2 ปี อีเวนท์ พังพินาศ! อินเด็กซ์ฯ แก้เกมเกาะทุกเทรนด์ ฟื้นธุรกิจ

2 ปี อีเวนท์ พังพินาศ! อินเด็กซ์ฯ แก้เกมเกาะทุกเทรนด์ ฟื้นธุรกิจ

ธุรกิจอีเวนท์ดิ่งเหว ผู้ประกอบการไร้งาน ตลาดสูญเงิน 70-80% อินเด็กซ์ฯ ชี้ทางรอดปี 65 ปรับรุกกิจกรรมเกาะเทรนด์ FOMO-FOTO ตอบทุกไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ปั้นแลนด์มาร์กถ่ายภาพ ปลุกกระแสโพสต์บนโลกออนไลน์ เพิ่มการเข้าถึง(Reach)กลุ่มเป้าหมาย ฟื้นเงินสะพัด 4,000-5,000 ล้านบาท

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการตลาดเชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน และบริษัทอีเวนท์อันดับ 7 ของโลก เปิดเผยว่า หากนิยามภาพรวมธุรกิจอีเวนท์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องใช้คำว่าพังพินาศ เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบหนัก หลังเผชิญวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด ภาครัฐงัดสารพัดมาตรการมาสกัด หนึ่งในนั้นคือการห้าม ออกข้อกำหนดการรวมตัวกันของผู้คน ทำให้การจัดกิจกรรมต่างๆแทบไม่เกิดขึ้นเลย ตั้งแต่งานวัด งานบวช งานประเพณี เทศกาลเล็กใหญ่ ไปจนถึงงานบริการด้านการตลาด เปิดตัวสินค้า จัดแคมเปญการตลาดของสินค้าและบริการต่างๆต้องหั่นงบ เบรกกิจกรรมจำนวนมาก คอนเสิร์ตต่างๆหดหายจำนวนมาก  

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปี 2563 มูลค่าตลาดหายไปค่อนข้างมาก แต่ทั้งปีผู้ประกอบการยังจัดอีเวนท์ได้บ้างในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ทว่า ปี 2564 ความเสียหายของธุรกิจอีเวนท์รุนแรงกว่าเดิมมาก เพราะตลอดทั้งไม่สามารถจัดงานได้เลย โดยมูลค่าตลาดหายไป 70-80% ลดเหลือ 2,000-3,000 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมอยู่ที่ 14,000-15,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท อินเด็กซ์ฯ รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 434.86 ล้านบาท หดตัว 70% และปี 2564 รายได้ 577.44 ล้านบาท เติบโต 33%

สำหรับปัจจัยที่ทำให้รายได้บริษัทยังเติบโต เนื่องจากมีการปรับตัวอย่างมาก เมื่อหมวดธุรกิจหลักคืองานบริการด้านการตลาดหรือ Marketing Service ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 73% ติดลบถึง 26% บริษัทต้องพลิกกระบวนท่า มุ่งพัฒนาและสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆที่ไม่ใช่อีเวนท์(Non-event) โดยไม่ต้องรอความต้องการของลูกค้าแบรนด์ต่างๆ เช่น สร้างธีมพาร์ค มิวเซียม แลนด์มาร์กใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดนักเดินทาง เป็นต้น รวมถึงปั้นโปรเจคกิจกรรมใหม่ๆเป็นของตัวเอง เช่น ไลฟ์สไตล์อีเวนท์ สตาร์ทอัพ ฯ จับกลุ่มเป้าหมาย

2 ปี อีเวนท์ พังพินาศ! อินเด็กซ์ฯ แก้เกมเกาะทุกเทรนด์ ฟื้นธุรกิจ ทั้งนี้ ภายใต้ข้อจำกัดของโรคระบาด ปี 2564 บริษัทจัดงานอีเวนท์ได้ 6 งาน เช่น เทศกาลประดับไฟฤดูหนาว(Village of illumination @Singha Park Chiang Rai) ศิลปะดิจิทัลทีใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8(House of Illumination) เมืองโบราณไลท์เฟส เทศกาลประดับไฟฤดูร้อนยามค่ำคืน และเทศกาลประดับไฟ การแสดงแสง สี เสียงที่เขาใหญ่(Forest of Illumination at Kirimaya)ฯ สามารถดึงคนเข้างานได้ถึง 100,000 คน  เป็นส่วนสำคัญทำให้ 2 หมวดธุรกิจทั้งการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่เติบโต 158% และโปรเจคอีเวนท์ของบริษัทเติบโต 54%

“กุมภาพันธ์ 2565 จะครบ 2 ปีเต็มที่โรคระบาด ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอีเวนท์พินาศมาก งานการตลาดหรือมาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส แย่มาก และเป็นตัวแปรที่ฉุดอุตสาหกรรม เพราะทุกครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส แบรนด์สินค้าและบริการจะเบรกจัดอีเวนท์ทันที และไม่มีใครต้องการเป็นต้นตอของคลัสเตอร์ เพราะจะกระทบต่อภาพลักษณ์แบรนด์ ขณะที่การปรับตัวของอินเด็กซ์ฯ เราพยายามพัฒนา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ทำกิจกรรมที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน สร้างแพลตฟอร์มขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมาย จากเดิมเราพึ่งพาตลาด ความต้องการของลูกค้าแล้วเข้ามาใช้บริการจัดอีเวนท์”

ส่วนการขับเคลื่อนธุรกิจปี 2565 อินเด็กซ์ฯ จะจัดอีเวนท์ สร้างสรรค์โปรเจคต่างๆรวม 20 งาน ภายใต้งบลงทุนหลัก 100 ล้านบาท การจัดงานจะกระจายทุกไตรมาส จากปกติกระจุกตัวในไตรมาส 1 และ 4 ซึ่งทั้งปีคาดว่าจะดึงคนเข้าร่วมงานได้ 200,000 คน

2 ปี อีเวนท์ พังพินาศ! อินเด็กซ์ฯ แก้เกมเกาะทุกเทรนด์ ฟื้นธุรกิจ ทั้งนี้ รูปแบบของกิจกรรมจะมุ่งเกาะเทรนด์ใหม่ ตอบทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ไม่ยอมตกกระแสหรือ FOMO : Fear Of Missing Out ครอบคลุมการท่องเที่ยว กิจกรรมกีฬา อาหาร เป็นต้น โดยไฮไลท์ของอีเวนท์ปีนี้ เช่น เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ ณ เมืองโบราณ สมุทรปราการ งานแสง สี เสียง และมัลติมีเดีย สุดอลังการอย่าง KINGDOM OF LIGHTS งานแข่งวิ่ง V Runner ชวนคนมาปลดปล่อยพลังเพื่อพิสูจน์ความสามารถในการวิ่ง 10 กิโลเมตร ภายในระยะเวลาจำกัดแค่ 1 ชั่วโมง งานวิน ทอย เฟส(Wind Toy Fest)นำเสนอความน่ารักของสนูปี้และผองเพื่อนไปพบปะแฟนๆใน 5 จังหวัด การรวม 2 เทศกาลใหญ่ทั้งเทศกาลไฟและบอลลูนไว้ด้วยกันหรือ DOUBLE FESTIVAL AT SINGHA PARK รวมถึงการจัดงานเทรดแฟร์ในไทยและต่างประเทศรอบ 2 ปี เช่น Bangkok Beauty Show 2022 และ Cambodia Architect & Décor และ Cambodia Health and Beauty Expo เป็นต้น

นอกจากนี้ การจัดงานจะต้องเป็นพื้นที่ให้ทุกคนสามารถไปถ่ายภาพหรือ FOTO ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทุกคนทั้งโลกทำเมื่อไปงานอีเวนท์ต่างๆ จากเดิมไปงานจะเน้นสัมผัสประสบการณ์ เก็บเกี่ยวบรรยากาศของงาน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยสร้างการรับรู้อีเวนท์ และเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น เพจของอินเด็กซ์ฯ การนำเสนอคอนเทนท์อีเวนท์ 6 งาน เข้าถึงกลุ่มคน(Reach)กว่า 3 ล้านราย

“การจัดอีเวนท์ของอินเด็กซ์ฯ จะเกาะกระแสเทรนด์ FOMO-FOTO ซึ่งจากอินไซต์พฤติกรรมผู้บริโภคเวลาไปไหนต้องถ่ายรูปและต้องอยู่ในกระแสตลอดเวลา ไม่เฉพาะคนไทย แต่เป็นทั้งโลก เพราะทุกคนอยากเป็นคนดังบนโลกออนไลน์ อย่างงานดูไบ เวิลด์ เอ็กซ์โป เมื่อคนเข้าไปไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน ต้องยกกล้องถ่ายภาพ ไลฟ์สดตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงต้องสร้างแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ประสบการณ์และการสร้างคอนเทนท์หรือ Experience and Content Platform เพื่อให้เกิดการบอกต่อและสร้างกระแสบนโซียลมีเดียให้กับอีเวนท์ของเราตลอดทั้งปี”

2 ปี อีเวนท์ พังพินาศ! อินเด็กซ์ฯ แก้เกมเกาะทุกเทรนด์ ฟื้นธุรกิจ

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน

จากแผนดังกล่าว อินเด็กซ์ฯ คาดการณ์รายได้ปี 2565 จะอยู่ที่ 924.89 ล้านบาท ฟื้นตัวโต 60% ส่วนภาพรวมตลาดอีเวนท์คาดมีมูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท และถือเป็นปีแห่งการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญที่กระทบการจัดอีเวนท์ คือมาตรการของรัฐในการป้องกันโควิด ซึ่งปัจจุบันยังยึดถือแนวทาง การปฏิบัติเดิมๆ จำกัดจำนวนคนเข้าต่องาน 500 คน และทำทุกอย่างเหมือนตอนยังไม่ฉีดวัคซีนให้ประชาชน จึงต้องการให้ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ งานอีเวนท์นานาชาติกลับมาจัดมากขึ้น

“คนไทยได้รับวัคซีนเกิน 70% และทยอยรับเข็ม 3-4 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รัฐควรนำปัจจัยนี้ไปพิจารณาออกมาตรการต่างๆด้วย รวมถึงสื่อไม่ควรสร้างความตื่นเต้น โหมกระแสตัวเลขผู้ติดเชื้อ เหมือนตอนยังไม่ฉีดวัคซีน แนวทางเหล่านี้ควรปรับเปลี่ยนได้แล้ว”