เปิดสาระสำคัญ ‘พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ’ หลักประกัน 20 ล้าน คนทำงาน’

เปิดสาระสำคัญ ‘พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ’  หลักประกัน 20 ล้าน คนทำงาน’

แรงงานนอกระบบเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ ดังนั้นเพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพ และพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ครม.เห็นชอบร่างส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ….

"แรงงานนอกระบบ"ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน ผลการสำรวจภาวการณ์มีงานทำของประชากรไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี 2564 แรงงานนอกระบบของไทยมีจำนวนกว่า19.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 52% ของแรงงานทั้งหมดโดยแรงนอกระบบมากสุด คือ อาชีพเกษตร และประมง รวมทั้ง พ่อค้า แม่ค้า แผงลอย คนขับแท็กซี่ ปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบไว้อย่างชัดเจน

ปัจจุบันแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพ และพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพ จัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการทำงาน และได้รับโอกาสในการกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพ อันจะทำให้แรงงานนอกระบบมีหลักประกันทางสังคม มีความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ  

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบร่างกฎหมายสำคัญที่จะใช้เป็นหลักประกันให้กับคนกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะภายใต้ชื่อว่า “ร่างส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ….” ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอซึ่งรอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

1.กำหนดให้แรงงานนอกระบบหมายความถึงคนทำงานสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม รวมถึงผู้ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด แต่มิให้หมายความรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐและของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมาย

 

2.กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ (แรงงานนอกระบบ หมายถึง คนทำงานสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้างตามฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม) การขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานนอกระบบตามลักษณะของอาชีพ และการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรได้ กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กำหนดให้มีพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบ  และกำหนดให้มีช่องทางการยื่นคำร้องและการพิจารณาคำร้อง บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล

3.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมการมีงานทำหรือการพัฒนาฝีมือแรงงาน ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และสนับสนุนการดำเนินการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานนอกระบบ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และองค์กรแรงงานนอกระบบ รวมถึงออกกฎกระทรวงกำหนดสภาพการทำงาน ค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ รวมทั้งรูปแบบหรือเงื่อนไขในการทำสัญญา เพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบบางกลุ่มหรือบางประเภทซึ่งมีการจ้างทำงานหรือให้บริการระหว่างแรงงานนอกระบบกับผู้จ้างทำงาน

4.กำหนดให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ และกำหนดให้แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานนอกระบบตามลักษณะของอาชีพ รวมทั้งกำหนดให้แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 15 กลุ่มขึ้นไปขึ้นทะเบียนเพื่อจัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบได้ รวมทั้งกำหนดให้องค์กรแรงงานนอกระบบมีสิทธิเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการส่งเสริมการมีงานทำ การเข้าถึงแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

5.กำหนดให้มี "คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบแห่งชาติ" ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และเสนอแนวทางในการแก้ไข ปรับปรุง กฎหมาย กฎกระทรง หรือประกาศที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบต่อคณะรัฐมนตรี

6.กำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยกำหนดให้เงินและดอกผลที่กองทุนได้รับ ได้แก่ ค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดเงินค่าสมาชิก เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้ เงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ดอกผลและผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของกองทุนหรือที่ได้จากการจัดหารายได้ เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับจัดสรรจากกฎหมายอื่น ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

7.กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์กำกับดูแลการบริหารจัดการ และติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และพิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ

8.กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานนอกระบบมีอำนาจในการเข้าไปในสถานที่ทำงานของแรงงานนอกระบบ หรือสำนักงานของผู้จ้างทำงาน หรือสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบในเวลาทำงาน เพื่อตรวจสภาพการทำงานของแรงงานนอกระบบ สอบถามข้อเท็จจริง และมีหนังสือสอบถามหรือเรียกผู้จ้างทำงาน เจ้าของสถานประกอบกิจการมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้จ้างทำงาน เจ้าของสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ

9.กำหนดให้มีบทกำหนดโทษ ได้แก่

- กำหนดให้ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

- กำหนดให้ผู้จ้างทำงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- กำหนดให้ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบที่สั่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- กำหนดให้บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้ เห็นว่าผู้กระทำผิดไม่ควรได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ให้มีอำนาจเปรียบเทียบ ดังนี้

ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่น

กำหนดให้มีบทเฉพาะกาล ได้แก่

- กำหนดให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

- กำหนดให้กองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่สำนักงานบริหารกองทุนไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุน และให้ผู้อำนวยการกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน

- กำหนดให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบจังหวัดประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งอนุกรรมการ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

และ กำหนดให้โอนบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ เงินงบประมาณ และรายได้ที่ประกอบเป็นกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านไปเป็นของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบตามพระราชบัญญัตินี้