"ช้อปดีมีคืน" 2565 กับ 5 เรื่องเข้าใจผิด รีบทำความเข้าใจก่อนใช้ ไม่เสียสิทธิ

"ช้อปดีมีคืน" 2565 กับ 5 เรื่องเข้าใจผิด รีบทำความเข้าใจก่อนใช้ ไม่เสียสิทธิ

สรุป 5 เรื่องที่เข้าใจผิดบ่อยเกี่ยวกับโครงการ "ช้อปดีมีคืน" ปี 2565 ที่ควรรู้ก่อนเข้าร่วมใช้สิทธิ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 65 ช่วยวางแผนภาษีได้ง่ายขึ้น

"ช้อปดีมีคืน" กลับมาอีกครั้งเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนในปี 2565 โดยจูงใจให้ซื้อสินค้าตามเงื่อนไขเพื่อนำไป "ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2565" ได้ โดยในครั้งมีระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ.2565 ซึ่งผู้ใช้สิทธิจำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการขอใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีเต็มรูปให้ถูกต้อง และซื้อสินค้าตามที่โครงการกำหนดเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อยากช้อป เพื่อหวังลดหย่อนภาษีควรทำความเข้าใจเงื่อนไขของโครงการให้ดีก่อนที่จะเข้าร่วม เพื่อไม่ให้เสียสิทธิที่ควรจะได้รับ โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวม 5 เรื่องที่เข้าใจผิดบ่อยเกี่ยวกับโครงการช้อปดีมีคืน ที่ช่วยลดความสับสน และสามารถวางแผนการใช้สิทธิช้อปดีมีคืนให้ได้ประโยชน์สูงสุด ดังนี้

ข่าวที่น่าสนใจ :  เช็คสิทธิ "เงินอุดหนุนบุตร" มกราคม 2565 เงินเข้า 10 ม.ค. เปิดเช็คสิทธิง่ายๆ

 1. เข้าใจผิดว่ายิ่งช้อปเยอะ ยิ่งลดหย่อนเยอะ 

เข้าใจผิด: ยิ่งซื้อเยอะ ยิ่งได้ลดหย่อนเยอะ

เข้าใจถูก: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนจะได้ลดหย่อนภาษีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ซื้อของตามเงื่อนไขของโครงการ และต้องสอดคล้องกับเงินได้สุทธิ และอัตราภาษีที่ต้องจ่ายในปี 2565 ของแต่ละคนด้วย 

ยกตัวอย่าง กรณีที่ซื้อของตามเงื่อนไขช้อปดีมีคืนเต็มเพดาน 30,000 บาทเท่ากัน คนที่จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าจะสามารถใช้สิทธินี้ลดหย่อนภาษีได้มากกว่า ส่วนคนที่ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้วก็จะไม่ได้เงินคืนภาษีจากช้อปดีมีคืนเลย เนื่องจากเป็นไปตามอัตราภาษีเงินได้ของแต่ละบุคคล ตามตารางต่อไปนี้ 

\"ช้อปดีมีคืน\" 2565 กับ 5 เรื่องเข้าใจผิด รีบทำความเข้าใจก่อนใช้ ไม่เสียสิทธิ

พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้หมายความว่ายิ่งซื้อเยอะแล้วจะได้ลดหย่อนภาษีเยอะ สำหรับคนที่รายได้อยู่ในเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีจึงไม่จำเป็นต้องช้อปหรือขอใบกำกับภาษีเต็มรูปมากรอกตอนยื่นภาษี เพราะไม่ได้รับภาษีคืนอยู่แล้วเป็นต้น

 

 2.  เข้าใจผิดว่าช้อปดีมีคืนจะได้ภาษีคืนจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% ของสินค้าที่ซื้อ 

เข้าใจผิด: ภาษีที่ได้คืนมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7%

เข้าใจถูก: ภาษีที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้คืนจากโครงการ "ช้อปดีมีคืน" จะได้รับการคืนภาษีจากการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี หมายความว่าจะได้เงินคืนภาษีในอัตราเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับ อัตราภาษีที่ผู้มีเงินได้จะต้องเสียในปี 2565 โดยเป็นอัตราขั้นบันไดตามรายได้สุทธิของแต่ละคน ไม่ใช่ได้คืน 7% เหมือนกันทุกคน (ย้อนดูรายละเอียดอัตราภาษีและสิทธิลดหย่อนภาษีจากข้อ 1)

 3. เข้าใจผิดว่า ซื้ออะไรก็ลดหย่อนได้ 

เข้าใจผิด: ซื้ออะไรก็สามารถนำมาขอคืนภาษีได้

เข้าใจถูก: ต้องใช้จ่ายเงินตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนดเท่านั้น โดยสินค้าที่สามารถขอคืนภาษีในโครงการช้อปดีมีคืนได้นั้น จะต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าซื้อหนังสือ และค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้วเท่านั้น

ส่วน สินค้าที่ไม่เข้าเงื่อนไข ช้อปดีมีคืนในปี 2565 ประกอบด้วย

- ค่าสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ , ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
- ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย บริการสัญญาณโทรศัพท์ และบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

 

 4. เข้าใจผิดว่าสิทธิช้อปดีมีคืนใช้ได้ตลอดปี 2565  

เข้าใจผิด: ซื้อของในปี 2565 ใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้ทั้งหมด

เข้าใจถูก: การใช้สิทธิช้อปดีมีคืนปี 2565 จะต้องเป็นการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไข อีกทั้งยังต้องอยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วย นั่นคือช่วง 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2565 หมายความว่าหากช้อปนอกเวลาดังกล่าวก็จะไม่สามารถนำไปเป็นหลักฐานในการขอคืนภาษีปี 2565 ที่จะต้องยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2566 ได้นั่นเอง

 

 5. เข้าใจผิดว่าร่วมโครงการช้อปดีมีคืนแล้ว รับสิทธิคนละครึ่งเฟส 4 ไม่ได้ 

เข้าใจผิด: ช้อปดีมีคืนแล้ว รับสิทธิคนละครึ่งเฟส 4 ไม่ได้

เข้าใจถูก: ใช้สิทธิ “ช้อปดีมีคืน”แล้ว ร่วม “คนละครึ่งเฟส 4” ได้อีก โดย พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ผู้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ที่เพิ่งสิ้นสุดโครงการไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2564 สามารถไปใช้โครงการสิทธิช้อปดีมีคืน 2565 ที่เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2565 ได้ 

รวมถึงผู้ที่ใช้สิทธิช้อปดีมีคืน 2565 ก็สามารถใช้สิทธิมาตรการคนละครึ่งเฟส 4 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.- 30 เม.ย.2565 ได้อีกด้วย เนื่องจากช่วงเวลาไม่ทับซ้อนกัน 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์