ชัดแล้ว หมูไทยติด "โรค ASF" สัตวแพทย์ 14 สถาบันหวั่นเสียภาพพจน์ ร้องปศุสัตว์คุมด่วน

ชัดแล้ว หมูไทยติด "โรค ASF" สัตวแพทย์ 14 สถาบันหวั่นเสียภาพพจน์ ร้องปศุสัตว์คุมด่วน

ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย 14 สถาบัน ชี้หมูไทยติด "โรค ASF" ยื่นกรมปศุสัตว์ คุมด่วนพร้อม หนุนหน่วยงานวิชาการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของวิชาชีพสัตวแพทย์ของประเทศไทย

รายงานทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ Thailand Veterinary Dean Consortium (TVDC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำหนังสือถึง นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร ระบุว่า

เนื่องจาก ตามที่ปรากฏการตายของสุกรเป็นจำนวนมากในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยมาระยะหนึ่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขนาดกลางและขนาดเล็ก ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทยทั้ง 14 สถาบัน มีความกังวลกับสถานการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับได้รับคำถามเป็นจำนวนมาก จากเกษตรกรและประชาชน ถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไข

ทั้งนี้ จากการตรวจวินิจฉัยโรคโดยหน่วยงาน ของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever: ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนด ของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 แล้วนั้น  

ชัดแล้ว หมูไทยติด "โรค ASF" สัตวแพทย์ 14 สถาบันหวั่นเสียภาพพจน์ ร้องปศุสัตว์คุมด่วน

ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงขอให้กรมปศุสัตว์พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อมีให้เกิดความเสียหาย ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย และพร้อมสนับสนุนทางวิชาการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สร้างความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ที่ดีของวิชาชีพสัตวแพทย์ของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 นายประภัตร  โพธนสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้นำทีมกระทรวงเกษตรฯ ลุย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ขานรับนโยบายนายกฯ ส่งเสริมเกษตรกรรายเล็ก รายย่อย กลับมาเลี้ยงสุกร 

โดยนายประภัตร เป็นประธานการประชุม เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตและการตลาดสุกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พร้อมสนับสนุนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย รายเล็กภาคเหนือตอนบน ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มี ผู้ว่าราชการจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดพะเยา และนายสัตว์แพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้นำภาคประชาชน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือเข้าร่วม

ชัดแล้ว หมูไทยติด "โรค ASF" สัตวแพทย์ 14 สถาบันหวั่นเสียภาพพจน์ ร้องปศุสัตว์คุมด่วน

นายประภัตร กล่าวว่าจากการสำรวจและเก็บสถิติของกรมปศุสัตว์ ในปี 2563 พบว่าประเทศไทยมีแม่พันธุ์สุกร ประมาณ 1 ล้านตัว สามารถผลิตสุกรขุนออกสู่ตลาดได้ถึง 20 ล้านตัวต่อปี แต่ในปี 2564 พบว่าจำนวนแม่พันธุ์สุกรลดลง เหลือเพียงประมาณ 9 แสนตัว

โดยมีสุกรขุนที่ผ่านโรงเชือดในประเทศประมาณ 18 ล้านตัว และส่งออกนอกประเทศ 1 ล้านตัว ซึ่งมาจากผู้ประกอบการ 1.9 แสนราย แบ่งเป็นรายย่อย 1.85แสน ราย มีสุกรประมาณ  30% ของประเทศ ในขณะที่รายกลาง และรายใหญ่ 4,000 - 5,000 ราย มีปริมาณการเลี้ยงสุกร 70% ของประเทศ

การที่ปริมาณแม่พันธุ์สุกรในประเทศลดลง จึงทำให้ผลผลิตลูกสุกรขุน และเนื้อสุกรสดมีแนวโน้มไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ ราคาเนื้อสุกรจึงปรับตัวสูงขึ้นในระยะนี้ ทั้งนี้ จากการสำรวจของกรมปศุสัตว์ พบว่า พื้นที่ภาคเหนือมีผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณ 70,000 ราย และมีความเหมาะสมในการสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ซึ่งผ่านการประเมินความเสี่ยงแล้ว กลับมาเลี้ยงสุกรได้อีกครั้ง ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของกรมปศุสัตว์

ภายหลังการหารือร่วมกัน นายประภัตร ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ให้หน่วยงานของทางจังหวัดเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ และสั่งการไปยังกรมปศุสัตว์ให้เข้าไปประเมินความเสี่ยงของพื้นที่อย่างละเอียด

เพื่อจัดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงสุกร รวมถึงให้หน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่ เร่งทำการสำรวจเกษตรกรที่ต้องการกลับมาเลี้ยงใหม่ และเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่เดิม เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรด้านปศุสัตว์ โดยคาดว่าจะสามารถเก็บข้อมูลได้ครบถ้วน และพร้อมเริ่มสนับสนุนได้ทันทีภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

สำหรับพันธ์ุสุกรที่จะนำมาสนับสนุนให้กับผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยนั้น จะเร่งจัดหามาจากศูนย์วิจัยของกรมปศุสัตว์ เครือข่ายสัตว์พันธ์ุดีของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีแม่พันธ์ุอยู่ประมาณ 5,000 ตัว และยังได้มีการเจรจาขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ มหาวิทยาลัยต่างๆ และวิทยาลัยเกษตรทั่วประเทศ ในการช่วยผลิตลูกสุกร

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของบริษัทไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด บริษัทหมูอินเตอร์ฟาร์ม จำกัด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายเล็ก รายย่อย ทางภาคเหนือ โดยกรมปศุสัตว์จะจัดสรรให้ผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยที่สนใจ รายใดต้องการเลี้ยงแม่พันธุ์ จะจัดหาแม่พันธุ์ 2 ตัว รายใดต้องการลูกสุกรขุน จะจัดให้รายละ 20 ตัว หรือตามความเหมาะสม พร้อมอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรค

โดยให้ปศุสัตว์ในพื้นที่เข้าไปดูแลเรื่องโรคระบาด และเเนะนำการยกระดับและปรับปรุงระบบการเลี้ยงภายใต้มาตรฐานฟาร์มแบบ Good Farming Management (GFM) "ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม"  สำหรับในส่วนของเรื่องเงินทุน จะใช้แหล่งเงินกู้จากธนาคาร ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม นายประภัตร ยังได้รับข้อเสนอของเกษตรกรรายเล็ก รายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน กรณีมีหนี้เดิมกับธนาคาร ธ.ก.ส.อยู่แล้ว และเกิดความเสียหายจากโรคระบาด หรือสาธารณภัย ที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ธนาคารธ.ก.ส. ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยจะพิจารณาลดดอกเบี้ยหนี้เดิม พักชำระหนี้เดิม หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ เพื่อแผนการชำระหนี้ระยะยาวให้เกษตรกร ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อตกลงและการพิจารณาของธนาคาร ธ.ก.ส.