จี้รัฐหาทางออกทัวริสต์ค้างท่อ ชู "อันดามันแซนด์บ็อกซ์" เพิ่มพื้นที่รองรับ

จี้รัฐหาทางออกทัวริสต์ค้างท่อ ชู "อันดามันแซนด์บ็อกซ์" เพิ่มพื้นที่รองรับ

สภาวะการณ์แพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทุกฝ่ายเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด! โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงต่อ "การเดินทาง" ที่ต้องสะดุดลงชั่วคราวจากมาตรการป้องกันต่างๆ

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า  สธ.จะเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาเลื่อนเปิดมาตรการรับนักท่องเที่ยวระบบ Test & Go ออกไปจากเดิมสิ้นสุดเมื่อวันที่ 4 ม.ค. โดยจะชะลอเพื่อขอประเมินสถานการณ์ไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค.2565 พร้อมระบุว่าผู้เดินทางในระบบ Test & Go ที่ยังค้างท่ออยู่ จะต้องเดินทางเข้าประเทศไทยภายในวันที่ 10 ม.ค. หลังจากนั้นหากต้องการเข้าไทย จะต้องเข้าระบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ที่ภูเก็ต หรือผ่านระบบกักตัว (Quarantine) เท่านั้น!

กรด โรจนเสถียร ประธานภาคเอกชนของโครงการหัวหิน รีชาร์จ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้เกิดความเสียหายและกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยอย่างมาก! เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวค้างท่อที่ยังไม่เดินทางเข้ามา น่าจะมีประมาณ 90,000 คน ซึ่งได้จ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินรวมทั้งเงินจองค่าที่พักในไทยไว้หมดแล้ว อีกทั้งยังเป็นการเดินทางมาตามระบบที่ ศบค.กำหนดว่าใครยื่นขอไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) เข้าประเทศไทย ภายในวันที่ 21 ธ.ค.2564 จะได้รับพิจารณาทั้งหมด โดยจำนวนคนที่ค้างท่อส่วนใหญ่จะเดินทางมาไทยเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้

“แนวโน้มดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวที่จองการเดินทางเข้าประเทศไทยเกิดปัญหาทันที ทุกโรงแรมวุ่นกันไปหมดว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร จะต้องยกเลิกการจอง และคืนเงินให้กับนักท่องเที่ยวที่จ่ายเงินมาแล้ว หรือต้องเจรจาให้นักท่องเที่ยวที่จะมาหลังวันที่ 10 ม.ค.2565 ให้เลื่อนการเดินทางออกไปก่อน ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่มีทางยอมแน่ คงจะยกเลิกทั้งหมด สร้างความเสียหายอย่างมาก ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของนักท่องเที่ยวเลย กระทบต่อความเชื่อมั่นประเทศไทยอย่างมาก แบบนี้เอกชนตายอย่างเดียว”

รัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า สมาคมฯ มองว่าควรเร่งแก้ไขระบบ Test & Go ว่ามีข้อผิดพลาดหรือต้องเร่ง “อุดช่องโหว่” ตรงไหนมากกว่า เพราะในช่วงที่ผ่านมาจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 2 ของนักท่องเที่ยวซึ่งอยู่ที่สมุย พบว่าเป็นการติดเชื้อจากที่อื่น ไม่ได้ติดเชื้อในสมุย จึงอยากให้ภาครัฐเร่งแก้ไขระบบหรือแอพพลิเคชั่นที่สามารถติดตามตัวนักท่องเที่ยวได้จริง!!

“ส่วนกรณีที่  สธ.ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวว่าหากต้องการใช้สิทธิเดินทางด้วยระบบ Test & Go ตามที่ลงทะเบียน จะต้องเดินทางเข้ามาภายในวันที่ 10 ม.ค.2565 เท่านั้น มองว่าเราไม่สามารถบังคับนักท่องเที่ยวได้ว่าจะสะดวกเดินทางมาเมื่อไร เพราะเขาต้องเดินทางตามแผนหรือโปรแกรมการเดินทางของแต่ละคน โดยอยากเสนอให้ภาครัฐปรับมาตรการยืดหยุ่น สอดรับกับแผนการเดินทางเดิมของนักท่องเที่ยวที่ได้สิทธิเดินทางด้วยระบบ Test & Go แต่มาเร่งแก้ไขเรื่องระบบการติดตามตัวนักท่องเที่ยวจะดีกว่า”

และจากการเสนอให้ ศบค.พิจารณาพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวหรือ “แซนด์บ็อกซ์” (Sandbox) เหมือนกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ได้เตรียมความพร้อม จัดหา “Hotel Isolation” หรือโรงแรมรองรับการกักตัว เพียงพอสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างน้อย 400 คน สามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ติดเชื้อ 5% จากที่เดินทางเข้าพื้นที่ทั้งหมด จึงไม่น่าจะมีปัญหาในการเพิ่มพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าเป็นแซนด์บ็อกซ์ นอกจากนี้ยังมีระบบติดตามตัวนักท่องเที่ยวผ่านระบบเครือข่ายเอกชนท่องเที่ยวและโรงแรมในพื้นที่ที่ค่อนข้างเหนียวแน่น สามารถตามติดตามตัวนักท่องเที่ยวได้จริง จึงมั่นใจในตัวระบบอย่างมาก เพราะที่ผ่านมามีการอบรมให้โรงแรมปฏิบัติตามอย่างเข้มแข็ง

“เมื่อรัฐบาลระงับการลงทะเบียน Test & Go จนทำให้ต้องปรับพื้นที่สมุยเป็นแซนด์บ็อกซ์ สมาคมฯประเมินว่าเดือน ม.ค.2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสมุย 3,000-4,000 คน ถือว่าอยู่ในระดับพอใช้ได้ เพราะยังมีความไม่แน่นอนจากการปรับมาตรการของรัฐบาลซึ่งคาดว่าจะมีประกาศใหม่เพิ่มเติมในวันที่ 10 ม.ค.นี้ ทำให้กว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มวางแผนและจองการเดินทาง ต้องใช้เวลาในการจอง ไม่ใช่ประกาศแล้วคนจะแห่เดินทางเข้ามาเลย”

ขณะที่เดือน ธ.ค.2564 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสมุยกว่า 8,000 คน จากเดิมคาดการณ์ว่าจะเข้ามา 3,000 คน แต่พอเห็นแนวโน้มการเดินทางดี จึงปรับเป้าว่าน่าจะเห็นยอดทะลุ 10,000 คน แต่ต้องมาสะดุดเพราะการปรับมาตรการจาก ศบค.เรื่องระงับการลงทะเบียน Test & Go ที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2564-4 ม.ค.2565 เสียก่อน ส่วนเดือน พ.ย.2564 มีจำนวนยังไม่มาก อยู่ที่ 2,900 คน เพราะรัฐบาลเพิ่งประกาศเปิดประเทศ ให้ใช้ระบบ Test & Go ไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564

ด้าน ก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า สำหรับยอดจองการเดินทางเข้าภูเก็ตล่วงหน้าตั้งแต่เดือน ม.ค.นี้เป็นต้นไป เริ่มชะลอตัวลง เพราะมีข่าวออกไปว่าประเทศไทยอาจยกระดับความเข้มข้นของมาตรการเข้าประเทศ โดยเฉพาะการเลื่อนระงับการลงทะเบียนเข้าไทยรูปแบบ Test & Go จนถึงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทางเพื่อรอดูความชัดเจนหลังจากนี้ ส่วนยอดจองล่วงหน้าเข้ามาใหม่นั้นยังมีอยู่ แต่ก็ชะลอตัวลงมาก

“ส่วนเรื่องขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวที่ค้างท่อเร่งใช้สิทธิระบบ Test & Go เดินทางเข้าไทยภายในวันที่ 10 ม.ค.นี้ หลังจากนั้นจะต้องเข้าผ่านระบบภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หรือเข้ามาในระบบกักตัวเท่านั้น เบื้องต้นสมาคมฯมองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภูเก็ตมากนัก เพราะภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตั้งใจพำนักเกิน 7 วันอยู่แล้ว”

ทั้งนี้อาจเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเปลี่ยนใจจากเดิมจะเที่ยวจังหวัดอื่น หันมาเที่ยวภูเก็ตแทน และส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการไปเที่ยวต่อในหลายพื้นที่ เช่น เขาหลัก จ.พังงา และ จ.กระบี่ ภายในจำนวนวันพำนัก 7 วัน ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่อที่อื่นได้ โดยภาคเอกชนได้หารือร่วมกัน อยากจะขอให้จัดเป็นแซนด์บ็อกซ์ร่วมกับภูเก็ต ภายใต้รูปแบบ “อันดามันแซนด์บ็อกซ์” (Andaman Sandbox) ขึ้น 

เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยกัน!!