“พลังงานสะอาด” จุดขายใหม่ของประเทศไทย

“พลังงานสะอาด”   จุดขายใหม่ของประเทศไทย

โลกใหม่หลังโควิด ย่อมนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายเพราะความเสียหายจากโควิดเตือนว่าเราจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ "พลังงานสะอาด" ก็เป็นของใหม่ที่จะเป็นจุดขายของประเทศไทยที่บทความนี้จะนำเสนอ

ในปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับวิกฤติ 2 เรื่องใหญ่ คือ โลกร้อน และ โรคระบาด ซึ่งเป็นวิกฤติที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วทุกมุมของโลก ทุกประเทศ ทุกคน ล้วนต้องรับผลร่วมกัน เจ็บร่วมกัน และจำเป็นที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ทุกคนรอดพ้นจากวิกฤติไปด้วยกัน

ปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนานจนมาถึงจุดวิกฤติ เกิดจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ ที่มาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การปล่อยก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะ การทำนาข้าว ฟาร์มปศุสัตว์ การใช้สาร CFC ในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม และภาคการขนส่ง

ทั่วโลกตระหนักว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัว จึงได้ร่วมมือกันตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านความตกลงต่างๆ ตั้งแต่การวางกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC) การลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เมื่อปี 2540 จนมาถึงความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2558 แต่ดูเหมือนว่า ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนยังไปได้ช้า

จนกระทั่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โลกถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ส่งผลให้ผู้คนเกิดความตระหนักถึงภัยใกล้ตัวมากขึ้น และอยากเห็นโลกใบนี้กลับมาสะอาด ปลอดภัย น่าอยู่ มีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน

ประเทศต่างๆ ได้ทยอยประกาศแนวทางการพัฒนาและแผนการลงทุนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนี้ เช่น ยุโรปได้ประกาศนโยบาย Green Deal ด้วยงบประมาณรวมกว่า 22 ล้านล้านบาท ในช่วงเวลา 7 ปี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี ค.ศ. 2030 ขณะที่ญี่ปุ่นประกาศใช้ Green Growth Strategy (GGS) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 ส่วนเกาหลีใต้ใช้นโยบาย Green New Deal พร้อมทุ่มงบประมาณกว่า 2 ล้านล้านบาท สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสีเขียว

สำหรับประเทศไทยเอง ในการประชุม COP26 รัฐบาลได้ตอกย้ำว่าจะบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero Greenhouse Gas Emission ภายในปี ค.ศ. 2065 พร้อมทั้งได้เตรียมแสดงศักยภาพด้าน BCG (Bio-Circular-Green Economy) และจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ชาวโลกได้เห็นในช่วงเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในปีหน้าด้วย

ความตื่นตัวในเรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่ในภาคธุรกิจ บริษัทชั้นนำทั่วโลกต่างก็ยึดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ รวมถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศ จึงเป็นเหตุว่า ที่ผ่านมา บริษัทใหญ่จำนวนมากเลือกแหล่งลงทุนโดยพิจารณาจากประเทศที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนป้อนให้ธุรกิจของตัวเองได้ หลายบริษัทตั้งเป้าหมายถึงขนาดที่ว่าในสถานประกอบการ จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) 100% หรือ RE 100

ประเทศที่มีความพร้อมด้านพลังงานสะอาดมีอยู่ไม่มาก และประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่หลายประเทศยังใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลัก แต่ไทยมีขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อป้อนภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือขยะชุมชน เพราะเรามีวัตถุดิบ มีเทคโนโลยี มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และมีการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยตั้งแต่ปี 2560 จนถึงเดือนกันยายน 2564 มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ 1,169 โครงการ เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท

จากนี้ไป “พลังงานสะอาด” จะกลายเป็นจุดขายสำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เข้าสู่ประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยอีกจำนวนมากด้วย

 

พิสูจน์อักษรโดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์