนี้ เชื่อว่า พอร์ตรายย่อยของไทย ถือว่าเป็นพอร์ตที่มีคุณภาพ และสามารถจัดการกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในช่วงโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเชื่อว่า พอร์ตที่ซื้อเข้ามาจะมีคุณภาพและหนุนการเติบโตให้กับยูโอบีในอนาคต 
     อย่างไรก็ตาม การขยายกิจการ ผ่านการซื้อกิจการ รายย่อยจาก 4 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยเชื่อว่ามีส่วนหนุนให้ ยูโอบีเติบโตได้เร็วขึ้น และก้าวกระโดดมากขึ้น โดยเฉพาะด้านกำไร และอัตราส่วนผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่คาดว่าจะรับรู้ทันที จากการซื้อกิจการ ทั้งนี้ ยูโอบีคาดว่า ในส่วน ROE จะเพิ่มขึ้นเป็น 13% ในปี 2566 จากปีนี้ที่อยู่เฉลี่ยราว 10% ขณะที่คาดรายได้จากการขยายกิจการครั้งนี้น่าจะเพิ่มขึ้นราว 1.4 เท่า และมีรายได้ชัดเจนขึ้นในช่วงปี 2567-2569 

     โดยมองว่า การเข้าซื้อกิจการรายย่อยใน 4 ประเทศ จะช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับ UOB ค่อนข้างมาก และให้ธนาคารมีความพร้อมในการขยายธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 4 ประเทศ
     “การซื้อกิจการนี้ ถือเป็นโอกาส และเป็นดีลที่อยู่ในจังหวะที่เหมาะสม สอดคล้องกับแผน 5ปีของธนาคาร ที่ต้องการวางพื้นฐานไปสู่ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งการซื้อพอร์ตรายย่อยทั้งหมด จะเข้ามาเสริมศักยภาพมาก โดยเฉพาะเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัล” 
     นอกจากนี้มองว่า การซื้อกิจการครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่สำคัญ และทำให้ธนาคาร ขึ้นเป็นผู้นำตลาดไปอีก 5 ปี ที่จะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพ ทำให้ธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีความสามารถในการตอบโจทย์ลูกค้า ตอบโจทย์ด้านผลิตภัณฑ์ต่างๆได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ธนาคารมีโอกาสสร้างการเติบโต ทั้งด้านกำไร และ ROEที่เพิ่มขึ้น 
     ทั้งนี้การซื้อกิจการครั้งนี้ จะมีในส่วนของพนักกงานซิติ้แบงก์ และผู้บริหารเข้ามาอยู่ในพอร์ตยูโอบี ราว 5 พันคน ซึ่งยูโอบีมองว่า ถือเป็นบุคลากรที่สำคัญ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับด่านหน้าที่มีคุณภาพ  ซึ่งธนาคารยืนยันว่าไม่มีแผนปลดพนักงานแต่อย่างใด