ส่องมาตรการดึง ‘กองถ่าย’ ต่างชาติเข้าไทย ‘ศบศ.’ เล็งดึงเม็ดเงิน 4 หมื่นล้าน

ส่องมาตรการดึง ‘กองถ่าย’ ต่างชาติเข้าไทย  ‘ศบศ.’ เล็งดึงเม็ดเงิน 4 หมื่นล้าน

การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ช่วยโปรโมทส่งเสิมภาพลักษณ์ของประเทศไทย และส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ประชุม ศบศ.ในเดือน ธ.ค.ได้เสนอปรับปรุงมาตรการ และพิจารณาคืนเงินให้กับกองถ่ายที่เข้ามาถ่ายทำสูงสุด30% คาดว่าจะดึงเม็ดเงินลงทุนได้ 4 หมื่นล้านใน 5 ปี

ความหลากหลายทางภูมิประเทศ ควมสวยงามของธรรมชาติ และชื่อเสียงทางด้านการท่องเที่ยวที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของประเทศไทยทำให้ได้รับความสนใจในการเลือกที่จะเป็นสถานที่ (Location) ที่กองถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำเช่น เรื่อง Fast&Furious ภาค9 หรือเรื่อง The Greatest Beer Run Ever ที่รัสเซลล์ โครว์ พระเอกฮอลลีวูดเพิ่งเดินทางเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย 

การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยนอกจากช่วยโปรโมทส่งเสิมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศได้เป็นอย่างดี ข้อมูลจากกองกิจการภาพยนต์และวิดีทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว ระบุว่าระหว่างปี 2553 - 2562 รายได้การถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยเติบโตเฉลี่ย 11.2% โดยมีค่าใช้จ่ายที่เข้ามาใช้จ่ายในไทยต่อเรื่องอยู่ที่ประมาณ 100 - 300 ล้านบาทโดยในปี 2562

โดยในปี 2563 มีภาพยนต์เรื่องยาวที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย 74 เรื่อง ภาพยนตร์ซีรี่ย์ 33 เรื่อง ภาพยนตร์โฆษณาอีก 28 เรื่อง สร้างรายได้ 1,748 ล้านบาท ส่วนในปี 2564 มีจำนวนภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำ 94 เรื่อง สร้างเงินรายได้มากถึง 4,015 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562 ช่วงก่อนเกิดโควิด หลังจากมีกองถ่ายขนาดใหญ่เข้ามาถ่ายทำ

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อเร็วๆนี้ได้พิจารณาข้อมูลการถ่ายทำภายยนต์ต่างชาติในประเทศ ซึ่งได้เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่มีผลดีต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียน การจ้างงาน และช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย 

ส่องมาตรการดึง ‘กองถ่าย’ ต่างชาติเข้าไทย  ‘ศบศ.’ เล็งดึงเม็ดเงิน 4 หมื่นล้าน

ที่ประชุม ศบศ.จึงได้เห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยตามข้อเสนอของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และมอบหมายให้ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานหลักร่วมกันหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการสร้างแรงจูงใจและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดให้กองถ่ายทำ ภาพยนตร์ต่างประเทศมาถ่ายทำในประเทศไทย รวมทั้งพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมระบบนิเวศและปัจจัยสนับสนุนที่จะช่วยขยายผลไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านอื่น ๆ เพื่อผลักดัน Soft power ของไทยต่อไป

ทั้งนี้ได้มีการหารือกันถึงมาตรการที่จะมีการปรับปรุงมาตรการจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนต์ในไทยจากเดิมที่กำหนดการคืน(Cash Rebate) เงินให้กับกองถ่ายฯที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประทศไทยจากเดิมที่กำหนดอัตราที่ 15% และกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 75 ล้านบาท ซึ่งอัตรานี้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย โปแลนด์ ให้เงินคืน 30% ส่วนแอฟริกาใต้ ให้เงินคืน 25%

สำหรับอัตราใหม่ที่ ศบศ.เห็นชอบคือ การเพิ่มอัตราการคืนเงิน  เป็นขั้นบันได โดยกองถ่ายทำภาพยนตร์จะได้รับเงินคืนเพิ่มขึ้นตามค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำในอัตรา 20 -30% ได้แก่ 

1.ค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำตั้งแต่ 50 - 100 ล้านบาท ได้เงินคืน 20% ของค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำ

2.ค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำตั้งแต่ 100 - 500 ล้านบาท ได้เงินคืน 25% ของค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำ

และ 3.ค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำเกินกว่า 500 ล้านบาท จะได้เงินคืน 30% ของค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำ

นอกจากการเพิ่ม Cash Rebate ยังต้องมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านต่างๆให้สามารถดึงดูดให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี แบ่งเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนจากการที่กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติจะเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย 2 หมื่นล้านบาท และผลกระทบทางเศรษฐกิจส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท 

สำหรับมาตรการและกฎระเบียบที่จะต้องทบทวนหรือปลดล็อกให้สะดวกขึ้นเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย มี 4 ส่วน ที่เกี่ยวข้อง คือ 1.การขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)ที่ยุ่งยาก เช่น การต้องขอตัวอย่างเลือด การขอทรานสคิปต์ของมหาวิทยาลัย รูปถ่ายในชุดสูท เป็นต้น และใช้เวลาในการขอ 3 วันทำการ มีขั้นตอนขออนุญาตทำงานในจังหวัดต่างๆเพิ่มเติม เป็นต้น 

2.การตรวจคนเข้าเมือง มีปัญหาเรื่องมาตรฐานของวีซ่าไม่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ระยะเวลาการให้วีซ่าน้อยกว่าระยะเวลาที่ต้องอยู่ในประเทศจริงๆ เป็นต้น 

3.การขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีปัญหาในเรื่องของถ่ายทำหรือการใช้อุปกรณ์ยุ่งยากและมีหลักเกณฑ์ขั้นตอนไม่ชัดเจน รวมทั้งระเบียบให้ถ่ายทำในพื้นที่สาธารณะไม่ชัดเจน 

และ 4.เรื่องภาษี ที่ยังมีความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารทางภาษีของนักแสดงต่างชาติ เนื่องจากไม่ได้รับเงินในประเทศไทย ​

ทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่าเตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งสรุปมาตรการสร้างแรงจูงใจและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดให้กองถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศมาถ่ายทำในประเทศไทย ตามที่ ศบศ.ได้มอบหมายให้กรมฯ ไปหารือกับกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เสร็จภายใน 1 เดือน โดยเฉพาะการจัดทำสิทธิประโยชน์พิเศษที่ต้องปรับปรุงใหม่ให้กับกองถ่ายทำภาพยนตร์ รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกให้กับนักแสดง ซึ่งมีทั้งเรื่องเงื่อนไข กฎระเบียบ และภาษีด้านต่าง ๆ ค่อนข้างมาก

สำหรับสิทธิประโยชน์เรื่องแรก คือ อัตราการคืนเงินค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำในประเทศ ได้ตั้งเอาไว้กรอบวงเงิน 4,800 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปีจะต้องหารือกับสำนักงบประมาณต่อไปในเรื่องการของบประมาณในส่วนนี้ 

ขณะที่มาตรการทางภาษีนั้น เบื้องต้นได้ขอให้กรมสรรพากรพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้อัตรา 10% ของนักแสดงต่างชาติที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย เช่นเดียวกับการปรับปรุงระเบียบต่าง ๆ เช่น การปรับหลักเกณฑ์การตรวจคนเข้าเมืองให้เอื้อต่อการถ่ายทำภาพยนตร์ การปรับกระบวนการออกใบอนุญาตทำงานแบบเร่งด่วนให้เร็วขึ้น