‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่33.53บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่33.53บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนถูกกดดันอ่อนค่าหากยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนสูงต่อเนื่อง แต่ภาพรวมตลาดการเงินยังเปิดรับความเสี่ยงทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่าไปมาก มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ที่33.45-33.60บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ ที่ระดับ  33.53 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.57 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.60 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน โดยเงินบาทอาจถูกกดดันให้อ่อนค่าลงได้บ้าง หากยอดผู้ติดเชื้อในประเทศยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากและสุดท้ายเงินบาทจะกลับมาแกว่งตัว Sideways ในโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากภาพรวมตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยง กดดันให้เงินดอลลาร์แกว่งตัว Sideways หรือย่อตัวลงบ้าง ขณะเดียวกัน เงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำบางส่วน หลังจากที่ราคาทองคำทรงตัวใกล้ระดับ 1,810 ดอลลาร์ต่อออนซ์มาสักระยะ (อนึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะขายทำกำไรทองคำมากขึ้น หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,820-1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์ )

ทั้งนี้ สัญญาณเชิงเทคนิคัลจาก RSI และ MACD ยังคงหนุนแนวโน้มเงินบาทแข็งค่าขึ้นหรือแกว่งตัว Sideways ในระยะสั้น โดยเงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้ส่งออกต่างรอปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ธุรกรรมในช่วงปลายปีอาจเริ่มเบาบางลง ทำให้ตลาดค่าเงินอาจมีความผันผวนสูงได้ หากมีโฟลว์ธุรกรรมขนาดใหญ่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นฝั่งซื้อหรือขายเงินดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาแนวโน้มการระบาดของโอมิครอนในประเทศ หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเริ่มมีการประเมินว่าอาจเกิดการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความรุนแรงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจไม่มากนัก หากรัฐบาลสามารถเร่งแจกจ่ายวัคซีนกระตุ้น หรือ แจกจ่ายวัคซีนในกลุ่มเด็ก/เยาวชน ซึ่งข้อมูลล่าสุดในอังกฤษระบุว่า กลุ่มเด็ก/เยาวชน มีอัตราการนอนโรงพยาบาลที่สูงขึ้นเทียบกับการระบาดในระลอกก่อนหน้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรระมัดระวังความผันผวนในตลาดช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี หากมีธุรกรรมขนาดใหญ่เข้ามาในตลาด ในช่วงที่ธุรกรรมในตลาดโดยรวมเบาบางลงกว่าช่วงปกติ

 

 

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป เดินหน้าปรับตัวขึ้นราว +0.77% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯและหุ้นกลุ่ม Cyclical/Reopening theme อาทิ Adyen +3.1%, Infineon Tech. +2.3%, Kering +1.8%, ASML +1.5% สะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาการระบาดของโอมิครอนและต่างคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องหลังการระบาดสงบลง โดยภาพการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปก็สอดคล้องกับเทรนด์ของดัชนี Citi Economic Surprise ของยุโรปที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปก็เริ่มออกมาดีกว่าคาด

ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดการเงินคงมุมมองว่า การระบาดของโอมิครอนนั้นอาจมีความรุนแรงน้อยกว่าการระบาดในระลอกก่อนหน้า สอดคล้องกับผลวิจัยเบื้องต้นจากอังกฤษเดนมาร์ก และแอฟริกาใต้ที่พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลับไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการป่วยหนักหรือเสียชีวิตมากนัก อีกทั้งการระดมแจกจ่ายวัคซีนเข็มกระตุ้นยังสามารถลดความรุนแรงของการระบาดได้ ซึ่งภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นกลุ่มเทคฯ ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งและทำให้ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น +1.38% ทำจุดสูงสุดใหม่ All time high ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดตลาด +1.39% ใกล้ทำจุดสูงสุดใหม่เช่นกัน 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า ภาพรวมตลาดการเงินจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและทำให้ในระหว่างวัน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.49% ทว่า ผู้เล่นบางส่วนก็เข้ามาเพิ่มสถานะถือครองบอนด์เพื่อคงสมดุลระหว่างสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและบอนด์ (Rebalance Portfolio) หลังจากที่หุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปิดตลาดย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1.47% 

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 96.09 จุด ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเงินดอลลาร์ไม่สามารถแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ชัดเจนหลังจากที่ตลาดกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง ซึ่งเราคาดว่า เงินดอลลาร์จะยังแกว่งตัว sideways ไปก่อน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาปรับแนวโน้มการเคลื่อนไหว อาทิ หากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนไม่น่ากังวล เงินดอลลาร์ก็อาจอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักได้ แต่เงินดอลลาร์จะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะยังได้แรงหนุนจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟดช่วยพยุงไว้อยู่ นอกจากนี้ ทิศทางเงินดอลลาร์ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี ก็ย่อตัวลงเล็กน้อย ได้ช่วยพยุงให้ ราคาทองคำ ทรงตัวใกล้ระดับ 1,810 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าจะถูกกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดก็ตาม อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า แนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด รวมถึง ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อแรงได้ยาก และUpsides ของราคาทองคำเริ่มจำกัด ซึ่งมีโอกาสที่จะเห็นโฟลว์ขายทำกำไรราคาทองคำมากขึ้น หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านสำคัญแถว 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์