ภาษีคาร์บอนต้นทุนจำยอมจากภาวะโลกร้อน

ภาษีคาร์บอนต้นทุนจำยอมจากภาวะโลกร้อน

ความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับทุกห่วงโซ่ หากไทยไม่มีมาตรการรับมืออย่างจริงจัง ภาคการส่งออกของไทยอาจต้องจ่ายภาษีคาร์บอน(Carbon Tax)อย่างมหาศาล

นายวิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อน เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย แต่รุนแรงมากขึ้นและมีอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากช่วงฤดูกาลที่เปลี่ยนไป เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่ยาวนาน กระทบกับการวางแผนการเพาะปลูก ผลผลิตที่ได้น้อยลง จากโรคระบาดใช้ปัจจัยการผลิตมากขึ้น ต้นทุนสูงตาม แต่ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพรายได้ของเกษตรกรก็ลดลง รวมทั้งกระทบไปถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร

ภาษีคาร์บอนต้นทุนจำยอมจากภาวะโลกร้อน

ทั้งหมดนี้ทั่วโลกให้กำลังตระหนัก และให้ความสำคัญในทุกเวทีทางการค้ามีแนวโน้มจะนำเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในส่วนของไทยรัฐบาลต้องหันมามอง ถึงสาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อรองรับมาตรการทางการค้าในอนาคต ที่ผู้ส่งออกอาจต้องจ่ายภาษีคาร์บอนข้ามแดนในอัตราที่สูงมาก โดยใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีเทนของแต่ละประเทศมาเป็นตัววัด

 

สำหรับภาคการเกษตร เป็นที่จับตามอง เพราะมีการใช้น้ำในปริมาณมาก นอกจากนี้ภาคการเกษตรของไทยเป็นกลุ่มที่เปราะบาง เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาน้อย ยากจน อายุมาก และพื้นที่ทำกินมีแนวโน้มลดลงแต่เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุดส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาที่พึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก และนิยมใช้ระบบน้ำขัง ซึ่งมีการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่บรรยากาศ สูงมาก

การทำนาดังกล่าว เป็นที่กังวลของทุกภาคส่วน และรณรงค์เพื่อให้ปรับเปลี่ยนวิธีปลูกเป็นเปียกสลับแห้งแต่วิธีนี้ทำได้เฉพาะพื้นที่ชลประทานหรือการปลูกข้าวนาปรัง มีเพียง 26%ของพื้นที่ภาคการเกษตรเท่านั้น ส่วนใหญ่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ส่วนที่เหลือกว่า 70%12.6 ล้านครัวเรือนเป็นการทำนาปีในฤดูฝนทั่วประเทศ นั้น ไม่สามารถควบคุมระบบการปล่อยน้ำเข้าและออกเป็นบางช่วงได้

 

“การให้เกษตรกรปรับตัวเพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่สามารถทำได้เท่ากันทุกคน จากปัจจัยอายุ เศรษฐกิจ และ ลักษณะภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ ตัวยืนหลักจริงๆ ต้องเป็นรัฐบาล โดยจัดลำดับความสำคัญเร่งช่วยเหลือกลุ่มที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน “

 

 ทั้งนี้ในภาคการเกษตร สำคัญที่สุด คือ น้ำปัจจุบันรัฐบาลทุ่มงบประมาณเฉพาะการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชลประทาน เช่น ซ่อมแซม บำรุง แต่การขยายพื้นที่ ทำได้น้อยมากส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ไม่มีได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยมาก และคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และแล้งทุกปี

 

นอกจากนี้รัฐบาลควรจัดสรรงบด้านวิจัยมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์พืชทนแล้ง และทนน้ำทั้งข้าว และอ้อย

 

การทำนา ที่ปล่อยก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศสูงมากนั้น สามารถแก้ไขได้ ด้วยการสนับสนุนให้ปลูกพืชอื่นสลับ โดยจากผลการศึกษาพบว่า การทำนา ร่วมกับการปลูกข้าวโพดหลังนา สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น

 

“ปัจจุบันเกษตรกรทำนาโดยไม่ใส่ใจเท่าที่ควร เพราะมีรัฐบาลคอยช่วยเหลือและเยียวยาซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้เกษตรกรไม่มีภูมิคุ้มกันรัฐบาลควรช่วยภายใต้เงื่อนไข เช่นต้องยกร่อง ปรับปรุงดิน ไม่เผาตอซังเป็นต้น ซึ่งต้องคุยกันทั้งระบบ เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง ใช้บรรทัดฐานร่วมกัน หากไม่ทำเลย สุดท้ายเกษตรกรจะแย่“

 

 รวมทั้งรัฐบาลต้องผลักดันให้เกษตรกรเข้าถึงและใช้ ดิจิตอลเทคโนโลยี อย่างคุ้มประโยชน์ จากปัจจุบันมีเกษตรกรใช้แอพลิเคชั่นเพียง 27%เท่านั้นและทั้งหมดใช้ดูดินฟ้าอากาศไม่สนใจด้านการตลาด ปัจจัยการผลิต ความรู้ คำแนะนำด้านอื่นส่วนหนึ่งเพราะแอพลิเคชั่นที่หน่วยงานรัฐสร้างขึ้นไม่ดึงดูดให้ใช้ ฟังชั่นซับซ้อน ในขณะที่แอพลิเคชั่นของภาคเอกชนที่ดีกว่า มีค่าใช้จ่ายสูง