กรมปศุสัตว์ยืนยัน หมูไทยไม่ติด ASF

กรมปศุสัตว์ยืนยัน หมูไทยไม่ติด ASF

กรมปศุสัตว์ ยืนยันหมูไทยไม่ติด ASF แต่ โรค PRRS ยังระบาด วัคซีนไม่เพียงพอ แนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร สังเกตอาการ และดูแลสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเน้นย้ำเรื่องระบบการป้องกันโรคภายในฟาร์ม เพื่อเฝ้าระวัง และป้องกันการเกิดโรคระบาดในสุกร

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าว ว่าขณะนี้มีการเกิดโรคระบาดในสุกรในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยพบจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงกว่า 50 จังหวัด ทำให้ฟาร์มขนาดเล็กและกลางเทขายสุกรทำให้ราคาสุกรตกต่ำ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย

โดยโรค ASF เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่พบการแพร่ระบาด 35 ประเทศทั่วโลก และในประเทศเพื่อนบ้านเช่น จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเมียนมา และมีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรค ASF มีความยาวรวมกว่า 5,000 กิโลเมตร จึงมีความเสี่ยงที่จะมีการลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรผ่านตามแนวชายแดน ซึ่งจากการตรวจยึดการลักลอบการนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรมีจำนวน 4,402 ครั้ง ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ ASF จำนวน 440 ตัวอย่าง (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2564)   

ดังนั้น จากสถานการณ์โรค ASF ในประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก กรมปศุสัตว์จึงได้มีการกำหนดมาตรการ อย่างเข้มงวด โดยการประเมินความเสี่ยงต่อโรคตามหลักการทางระบาดวิทยา ด้วยแอปพลิเคชัน e-smart plus โดยใช้วิธี Spatial Multi – criteria decision Analysis ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังโรคทั้งในเชิงรุกและเชิงรับในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในฟาร์มสุกร โรงฆ่าสุกร สถานที่จำหน่ายเนื้อสุกร และสถานที่จำหน่ายอาหารสัตว์ รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายสุกร/หมูป่าที่มีชีวิตและซาก ทั้งการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ ระหว่างประเทศ หรือการลักลอบเคลื่อนย้ายทุกกรณีอย่างเข้มงวด 

                 แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคพี อาร์ อาร์ เอส สายพันธุ์ใหม่ในสุกร (PRRS : Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นในจีน และประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงประเทศไทย ซึ่งโรค PRRS ก่อให้เกิดอาการทางระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจ อัตราการเกิดมัมมี่และลูกตายแรกคลอดสูงและก่อให้เกิดการตายในสัตว์ป่วยมากกว่าร้อยละ 80 สามารถแพร่กระจายได้ง่ายไปกับยานพาหนะ คน สัตว์หรือซากสัตว์เช่นเดียวกับโรค ASF

 ถึงแม้ว่าโรค PRRS นี้มีวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกันโรคได้ แต่ปริมาณวัคซีนที่มีจำหน่ายในประเทศไทยยังมีไม่เพียงพอ มีราคาสูง และการใช้วัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรค ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์ม และในกรณีพบการระบาดในพื้นที่จึงมีความจำเป็นต้องทำลายสุกรเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย

ดังนั้นจึงขอยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่มีรายงานการเกิดโรค ASF ในประเทศไทย จึงขอความร่วมมือเกษตรกรดูแลสุกรของตนอย่างใกล้ชิด ให้ความสำคัญในเรื่องระบบการป้องกันโรคภายในฟาร์ม มีคอกคัดสัตว์เพื่อขายแยกจากฟาร์มเพื่อป้องกันพ่อค้าที่รับซื้อสุกรอาจนำเชื้อมาสู่ฟาร์ม พ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าและออกฟาร์มและโรงเรือน เลือกซื้อสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ กักสัตว์ก่อนนำเข้ารวมฝูง หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตน หรือใกล้เคียง หากพบสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่านำไปจำหน่าย ต้องรีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อให้การช่วยเหลือ และตรวจสอบโดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อหน่วยงานดังกล่าว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์