COLOR "ปรับทัพใหม่" ผุด “พลังงานทดแทน”

COLOR "ปรับทัพใหม่" ผุด “พลังงานทดแทน”

7 ปีกว่า ! ลุยปรับทัพธุรกิจครั้งใหญ่ บ่งชี้ผ่านลงทุน “ฐานผลิตใหม่” ผลักดันกำลังผลิตเพิ่มขึ้น “2 เท่าตัว” แตะ 6 หมื่นตันต่อปี “พีรพันธ์ จิวะพรทิพย์” นายใหญ่ “สาลี่ คัลเล่อร์” โชว์แผนแตกไลน์ “พลังงานทดแทน” หวังสร้างการเติบโต !

ใช้เวลาว่า 7 ปี “ปรับทัพธุรกิจครั้งใหญ่ !” สำหรับ บมจ. สาลี่ คัลเล่อร์ หรือ COLOR ผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกมาสเตอร์แบตซ์ เม็ดพลาสติกคอมพาวด์ และสีผสมพลาสติกชนิดผง สะท้อนผ่านบริษัทควักเงินกว่า 500 ล้านบาท ลงทุนสร้าง “ฐานผลิตแห่งใหม่” (โรงงาน) กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น “2 เท่าตัว” จากเดิมกำลังผลิต 20,000 ตันต่อปี กลายเป็น 60,000 ตันต่อปี 

“พีรพันธ์ จิวะพรทิพย์” กรรมการผู้จัดการ บมจ. สาลี่ คัลเล่อร์ หรือ COLOR เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า หลังจากบริษัทใช้เวลาในการย้ายโรงงานแห่งใหม่และปรับธุรกิจใหม่แล้ว ปัจจุบันธุรกิจเริ่มทยอยสร้าง “การเติบโต” อีกครั้ง ! สะท้อนผ่านผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี “กำไรสุทธิ” จำนวน 23.93 ล้านบาท 27.94 ล้านบาท และ 55.63 ล้านบาท และมี “รายได้” จำนวน 1,135.76 ล้านบาท 1,058.57 ล้านบาท และ 995.12 ล้านบาท ตามลำดับ

ล่าสุด งวด 9 เดือน ปี 2564 อยู่ที่ 52.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 41.32 ล้านบาท หลังใช้เวลาปรับทัพธุรกิจใหม่กว่า 7 ปี ! 

ปัจจุบันลักษณะผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น “เม็ดพลาสติกผสมสีและสารเติมแต่งแบบเข้มข้นหรือเม็ดพลาสติกมาสเตอร์แบตซ์” (Masterbatch) ซึ่งเม็ดพลาสติกมาสเตอร์แบตซ์เกิดจากการกระบวนการนำเม็ดพลาสติกมาผสมกับสี (Colorant) หรือ สารเติมแต่ง (Additive) หรือฟิลเล่อร์ (Filler) ซึ่งผ่านการวิเคราะห์และคำนวณสัดส่วนที่เหมาะสม โดยในการใช้งานลูกค้าจะต้องนำมาสเตอร์แบตซ์ไปผสมกับเม็ดพลาสติกตามสัดส่วนที่กำหนดก่อนแล้วจึงนำไปใช้ในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น การอัดเป่าฟิล์ม (Extrusion Blow Film), การรีดเข้าแม่แบบ (Extrusion), การเป่าเข้าแม่พิมพ์ (Blow Molding) และการฉีดเข้าแม่พิมพ์ (Injection Molding) เป็นต้น

“เม็ดพลาสติกผสมสีหรือสารเติมแต่งแบบสำเร็จรูปหรือเม็ดพลาสติกคอมพาวด์” (Compound) ซึ่งเม็ดพลาสติกคอมพาวด์เกิดจากการกระบวนการผลิตเช่นเดียวกับเม็ดพลาสติกแบบมาสเตอร์แบตซ์ แต่มีความเข้มข้นในระดับที่พร้อมนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกได้ทันที โดยมิต้องนำไปผสมกับเม็ดพลาสติกอีกในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก

COLOR \"ปรับทัพใหม่\" ผุด “พลังงานทดแทน” และ “สีผสมพลาสติกชนิดผง” (Dry Colorants) นอกจากการผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกในรูปแบบของเม็ดพลาสติกมาสเตอร์แบตซ์ และ เม็ดพลาสติกคอมพาวด์แล้ว บริษัทยังมีการผลิต และจำหน่ายสีผสมพลาสติกชนิดผง (Dry Colorants) สำหรับให้ลูกค้านำผงสีดังกล่าวไปใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าของตน โดยลูกค้าจะนำผงสีไปเทผสมกับวัตถุดิบตั้งต้นประเภทอื่น ๆ เช่น เม็ดพลาสติก สารเติมแต่ง และฟิลเล่อร์ตามสัดส่วนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์สีผสมพลาสติกที่บริษัทผลิต และจำหน่ายสามารถแบ่งเป็น กลุ่มหลักได้แก่ สีย้อม (Dye stuff) และผงสี (Pigment)

โดยปัจจุบันกลุ่มลูกค้าจะอยู่ใน กลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ สัดส่วน 50% และที่เหลือจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างสัดส่วน 10% กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรสัดส่วน 10% กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สัดส่วน 10% และเครื่องใช้ไฟฟ้าสัดส่วน 10% และส่วนที่เหลืออยู่ในกลุ่มอื่นๆ 

“เอ็มดีหนุ่ม” บอกต่อว่า เป้าหมายของบริษัทต้องการเติบโตต่อเนื่อง ! ทว่า หากต้องการเติบโต “โดดเด่น” จากธุรกิจเดิมคง “ยาก !” สอดรับกับภาวการณ์แข่งขันในอุตสาหกรรมพลาสติกสูงขึ้น ทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ผลิตในประเทศและการนำเข้ามาของสินค้าต่างประเทศมากกว่าปกติ , สงครามการค้า (จีนและสหรัฐฯ) ซึ่งมีต้นทุนการนำเข้าที่ถูกกว่า , เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความกดดันราคาวัตถุดิบสินค้าในกลุ่มปิโตรเคมีที่มีความผันผวน

ดังนั้น แผนการสร้างการเติบโตครั้งใหม่ จึงเกิดด้วยการ “แตกไลน์” สู่ “ธุรกิจพลังงานทดแทน” ผ่านบริษัท เดอะบับเบิ้ลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ COLOR ถือหุ้นในสัดส่วน 80% โดยธุรกิจพลังงานทดแทนจะดำเนินการใน 3 ส่วน คือ 1.การทำทุ่นลอยน้ำเพื่อวางแผงโซลาร์เซลล์ 2. รับบริการติดตั้ง ออกแบบพลังงานแสงอาทิตย์ทุกรูปแบบ ทั้งโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ภาคพื้นดิน หรือ โซลาร์บนทุ่นลอยน้ำ เป็นต้น และส่วนสุดท้ายจะเป็นการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า (PPA) เพื่อรองรับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กที่ต้องการลงทุนระบบประหยัดพลังงานไฟฟ้า

COLOR \"ปรับทัพใหม่\" ผุด “พลังงานทดแทน” ทั้งนี้ ในธุรกิจพลังงานทดแทนดังกล่าวที่ผ่านมาได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรไปแล้ว และจะเริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ในเดือนธ.ค.64 และจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ (COD) ได้ในเดือนม.ค.2565 เป็นต้นไป โดยมีกำลังการผลิตปีแรกที่ 15 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตสู่ 40 เมกะวัตต์ ใน 3-5 ปี ซึ่งบริษัทคาดหวังการเติบโตของธุรกิจพลังงานทดแทนราว 10-15% ของรายได้รวม และมีมาร์จินระดับ15-20%

สำหรับ ทิศทางผลประกอบการในปี 2564 บริษัทคาดรายได้จะเติบโตจากปี 2563 ที่มีรายได้ 995.12 ล้านบาท โดยได้ปัจจัยหนุนหลักจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กลับมาฟื้นตัว และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ยังมีทิศทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น 

ขณะที่ ผลดำเนินงานปี 2565 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% โดยมาจาก “ธุรกิจ มาสเตอร์แบทช์” ประกอบด้วย ธุรกิจการเกษตร เช่น ฟิล์มคลุมโรงเรือน, ฟิล์มคลุมบ่อน้ำ, ท่อน้ำต่างๆ “ธุรกิจสินค้าใช้แล้วทิ้ง” เช่น Biodegradable, Disposable diape, Disposable film, Packaging “ธุรกิจสินค้าคงทน” เช่น Automotive, อุปกรณ์ไฟฟ้า, การก่อสร้าง, สายไฟฟ้า และ “ธุรกิจ Recycling” หรือ การนำพลาสติกส์กลับมาทำใหม่ 

สำหรับ “ธุรกิจเกษตรกรรม” โดยบริษัทได้มีการทำถุงปลูก และได้มีการศึกษากับหน่วยงานการศึกษา เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น และให้คุณภาพของผลผลิตต่างๆ ดีขึ้น โดยเน้นไปที่พืชเศรษฐกิจ เช่น เมลอน , ทุเรียน , มะม่วง เป็นต้น ซึ่งระหว่างนี้อยู่ระหว่างการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย คาดจะสะท้อนผลประกอบการได้ในปีหน้า

ท้ายสุด “พีรพันธ์” บอกไว้ว่า เรามุ่งเน้นพัฒนาขั้นตอนการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้า รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีอัตราการทำกำไรสูงออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างในปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาให้รองรับกับการปลูกกัญชาและกัญชงด้วย