“น้ำตาล” ไม่ได้มีแค่ความหวาน แต่เป็นวัตถุดิบสำคัญใน “Bio Economy”

“น้ำตาล” ไม่ได้มีแค่ความหวาน แต่เป็นวัตถุดิบสำคัญใน “Bio Economy”

เมื่อการบริโภคน้ำตาลกลายเป็นตัวร้ายทำลายสุขภาพ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจึงเผชิญกับผลกระทบทางลบ การใช้ประโยชน์ของอ้อยและน้ำตาลทรายในอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงจะทำให้อุตสาหกรรมเติบโตยั่งยืนในอนาคต

เป็นที่ทราบกันดีว่า "น้ำตาล" เป็นสารให้ความหวานที่อยู่ในอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ซึ่งมีประโยชน์ในการสร้างสีสัน รสชาติ และรสสัมผัสให้อาหารน่ารับประทาน รวมทั้งยังใช้ถนอมและยืดอายุอาหาร แต่ยิ่งกว่านั้นการวิจัยและนวัตกรรมทำให้น้ำตาลและผลพลอยได้จากอ้อย (byproducts) เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ยา เครื่องสำอาง ไบโอพลาสติก และผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

การผลิตน้ำตาลจากอ้อย สร้างผลพลอยได้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง ซึ่งถ้าแบ่งตามขั้นตอนที่ได้ผลิตผลพลอยได้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกได้จากขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ได้แก่ ยอดและใบอ้อย โดยอ้อย 1 ตัน จะได้ยอดและใบอ้อยรวมประมาณ 170 กิโลกรัม เมื่อเผาไหม้จะให้ค่าความร้ินสูงจึงเป็นที่ต้องการของโรงงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) ซึ่งหากใช้วิธีเก็บเกี่ยวแบบการเผาอ้อยก่อนตัดหรือที่เรียกว่า "อ้อยไฟไหม้" จะทำให้ผลพลอยได้เหล่านี้จะสูญเสียไป 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเอกชนหลายแห่งที่เริ่มประกาศรับซื้อใบอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลเป็นพลังงานทางเลือกเพื่อการลดใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน รวมถึงช่วยลดปัญหาการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)

ผลพลอยได้อีกส่วนที่ได้หลังกระบวนการผลิต ได้แก่ กากอ้อยหรือชานอ้อย มีส่วนประกอบของกากใยและน้ำตาล สามารถนำไปใช้ในการผลิตกระดาษ บรรจุภัณฑ์อาหารและไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ วัสดุก่อสร้าง เช่น ไฟเบอร์บอร์ด ฝ้าเพดาน ฝาผนัง และเครื่องเรือนที่ใช้แทนไม้และไม้อัด อาหารเลี้ยงสัตว์ ผลิตก๊าซมีเทนเป็นเชื้อเพลิง ผลิตสารเฟอร์ฟูรอลที่ใช้ในอุตสาหกรรมยา และปุ๋ย

กากน้ำตาล เป็นส่วนที่เหลือจากการตกผลึกและแยกเอาน้ำตาลทรายออกไป ซึ่งในกากน้ำตาลมีส่วนประกอบหลายชนิด ได้แก่ น้ำตาลที่ไม่ตกผลึก ไนโตรเจน ซิลิก้า โพแทสเซียม และอื่นๆ จึงนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ เลี้ยงสัตว์ วัตถุดิบสำหรับการทำน้ำส้มสายชู เอทิลแอลกอฮอล์เพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง สุรา ทินเนอร์ ผงชูรส กรดอะซิติด กรดซิตริค กรดแลคติค อาซีโตน บิวทานอล และกลีเซอรีน เป็นต้น

สุดท้ายกากตะกอน เป็นส่วนที่ได้จากการตกตะกอนน้ำอ้อยด้วยสารเคมี ซึ่งมีสารประกอบที่มีแร่ธาตุสำคัญในการทำปุ๋ยและใช้เลี้ยงสัตว์ ทั้งยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไขอ้อย ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และยา  

ทั้งนี้ ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล ได้มีการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบสำคัญนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 3 แสนล้านบาท และทำให้น้ำตาลอ้อยกลายเป็นหนึ่งตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ น่าจับตามองว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะทำให้เราได้เห็นโปรดักส์ที่น่าสนใจอะไรบ้างที่ผลิตจากน้ำตาลและผลผลอยได้