กฟผ.ขับเคลื่นพลังงานสะอาดหนุนสังคมไร้คาร์บอน

กฟผ.ขับเคลื่นพลังงานสะอาดหนุนสังคมไร้คาร์บอน

ในยุคที่ทั่วโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญ "ปัญหาสภาพภูมิอากาศ" ที่มีการเปลี่ยนแปลงและทวีคูณมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาล ผู้ประกอบการ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเป็นภารกิจที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมดำเนินการ

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ตระหนักถึงความสำคัญที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 ได้พิจารณาเห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2065-2070

กฟผ.ได้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายของ กฟผ. เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้กำหนดทิศทางเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายใต้การเติบโตสู่สังคมคาร์บอนต่ำร่วมกัน สู่สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด การดูดซับเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม และการสนับสนุนโครงการหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือการปรับสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กฟผ.ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของกระบวนการผลิตไฟฟ้า จึงได้กำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายใต้การเติบโตร่วมกันของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” 

ประกอบด้วย S-Sources Transformation เป็นการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ โดยมีโครงการหลัก ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ.2036

รวมถึง กฟผ.ยังได้วางแนวทางการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม นอกจากนี้ยังเตรียมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี ค.ศ.2044 โดยตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ 66,000 ล้านหน่วย ภายในปี ค.ศ.2050

S-Sink Co-creation เป็นการดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม โดยโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ อย่างมีส่วนร่วม โดย กฟผ.พร้อมพันธมิตรได้มุ่งเน้นไปที่การปลูกป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชนและป่าเศรษฐกิจ ระหว่างปี ค.ศ.2022-2031 ปีละประมาณ 100,000 ไร่ โดย กฟผ. ยังได้วางแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) ในปี ค.ศ. 2045 เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5-7.0 ล้านตัน

S-Support Measures Mechanism เป็นกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม โดย กฟผ. ดำเนินโครงการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 

ทั้งนี้ เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าและช่วยหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การเสริมสร้างทัศนคติภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงการดำเนินการและวางกลไกสนับสนุนโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวที่ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ

“กฟผ.จะมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ.2050 โดยมีมาตรการหลักในด้าน Sources คือ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน โดยเฉพาะ Hydro-Floating Solar Hybrid ที่จะบรรลุเป้าหมาย 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ.2037" 

รวมทั้งเทคโนโลยีไฮโดรเจนที่จะเข้ามาในช่วงปลายแผนมาตรการหลักด้าน "Sink" คือ การปลูกป่าล้านไร่ ภายในปี ค.ศ.2031 รวมกับเทคโนโลยี CCUS ตั้งแต่ปี ค.ศ.2045 และมาตรการรองรับจากโครงการด้าน Energy Efficiency และ BCG Economy ที่จะช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 8 ล้านตัน ในปี ค.ศ.2050 เพื่อร่วมสร้างอนาคตปลอดคาร์บอนให้กับคนไทยทุกคน