ธุรกิจผวาพิษ "โอมิครอน” ทำจังหวะเศรษฐกิจฟื้นสะดุด

ธุรกิจผวาพิษ "โอมิครอน”  ทำจังหวะเศรษฐกิจฟื้นสะดุด

การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนท่ามกลางความหวังว่าปี 2565 เศรษฐกิจไทยและโลกจะฟื้นตัว แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสายพันธุ์ใหม่นี้จะรุนแรงและล้างพลาญมากแค่ไหน แต่วงจรเศรฐกิจการค้าก็ยังต้องเดินไป สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 86.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.4 ในเดือนพ.ย.2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศภายหลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มเติม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้นทั้งภาคการผลิต การค้า และการเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อผู้ส่งออก

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนด้วยมีการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการยังเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ ขณะที่ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ยังไม่คลี่คลาย

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 95.2 จากระดับ 97.3 ในเดือนพ.ย. 2564 เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาสแรกค่อนข้างมาก รวมทั้งเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังฟื้นก็จะไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วเท่าที่คิด โดยวันที่ 12 ม.ค. 2565 จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หารือภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2565 และการปรับตัวเลขการประมาณการจีดีพี

นอกจากนี้ ส.อ.ท. เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีชี้วัดวงจรเงินสดของธุรกิจประเทศไทย (Cash Conversion Cycle: CCC) พบว่าปี 2563 ผู้ประกอบการไทย มีค่าเฉลี่ยที่ 26.1 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 14.8 วัน แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการทั่วประเทศ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดการขาดสภาพคล่องของกิจการ

ธุรกิจผวาพิษ \"โอมิครอน”  ทำจังหวะเศรษฐกิจฟื้นสะดุด ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ผู้ส่งออกของไทยมีการปรับตัวและฝ่าฟันปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบสายพันธุ์เดลต้ามาแล้ว ดังนั้นการส่งออกในปี 2565 คาดว่าจะ เติบโต 5-8 % ซึ่งในเดือนม.ค.ประเมินว่า การส่งออกไทยจะขยายตัวที่ 6-7 % มูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์ และในไตรมาสแรกของปีการส่งออกไทยจะขยายตัว 5 % 

แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโอมิครอนไปทั่วโลกก็ตาม เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน เศรษฐกิจยังฟื้นตัวและยังมีความต้องการสินค้าต่อเนื่อง ประกอบกับปีนี้เทศกาลตรุษจีนมาเร็วทำให้มีความต้องการสินค้าจำนวนมากซึ่งเป็นตัวเร่งการส่งออกของไทย

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 “โอมิครอน” ทั่วโลกรวมถึงไทย 2. แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัว จากข้อมูลพบว่า ภาคการผลิตขาดแรงงานประมาณ 4 แสนคน 

3. ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวาง ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปลายปี 2565  4.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ปี 2565 ยังเป็นอีกปีที่ไทยและทั่วโลกไม่พ้นจากภัยโควิดแต่ระยะเวลาที่ยาวนานจากโรคระบาดนี้มีเพียงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเองเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวต่อไปได้