3 องค์กรร่วมเปิดแผนสร้างความยั่งยืนในอีอีซี

3 องค์กรร่วมเปิดแผนสร้างความยั่งยืนในอีอีซี

จิสด้า ผนึก ทีดีอาร์ไอ และมูลนิธิเสนาะ อูนากูล เปิดแผนพัฒนาพื้นที่อีอีซี หวังรัฐนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สร้างความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคม ชี้ขยะเป็นปัญหาสำคัญ คาดปี2583 ขยะเพิ่มอีก 63% แนะรัฐเร่งสร้างความตระหนักรู้ แรงจูงใจ และการรีไซเคิล 

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมูลนิธิเสนาะ อูนากูล จัดสัมมนาออนไลน์ “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก” พร้อมกับเปิดตัว “รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก ปี พ.ศ. 2564” โดย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ จิสด้า กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกันพัฒนาภาคตะวันออกของประเทศไทย ที่เน้นความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสังคม และประชาชน เป็นสำคัญ โดยจิสด้าได้นำเอาข้อมูลความรู้เชิงพื้นที่ พร้อมสถิติมาประกอบร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนเผยแพร่แนวคิด ตอบสนองสนับสนุนนโยบายรัฐบาล

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล กล่าวว่า ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่มีความพิเศษโดยเฉพาะทะเลที่มีความกว้างสวยงาม และเชื่อมต่อทั่วทุกภูมิภาค อีกทั้ง มีการผลิตก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันออกอ่าวไทย โดยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ถือเป็นโครงการที่ได้ก่อตั้งขึ้นโดยใช้ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ใช้พื้นที่ทะเลมาขับเคลื่อนพัฒนาในประเทศไทย

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายดูแลทั้งมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม มูลนิธิฯจึงร่วมกับจิสด้า และทีดีอาร์ไอ นำคลังสารสนเทศมาบริหารจัดการและทีดีอาร์ไอ สามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจสังคมประเทศ ที่เป็นเรื่องจริง หลักฐานจริง โดยเฉพาะขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

สำหรับรายงานประกอบด้วยสาระสำคัญคือ การพัฒนาพื้นที่อีอีซีเพื่อการพัฒนายั่งยืนโดยเฉพาะด้านสังคม สิ่งแวดล้องและเศรษฐกิจ กรอบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเศรษฐกิจมั่งคั่งต้องกระจายความเจริญในสังคมดังนั้น สุขภาพต้องมาก่อน มุมมองพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและชนบทต่างๆ การเข้าถึงการศึกษาที่ต้องได้รับการพัฒนา ดังนั้น การพัฒนาเพื่อเศรษฐกิจไปได้เร็วต้องเอาอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยด้วย

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการขยะที่มีทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม จะต้องสร้างจิตสำนึก และเอาเศรษฐกิจหมุนเวียนมาร่วมบริหารจัดการ พื้นที่อุตสาหกรรมต้องใช้น้ำ การจัดสรรทรัพยากรน้ำเดิมที่ใช้ภาคการเกษตรการใช้ในภาคอุตสาหกรรม จะต้องดูกลไกการคืนประโยชน์ให้เกษตรกรด้วย รวมถึงการตั้งโรงงานกำจัดของเสีย ถ้าทำทีหลังจะหาที่ตั้งโรงงานลำบาก อีกทั้ง ปัญหาร้องเรียนการลักลอบเอาของเสียไปทิ้งในพื้นที่ห่างไกล อาจให้ชุมชน ประชาชนควรเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย

โดยข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการขยะนั้น จะใช้กรอบแนวคิดโดยประยุคใช้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาเป็นแนวคิดส่งเสริมการนำขยะที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาใช้ใหม่ เร่งจัดการขยะตกค้าง เพิ่มโรงงานรองรับกากอุตสาหกรรม กำกับดูแลโรงงานให้กำจัดและบำบัดของเสีย รวมถึงขยะติดเชื้อ โดยกำหนดเป้าหมายบสอดคล้องกับกรอบบีซีจี และเศรษฐกิจหมุนเวียนให้นำกลับมาใช้ให้ได้มากที่สุด

สำหรับขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ทั้ง 3 จังหวัด ประกอบด้วยชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีแนวโน้นเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้รั่วไหลออกไปสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนหน่วยงานอาจต้องเข้ามาดูแล แม้จะมีโรงงานกำจัดขยะ หรือตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่พียงพอ ถึงแม้ว่าอีอีซีได้หารือร่วมเอกชน นำเทคโนโลยีมาช่วยกำจัดขยะในอีอีซีบ้างแล้ว สิ่งสำคัญอันดับแรกต้องเร่งสร้างความรับรู้ถึงปัญหาขยะ การคัดแยก แรงจูงใจทั้งคนในพื้นที่และผู้ประกอบการ และอำนวยความสะดวกระบบรีไซเคิ่ล เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าทั้ง 3 จังหวัดมีการกำจัดขยะไม่ถูกต้อง ซึ่งจากปัญหาโควิด-19 พบว่าขยะติดเชื้อเกิดขึ้นจำนวนมากและต้องใช้เตาเผาความร้อนสูง และมีโรงงานกำจัดขยะที่จังหวัดระยองแห่งเดียวที่กำจัดขยะติดเชื้อได้วันละ 3.6 ตัน จากปกติมีขยะติดเชื้อถึง 10-12 ตันต่อวัน และอนาคตจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังคาดการณ์ตัวเลขขยะมูลฝอยในอีอีซีเพิ่มขึ้น 63% ในปี2583