“ศุภชัย” แนะยึด 3 หลัก" พาสู่เป้าหมายเศรษฐกิจยั่งยืน

“ศุภชัย” แนะยึด 3 หลัก" พาสู่เป้าหมายเศรษฐกิจยั่งยืน

“ศุภชัย” ปาฐกถาพิเศษเวที เนชั่น มอง 3 แนวทาง" เศรษฐกิจพอเพียง - SDGs – ยุทธศาสตร์ชาติ” พาประเทศสู่เศรษฐกิจยั่งยืน

นายศุภชัย  พานิชภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ และอดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติ ว่า ด้วยการค้าและการพัฒนา(UNCTAD) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก(WTO) ปาฐกถาพิเศษ เดินหน้าเศรษฐกิจไทยสู่เป้าหมายความยั่งยืน ในงานสัมมนา  Thailand Next :Sustainability Goal คำตอบธุรกิจสู่ความยั่งยืน  ว่า  ปัจจุบันในเวทีเศรษฐกิจหรือองค์กรทางเศรษฐกิจมักจะพูดอยู่ 3 เรื่อง คือ ความยั่งยืน  ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น และการพร้อมรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง   ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์โลกได้เคยกล่าวไว้เมื่อ 100 ปีว่า มนุษย์มีปัญหาต้องแก้ 3 ข้อคือ การสร้างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจให้ดีที่สุด  สังคมมีความยุติธรรม และเสรีภาพบุคคล ซึ่งทั้ง 3 ข้อเป็นเรื่องที่ยากในการทำให้สำเร็จ  โดยเฉพาะประสิทธิภาพ และเสรีภาพที่ขัดกันอยู่ เช่น การป้องกันควบคุมโรคระบาด แต่เศรษฐกิจก็ต้องเดินหน้า

สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืนมี 3 ด้านที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสมัยตนอยู่อังค์ถัดได้ทำแผน MDGs (Millennium Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ   โดยกำหนดกรอบเวลาในการบรรลุไว้ 15 ปี คือ ระหว่างปี พ.ศ.2543 - 2558 (ค.ศ.2000 - 2015)มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน  จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) โดยจะใช้เป้าหมายนี้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนโลกไปจนถึง เดือนสิงหาคม พ.ศ.2573 (15 ปี) ซึ่ง SDGs ได้ยึดโยงระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป้าหมายออกเป็น 17 เป้าหมาย พัฒนาใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของ SDGs 

คำว่ายั่งยืน ไม่ได้หมายถึง เศรษฐกิจหมุนเวียนแต่ หมายถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ดีขึ้น ส่งต่อไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน ต่อไป ต่อเนื่องกันเรื่อยๆ เป็นโอกาสพัฒนาต่อ มีอากาศหายใจ มีทรัพย์สินในดิน น้ำ  และอยู่ต่อได้อย่างมีความสุข” ศุภชัย พานิชภักดิ์

นายศุภชัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยการดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน ต้องเริ่มทำใน 3 เรื่อง คือ 1.การเปลี่ยนแปลงแนวคิดของคนไทย โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งปรัชญานี้สหประชาชาติยอมรับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงสามารถพึ่งพาตนเองได้  ป้องกันตัวเองจากกระแสภายนอกที่ถาโถมเข้ามา พร้อมกับเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  ที่สำคัญเศรษฐกิจพอเพียงสอนให้เดินทางสายกลางเกิดความสมดุล ซึ่งตนอยากให้มีการบรรจุเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในหลักสูตรการศึกษาของไทย

 2.การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs  ที่มีจำนวน 17 เป้าหมาย ซึ่งได้เป็นกลไกเชื่อมโยงกันทั้งมิติสังคม (Social Dimension) มิติเศรษฐกิจ (Economic Dimension) และมิติสิ่งแวดล้อม (Environmental Dimension)เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน โดยมีมิติการบริหารจัดการทั้งการพัฒนาคน  สันติภาพ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การดูแลโลก และการมีส่วนร่วม  ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต้องทำตาม

 3.ทำตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580)  แต่บางคนก็มองเป็นเรื่องของการเมือง ซึ่งไม่ใช่ และตนก็มีส่วนร่วมในการทำยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยยุทธศาสตร์ชาติมีทั้งเรื่องของเกษตร ความเสมอภาค สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ซึ่งทุกอย่างจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมาย ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยก็จะล้อไปกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ เช่น ด้านสังคมก็จะมีแผนผูกไปยังการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพหรือยั่งยืน แผนการลดคาร์บอน เป็นต้น

 

พิสูจน์อักษรโดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์