แก้ปัญหาสินค้าแพง ในแบบสถานการณ์ปกติ

แก้ปัญหาสินค้าแพง ในแบบสถานการณ์ปกติ

สถานการณ์ระบาดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นใน 35 ประเทศทั่วโลก เป็นเวลามากพอที่ไทยควรจะมีวิธีการจัดการที่ไม่ทำให้อุปทานสุกรในตลาดอยู่สภาพปัจจุบัน หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้การแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติแบบไม่วิกฤติ และผลกระทบตกอยู่ที่ประชาชน

2 ปีเต็มที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อเดือน ม.ค.2563 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไปแล้ว 2.24 ล้านคน ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรับมือกับสถานการณ์วิกฤติ ทั้งประชาชนที่ต้องปรับการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมโรค รวมถึงภาคธุรกิจที่ต้องปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติที่ส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

การดำเนินงานของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทำงานอย่างหนักบนสถานการณ์วิกฤติ โดยทุกฝ่ายในวงจรสาธารณสุขทำงานเต็มที่ ตั้งแต่ระดับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) จนถึงหน่วยงานกำกับดูแลด้านสาธารณสุข รวมถึงการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลอยู่บนภาวะวิกฤติที่ต้องออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวม 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท 

ระหว่างทางที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงของความต้องการสินค้าหลายรายการและมีผลให้กลไกตลาดไม่อยู่ในระดับปกติ ซึ่งที่ผ่านมา เห็นปัญหาเกิดขึ้นและปัญหาจบลงด้วยตัวเอง

โดยในช่วงแรกของการระบาดพบราคาหน้ากากอนามัยสูงขึ้นมาก และคำอธิบายที่ได้รับระบุถึงปัญหาที่จากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอยู่ที่การเติมอุปทานเข้าไป แต่ดูเหมือนว่าต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าที่สถานการณ์ราคาหน้ากากอนามัยจะใช้กลไกตลาดดูแลได้

เมื่อมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนเกิดขึ้น ได้สร้างอุปสงค์ของอุปกรณ์ตรวจเอทีเค (ATK) มากขึ้น และคำตอบที่ได้รับจากหน่วยงานรัฐอยู่ที่ราคาเป็นปกติแล้วเสมือนการพยายามบอกว่าไม่มีปัญหา ซึ่งในเมื่อเอทีเคเป็นอุปกรณ์สำรวจในวงจรการควบคุมโรค และประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์วิกฤติมาตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 นั่นหมายความว่าการบริการอุปทานอุปกรณ์เอทีเคยังต้องอยู่บนสมมติฐานสถานการณ์วิกฤติมานับตั้งแต่กลางปี 2564 ที่เริ่มมีนโยบายจัดหาอุปกรณ์เอทีเคสำหรับให้ประชาชนตรวจเชื้อ

ในสถานการณ์วิกฤติการระบาดของโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามถึงสถานการณ์โรคระบาดสุกร ซึ่งหน่วยงานรัฐยืนยันว่าไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย เหมือนที่ยืนยันว่าเอทีเคไม่แพง และได้ทำลายสุกรที่เสี่ยงพบเชื้อ สถานการณ์ระบาดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นใน 35 ประเทศทั่วโลก เป็นเวลามากพอที่ไทยควรจะมีวิธีการจัดการที่ไม่ทำให้อุปทานสุกรในตลาดอยู่สภาพปัจจุบัน หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้การแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติแบบไม่วิกฤติ และผลกระทบตกอยู่ที่ประชาชน