ผู้ส่งออกจับตาปัญหาแรงงาน กระทบส่งออกปี 65

ผู้ส่งออกจับตาปัญหาแรงงาน กระทบส่งออกปี 65

สรท.คาดการณ์ส่งออกปี 65 ขยายตัว5-8 % จับตาโอมิครอน ขาดแรงงาน ค่าระวางเรือสูง กระทบส่งออก ขอรัฐช่วยพยุงค่าเงินบาทให้เหมาะสมพร้อมช่วยค่าใช้จ่ายนำแรงงานต่างด้าวเข้าไทย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนพ.ย.มีมูลค่า 23,647.9 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 24.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 783,424.6 ล้านบาท ขยายตัว 33.5% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนพ.ย.ขยายตัว 19.4% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,629.2 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 20.5% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพ.ย. 2564

ภาพรวมการส่งออก 11 เดือนคือตั้งแต่เดือนม.ค. – พ.ย.ปี 2564 พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 246,243.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,731,390.8 ล้านบาท ขยายตัว 17.5% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วง 11 เดือนนี้ขยายตัว 19.4%  ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 242,315.9 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 29.4%

สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตถึง 15-16% และคาดการณ์ปี 2565 เติบโต 5-8 %  โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 “โอมิครอน” ทั่วโลกรวมถึงไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีการพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย แม้รายงานผลกระทบจากการติดเชื้อยังคงไม่รุนแรงนักแต่รัฐบาลหลายประเทศต้องพิจารณาทบทวนเรื่องการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ว่าจำเป็นมากน้อยเพียงใดและหากนำกลับมาใช้อีกจะต้องเข้มงวดในระดับไหน ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

2. แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัว 3. ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทางทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้ารวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวาง ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปลายปี 2565

4.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวนอาทิเซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ข้อเสนอแนะของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย 1. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับเหมาะสม 2. ขอให้กระทรวงพลังงาน ควบคุมต้นทุนพลังงานให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19

 3. ขอให้กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลือเรื่องปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต โดยกำหนดพื้นที่บริหารจัดการส่วนกลาง หรือศูนย์ One Stop Service (OSS) สำหรับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว อาทิ จุดคัดกรองด้านสาธารณสุขและอุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการตรวจสอบ รวมถึงให้สามารถดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในจุดเดียว อำนวยความสะดวกพื้นที่ในการกักตัว โดยอาจนำสถานที่ราชการที่เหมาะสม มาปรับใช้ในการกักตัวให้กับแรงงานต่างด้าว ระหว่างรอผลตรวจและการดำเนินเอกสาร

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU สูงมาก จากช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อคน เป็น 12,000 – 22,000 บาทต่อคน ในปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคเอกชนจำต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วน อาทิ ค่าบริการตรวจโควิด (ครั้งละ 1,300 เหลือ 800 บาท) ค่าสถานที่กักตัว (จากวันละ 500 เหลือวันละ 300 บาท) ค่าประกันโควิดและชุดตรวจ ATK เป็นต้น และ เร่งเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู