SCB เกาะยานแม่ รุกดิจิทัลแบงกิ้ง ดัน อาร์โออีพุ่ง20%

SCB เกาะยานแม่ รุกดิจิทัลแบงกิ้ง ดัน อาร์โออีพุ่ง20%

ไทยพาณิชย์เร่งเดินหน้ารุกดิจิทัลแบงกิ้ง ลดต้นทุนธุรกิจ ตั้งเป้า5ปี ปั้นผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นพุ่งแตะ 15-20% ภายใต้โครงสร้างใหม่บนยานแม่ SCBx จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับกว่า 8%

       นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า หัวใจสำคัญ สำหรับการดำเนินธุรกิจปี 2565 คือ การรุกในส่วนของดิจิทัลแบงกิ้งอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนโครงสร้างใหม่ เอสซีบี เอกซ์ (SCBx)  และดิจิทัลแบงกิ้งในส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ผ่านโมบายแบงกิ้ง SCB EASY 
      โดยเฉพาะ ภายใต้โครงสร้าง ของ SCBx ที่มีหลายสิบบริษัทอยู่ภายใต้โครงสร้างนี้ ซึ่งหลักๆจะแบ่งเป็นสองส่วนสำคัญ ส่วนแรก คือ การรุกในส่วนดิจิทัลแลงกิ้ง การให้สินเชื่อผ่านดิจิทัล การปล่อยสินเชื่อ อนุมัติสินเชื่อผ่านฐานข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า 

       ขณะที่อีกส่วน เป็นกลุ่มที่เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเทคโนโลยี และแพลตฟอร์ม ซึ่งทั้งสองกลุ่ม จะเป็นตัวที่มีการเติบโต( growth) และให้ผลตอบแทนสูงกว่า ธุรกิจดั่งเดิมของธนาคาร

     โดยทั้งสองกลุ่มที่อยู่ภายใต้ SCBx  จะให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)ในระดับสูง มากกว่า 20% หากเทียบกับธุรกิจเดิมของธนาคารที่ ROE ปัจจุบันไม่ถึง 10% โดย 9เดือนปี 2564 อยู่ที่ 8.8% 

     อย่างไรก็ตาม ภายใต้ แผน 5 ปี บนโครงสร้างใหม่ SCBx มีการตั้งเป้า เพิ่ม ROE ไปสู่ระดับ 15-20% ซึ่งธุรกิจที่อยู่ภายนอกธนาคาร จะเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ ROE ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้

     ส่วนธุรกิจที่อยู่ภายใต้ธนาคาร ยังมองว่าเป็นธุรกิจที่ยังเจอการแข่งขันสูง แม้ที่ผ่านมาธนาคารจพยายามลดต้นทุน แต่คงทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น 
    “ปัจจุบัน ROE ของแบงก์ไม่ถึง 10% ดังนั้นเราต้อง optimize Portfolio เพื่อเพิ่ม ROE โดยเชื่อว่า หากเหตุการณ์ปกติ กลับไปเหมือนก่อนโควิด-19 ที่ความจำเป็นในการตั้งสำรองของธนาคารลดลง ใน 2ปีข้างหน้า ROE ของแบงก์ ก็อาจกลับมาสู่ระดับ 10% ต้นๆได้ แต่หากจะไปให้ถึง 20% เหมือนอดีต คงไม่เห็นแล้ว เพราะธุรกิจธนาคารแบบดั่งเดิมมีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้ROE ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งหากเราไม่ทำอะไร ROE ของเราจะถดถอยไปเรื่อยๆ” 
    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจภายใต้ธนาคาร ก็ต้องมีส่วนที่ต้องไปสู่ดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น โดยหลายบริการ จะต้องปรับกระบวนการไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาตอบโจทย์โครงสร้างต้นทุนของธนาคารให้ลดลงได้ในระยะข้างหน้า 
    สำหรับดิจิทัลแบงกิ้งของธนาคาร ปัจจุบันธนาคารมีผู้ใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ล่าสุด 18 ล้านคน ทั้งในส่วนของ SCB EASY , Robinhood ที่มีผู้ใช้งานกว่า 2.2 ล้านคน ,เงินทันเด้อ ที่อยู่ภายใต้  บริษัท เอสซีบี อบาคัส ที่มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 5 ล้านครั้ง , บริษัท มันนิกซ์ผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัล ผ่านแอพฯ FINNIX ซึ่งมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 4 ล้านครั้ง 
ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 5 ปี จะมีผู้ใช้บริการภายใต้แพลตฟอร์ม และบนช่องทางดิจิทัลแบงกิ้งต่างๆ ไปสู่ 200 ล้านคนได้ เมื่อขยายธุรกิจไปเติบโตในภูมิภาค
     “5ปีที่ผ่านมา เราพยายามทรานฟอร์เมชั่นองค์กร เราพยายามเปลี่ยนในแบงก์ แต่เราพบว่าการเปลี่ยนภายในแบงก์ทำได้ดีระดับหนึ่ง จนมาสู่การปรับโครงสร้างใหม่ในปัจจุบันสู่ SCBx ซึ่งเราเชื่อว่าหากมีโครงสร้างที่เกื้อหนุนได้ดีกว่า เหมาะสมดีกว่า เราจะทำเรื่องนี้ได้ดีกว่าที่ผ่านมาด้วยซ้ำ และบนโครงสร้างใหม่จะทำให้เกิดการแข่งขันและมีความคล่องตัวและการเติบโตของธุรกิจได้มากกว่ารูปแบบเดิมๆ”
    สำหรับการดำเนินงานของธนาคาร โดยเฉพาะในส่วนการตั้งสำรอง ที่ผ่านมาธนาคารมีตั้งสำรองไว้อยู่ในระดับสูง เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีการตั้งสำรองเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 ล้านบาทต่อไตรมาส หรือคิดเป็น 175 Bps หรืออัตรส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อ

    ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมาก หากเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 ที่อยู่เพียง 130 Bps 
    ส่วนความเพียงพอของสำรอง หรือ อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ปัจจุบันอยู่ที่ 138% ของหนี้เสีย ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงที่เพียงพอในการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็ขึ้นอยู่กับผลกระทบโอมิครอนด้วยว่า มีผลกระทบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน 
    “สำรองเป็นโจทย์สำคัญในปี 2565  หากพูดเป็นซินาริโอ หากเศรษฐกิจดีขึ้น สำรองที่มีอยู่ก็น่าจะเพียงพอ บนโอมิครอนไม่ได้รุนแรง และลูกหนี้ปรับโครงสร้างไปสู่ระยะยาวมากขึ้น ทำให้อัตราการรอดของลูกหนี้ก็จะเพิ่มขึ้น ส่วนนี้เราเชื่อสำรองที่ตั้งมา 138%ก็น่าจะเพียงพอ และเอ็นพีแอลที่เราตั้งเผื่อไปแล้ว สองส่วนนี้ก็น่าจะเพียงพอ แต่เราต้องประเมินเหตุการณ์จากโอมิครอนด้วยว่ารุนแรงมากแค่ไหน”