ทอท.เตรียมทุ่ม 1.6 แสนล้านบาท สร้างเกตเวย์การบินทั่วประเทศ

ทอท.เตรียมทุ่ม 1.6 แสนล้านบาท สร้างเกตเวย์การบินทั่วประเทศ

ทอท.เร่งศึกษาสร้างเชียงใหม่ - ภูเก็ต แห่งที่ 2 ประเมินวงเงินลงทุนสูงสุด 1.6 แสนล้านบาท คาดเสนอบอร์ดไฟเขียวภายในปีนี้ ด้าน “ศักดิ์สยาม” สั่งโอนสิทธิบริหารท่าอากาศยานภูมิภาคเพิ่มตาก แม่สอด และพิษณุโลก หวังปั้นเกตเวย์อินเตอร์ทั่วประเทศ

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน โดยระบุว่า ขณะนี้ ทอท.เตรียมใช้งบประมาณราว 31 ล้านบาท เพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาทบทวนความเหมาะสม และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในส่วนของท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 วงเงินราว 20 ล้านบาท และท่าอากาศยานพังงา หรือ ภูเก็ตแห่งที่ 2 วงเงิน 11 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ทอท.คาดว่าจะได้ตัวที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวในช่วงต้นปีนี้ หลังจากนั้นจะใช้เวลา 8 เดือนในการศึกษาทบทวน และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนจะเสนอผลศึกษาให้คณะกรรมการ (บอร์ด ) ทอท.พิจารณาปลายปีนี้ ก่อนจะเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาอนุมัติเพื่อเริ่มขั้นตอนการจัดจ้างออกแบบโครงการต่อไป

“ตอนนี้ต้องศึกษาก่อนว่าภูเก็ตและเชียงใหม่ มีแนวโน้มที่ผู้โดยสารจะพีคสุดหรือเกินขีดความสามารถรองรับได้ในปีไหน และวิเคราะห์ว่าการเข้าบริหารและพัฒนาสนามบินกระบี่ที่รับโอนมาจากกรมท่าอากาศยาน จะแบ่งเบาภาระสนามบินภูเก็ต ลดความแออัดไปได้มากน้อยแค่ไหน จึงจะสามารถสรุปได้ว่า 2 สนามบินใหม่นี้จะสร้างได้ปีไหน”

ทั้งนี้ผลการศึกษาพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่และภูเก็ต แห่งที่ 2 เดิมมีการประเมินวงเงินลงทุนสูงสุดถึง 1.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ท่าอากาศยานพังงา หรือภูเก็ตแห่งที่ 2 จะใช้งบลงทุน 100,515 ล้านบาท แบ่งออกเป็น งบลงทุนระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 95,413 ล้านบาท และระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 5,084 ล้านบาท

ส่วนท่าอากาศยานเชียงใหม่ 2 ศึกษาไว้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.พัฒนาบริการเต็มรูปแบบ (Full Service) วงเงินลงทุน 42,430 ล้านบาท และ 2.พัฒนาครอบคุลมเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ทุกประเภท (all commercial flight) วงเงินลงทุน 68,677 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 64,805 ล้านบาท และระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 3,872 ล้านบาท

รายงานข่าวจาก ทอท. ระบุถึงความคืบหน้าของนโยบายโอนสิทธิบริหารท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่งของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่า ขณะนี้การเข้าไปรับผิดชอบการบริหารจัดการใน 3 ท่าอากาศยาน คือ ท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ อยู่ระหว่างการหารือถึงหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง เรื่องวิธีปฏิบัติ คาดว่าจะสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือน ม.ค. 2565 เพื่อให้ ทอท.เข้าบริหารโดยเร็ว อย่างไรก็ดี ทอท.ยืนยันว่า ทย.จะยังได้รับเงินชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการมอบความรับผิดชอบดังกล่าว รวมถึงจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการบริหารงานที่คล่องตัว ของ ทอท.ด้วย

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังมีนโยบายให้ ทอท. เข้าไปพัฒนาท่าอากาศยานของ ทย.เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขอรับสิทธิบริหารท่าอากาศยานของ ทย.เพิ่มเติมอีก จำนวน 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานตาก แม่สอด และพิษณุโลก มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ)เส้นทางการบินระหว่างประเทศภาคเหนือตอนล่าง

“หาก ทอท.ได้รับสิทธิเข้าบริหารอีก 3 ท่าอากาสยานภูมิภาคนี้ จะทำให้ ทอท.มีเกตเวย์อินเตอร์ครบทุกภาคของประเทศ ภาคเหนือ จะมีฮับเป็นท่าอากาศยานเชียงใหม่ และเชียงราย ภาคใต้ คือ ท่าอากาศยานกระบี่และภูเก็ต ภาคอีสาน คือ ท่าอากาศยานอุดรธานี และบุรีรัมย์ ซึ่งเพิ่งรับสิทธิบริหารมาจาก ทย. จะช่วยเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวระหว่างประเทศให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทอท.มีท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแล 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย