กรุงไทย จับตา"โอมิครอน" ระบาด คาดกระทบแค่1-2เดือน คงจีดีพีปีนี้3.8%

กรุงไทย จับตา"โอมิครอน" ระบาด คาดกระทบแค่1-2เดือน คงจีดีพีปีนี้3.8%

"กรุงไทย" จับตาโอมิครอนคาดกระทบ 1-2 เดือน คงเป้าจีดีพีไทย 3.8% เหตุส่งออกหนุน มองเงินเฟ้อทั้งปีที่1.5% ราคาหมูแพงไร้กระทบเชื่อครึ่งหลังแนวโน้มลดลง คาดธุรกิจเกษตร-อาหาร ต้องลงทุน 7 แสนล้าน เร่งปรับตัวรับกระแส Net Zero Emission

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ยังคงเป้าหมายการขยายตัวเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ปี 2565 ที่ระดับเดิม 3.8% พร้อมทั้งประเมินผลกระทบการระบาดของโอมิครอน รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง 

เนื่องจาก ปัจจุบันการแพร่ระบาดโอมิครอนระลอกนี้ ส่งผลต่อการใช้จ่ายในประเทศลดลงบ้าง แต่เท่าที่มองจากสถานการณ์ในต่างประเทศที่มีการระบาดโอมิครอนไปก่อนหน้าไทยแล้ว อย่าง สหรัฐและอังกฤษ พบว่า แม้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็ว แต่มีความรุนแรงไม่มาก กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงไม่มากนัก และยังไม่มีการล็อกดาวน์เข้มข้นอย่างปีก่อน ขณะที่ส่งออกไทยในช่วงปลายปีก่อนต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตดียังเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจได้ทำให้ยังคงประมาณการไว้ในระดับเดิม 

ทั้งนี้ ประมาณการจีดีพีของกรุงไทยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า จะไม่เกิดการระบาดที่รุนแรงจนต้องประกาศล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นเหมือนปีก่อน และผลกระทบโอมิครอนที่เกิดขึ้นจะอยู่ในช่วง 1-2 เดือน หรืออย่างช้าไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาการระบาดโอมิครอนนั้น กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวบ้าง แต่ถือว่ายังอยู่ในกรณีฐาน (Base Line) ที่คาดการณ์ไว้  

ทางด้านเงินเฟ้อ คาดช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 2-3% จากราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและค่าไฟที่ปรับสูงขึ้นและช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มลดลง มองทั้งปีนี้เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน โดยที่ราคาอาหารสดมีผลต่อเงินเฟ้อช่วงสั้นๆ เท่านั้น  

สถานการณ์ราคาหมูแพงคาดราคาสูงสุดในเดือนเม.ย. แต่ไม่ไปแตะ 300 บาทต่อกิโลกรัม และช่วงครึ่งหลังราคาปรับลดลงได้ จากที่รัฐบาลเข้ามาตึงราคาหมูหน้าฟาร์ม110 บาทต่อกิโลกรัม รอบการเลี้ยงหมูใช้เวลา 5-6 เดือน จะเริ่มมีอุปทานเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลัง 

นอกจากนี้  ภาคธุรกิจเกษตรและอาหารไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อรับแรงกดดันจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญ วางกฎระเบียบทางการค้าใหม่ ตามเทรนด์กระแสลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความยั่งยืน (Net Zero Emission) คาดผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 7 แสนล้านบาท ในช่วงปี 63-93 เพิ่มการลงทุนในด้านการผลิตอาหารจากพืชหรือโปรตีนจากพิช ,ระบบการจัดการปศุสัตว์ และเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านการเกษตร หวังช่วยสรา้งมูลค่าเพิ่ม ลดความเสียหายภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนได้ถึง 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี และคาดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 2.3 หมื่นล้านบาทต่อปี