EIC เปิดทางรอด จากภาวะถดถอย ของอุตสาหกรรมข้าวไทย

EIC เปิดทางรอด จากภาวะถดถอย ของอุตสาหกรรมข้าวไทย

EIC พบ 3 สัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมข้าวไทยเผชิญกับภาวะถดถอยมาอย่างยาวนาน ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ความสามารถในการทำกำไรของผู้เล่นในอุตสาหกรรมข้าวมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ภาระหนี้สินครัวเรือนชาวนาพุ่ง

EIC เปิดทางรอด จากภาวะถดถอย ของอุตสาหกรรมข้าวไทย      3 สัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมข้าวไทยกำลังเผชิญภาวะถดถอย  

    ฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า อุตสาหกรรมข้าวถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อสังคมไทย ทั้งในแง่การสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศและการเป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือนชนบทกว่า 4.7 ล้านครัวเรือน อย่างไรก็ดี EIC พบว่ามี 3 สัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมข้าวไทยได้เผชิญกับภาวะถดถอยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมาดังนี้

      1. ส่วนแบ่งตลาดของข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2004เป็นต้นมา และลดลงไปอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 47 ปี ในปีที่ผ่านมา รูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดส่งออกข้าวโลกมีแนวโน้มค่อย ๆ ทยอยปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับปริมาณการค้าข้าวโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 

      โดยล่าสุดในปี 2020 ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดส่งออกข้าวโลกปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 12.6% ซึ่งถือเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ต่ำที่สุดในรอบ 47 ปี โดยหากพิจารณาข้อมูลเป็นรายตลาดจะพบว่า ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวในเกือบทุกตลาดยกเว้นเพียงทวีปอเมริกาเหนือ ตัวอย่างเช่น ภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยนั้น พบว่าส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยปรับลดลงจาก 28.3% ในปี 2002 มาอยู่ที่ 1.2% ในปี 2020 ซึ่งส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงอย่างมากดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจาก 10.1 ล้านตันในปี 2004 มาอยู่ที่ 5.7 ล้านตันในปี 2020หรือปรับตัวลดลง 43.6% สวนทางกับปริมาณการค้าข้าวในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 27.3 ล้านตันในปี 2004 มาอยู่ที่ 45.2 ล้านตันในปี 2020 หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 66.7% 

     นอกจากนั้น ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยที่ปรับตัวลดลง ยังส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยเติบโตในระดับที่ต่ำกว่าปริมาณการส่งออกข้าวของประเทศคู่แข่งอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2021 ปริมาณการส่งออกข้าวของอินเดียเติบโต 49.5%YOY ในขณะที่ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยที่เติบโตเพียง 2.2%YOY

     ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2004 และปรับตัวลดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 47 ปี ในปีที่ผ่าน โดยไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในเกือบทุกตลาด 

      2. ความสามารถในการทำกำไรของผู้เล่นในอุตสาหกรรมข้าวมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2009 สะท้อนได้จากสัดส่วนจำนวนผู้ประกอบการซึ่งมีผลประกอบการขาดทุนที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

      ตัวอย่างเช่น สัดส่วนจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจสีข้าวที่ขาดทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 12.7%ในปี 2009 มาอยู่ที่ 25.2% ในปี 2019 ยิ่งไปกว่านั้น อัตรากำไรสุทธิของธุรกิจสีข้าวและธุรกิจการขายส่งข้าว ยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย 

     เช่น อัตรากำไรสุทธิของธุรกิจสีข้าวโดยรวมปรับตัวลดลงจาก 0.7%ในปี 2009 มาอยู่ที่ -1.3% ในปี 2019 โดยในช่วงปี 2015–2019 อัตรากำไรสุทธิของธุรกิจโรงสีข้าวติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนในการขายมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ายอดขายค่อนข้างมาก กล่าวคือ ในช่วงปี 2015–2019 ต้นทุนในการขายปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.3% ในขณะที่ยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% 

   ความสามารถในการทำกำไรของผู้เล่นในอุตสาหกรรมข้าวมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่
ปี 2009 ในขณะที่ภาระหนี้สินของครัวเรือนชาวนามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2009

     3. ภาระหนี้สินของครัวเรือนชาวนามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2009 สะท้อนได้จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 33.8% ในปี 2009 มาอยู่ที่ 77.6% ในปี 2020 (รูปที่ 2) หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 43.8 เปอร์เซ็นเทจพอยต์ ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา

      ทั้งนี้ EIC พบว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่ก่อให้เกิดวงจรแห่งความถดถอยของอุตสาหกรรมข้าวไทย (รูป 3)มาจากการที่คู่แข่งต้นทุนต่ำก้าวเข้ามาแข่งขันในตลาดข้าวคุณภาพสูงของโลกในช่วงทศวรรษ 2000อนึ่ง ในช่วงทศวรรษ 1990 ประเทศผู้ผลิตข้าวต้นทุนต่ำอย่างอินเดียและเวียดนาม ได้เริ่มต้นส่งออกข้าวคุณภาพต่ำสู่ตลาดโลก

     โดยในช่วงเวลาดังกล่าวอุตสาหกรรมข้าวไทยปรับตัวโดยการลดการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำ เช่น ข้าวขาว 10-45% แล้วหันมาส่งออกข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวหอมมะลิและข้าวขาว 5% เพิ่มขึ้นแทน (รูปที่ 4) 

    ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวช่วยให้ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกไว้ได้ แม้จะมีต้นทุนการผลิตที่สูง และต่อมาในช่วงทศวรรษ 2000ประเทศผู้ผลิตข้าวต้นทุนต่ำอย่างกัมพูชาและเมียนมาหันมาส่งออกข้าวคุณภาพต่ำสู่ตลาดโลก 

      ส่งผลให้คู่แข่งต้นทุนต่ำอย่างอินเดียและเวียดนามจำเป็นต้องเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อหลีกหนีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดข้าวคุณภาพต่ำ จนสามารถก้าวเข้ามาแข่งขันในตลาดข้าวคุณภาพสูงได้ในที่สุด 

     สะท้อนได้จากสัดส่วนการส่งออกข้าวขาวคุณภาพสูงของเวียดนามที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 43.7% ในปี 2002 มาอยู่ที่ 87.8% ในปี 2020 หรือปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิของเวียดนามที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 3 พันตันในปี 2002 มาอยู่ที่ 1.8 ล้านตันในปี 2020(รูปที่ 4)

     ในช่วงทศวรรษ 1990 ไทยเริ่มลดการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำและหันมาส่งออกข้าวคุณภาพสูง และในช่วงทศวรรษ 2000 เวียดนามมีการเร่งพัฒนาตัวเอง จนสามารถก้าวเข้ามาแข่งขันในตลาดข้าวคุณภาพสูง

    การก้าวเข้ามาแข่งขันของคู่แข่งต้นทุนต่ำในตลาดข้าวคุณภาพสูงดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ซื้อข้าวในตลาดโลกมีทางเลือกมากขึ้นและทำให้ต้นทุนในการส่งมอบข้าวมีความสำคัญมากขึ้นต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อข้าวในตลาดโลกว่าจะเลือกซื้อข้าวจากแหล่งใด 

      ซึ่งจากการศึกษาของ EIC พบว่า ในตลาดการค้าข้าวโลกนั้น โดยปกติแล้วผู้ซื้อข้าวจะพิจารณาปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 3 ด้าน ในการตัดสินใจซื้อข้าว (รูปที่ 5) 

    ปัจจัยแรก คือต้นทุนในการส่งมอบสินค้า ซึ่งจะขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตข้าว ค่าขนส่ง อัตราแลกเปลี่ยน และภาษี ปัจจัยที่สอง คือความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ข้าวที่ปลูก คุณภาพและมาตรฐานของข้าว และปัจจัย

    ประการสุดท้าย คือความน่าเชื่อถือของอุปทาน ทั้งในแง่ความพอเพียงและความมั่นคงของสินค้าสำหรับส่งออก รวมไปถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ดี หรือมีผลผลิตข้าวนอกฤดูกาล เป็นต้น โดยเราพบว่าคู่แข่งต้นทุนต่ำประสบความสำเร็จในการยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ เหล่านี้

      ทั้งในแง่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ข้าว ความน่าเชื่อถือ
ของอุปทาน ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งภายในประเทศและการส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

     ในทางกลับกัน เราพบว่าอุตสาหกรรมข้าวไทยมีต้นทุนในการผลิตข้าวที่สูงกว่าคู่แข่งค่อนข้างมาก ส่งผลให้ผู้ซื้อข้าวในตลาดโลกหันไปซื้อข้าวจากประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น จนทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวโลก ทั้งนี้จากการสำรวจของคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในปี 2015 พบว่า ต้นทุนในการผลิตข้าวเปลือกของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าอินเดียและเวียดนาม ราว 21.4% และ 73.2% ตามลำดับ 

     ขณะที่สูงกว่าเมียนมาและกัมพูชาอยู่ราว 98.5% และ 205.6% ตามลำดับ (รูปที่ 6) โดยต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงกว่าคู่แข่ง ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ

    เช่น อัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนในการส่งมอบสินค้าของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง สะท้อนได้จากราคาส่งออกข้าวไทยที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งมาอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 7)  

      ซึ่งต้นทุนในการส่งมอบข้าว
ของไทยที่สูงกว่าคู่แข่งดังกล่าว ประกอบกับผู้ซื้อข้าวในตลาดโลกลดการให้ค่าพรีเมี่ยมกับข้าวไทยลง ส่งผลให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของไทยซึ่งมีความอ่อนไหวต่อราคาข้าวค่อนข้างมาก หันไปนำเข้าข้าวคุณภาพสูงจากประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามเพิ่มมากขึ้น (รูปที่ 7) 

     ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อข้าวในตลาดโลก

      อนึ่ง การที่ไทยสามารถส่งออกข้าวได้น้อยลง ส่งผลให้มีอุปทานส่วนเกินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มมากขึ้น และทำให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวลดลง ไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาข้าวของคู่แข่งในตลาดโลกทั้งนี้โดยปกติแล้ว 
ในแต่ละปี ไทยสามารถผลิตข้าวได้มากกว่าความต้องการบริโภคในประเทศอยู่ราว 30-50% ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งออกข้าวไปตลาดโลก เพื่อช่วยลดแรงกดดันของผลผลิตข้าวส่วนเกินในประเทศ

     แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไทยส่งออกข้าวได้น้อยลง แรงกดดันข้าวส่วนเกินในประเทศจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวลดลง จนไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาข้าวในตลาดโลก และทำให้ชาวนาซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมข้าวประสบภาวะขาดทุนหรือมีกำไรอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ ชาวนาควรเร่งปรับตัวเพื่อลดต้นทุน
การผลิต

      แต่เรากลับพบว่าชาวนาไทยมีขีดจำกัดหลายด้านในการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ เนื่องจากต้นทุนการผลิตข้าวเปลือก คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 80% ของต้นทุนในการแปรรูปข้าวสารเพื่อจำหน่าย ดังนั้น ต้นทุนการผลิตที่สูงดังกล่าว 

      จึงส่งผลกระทบต่อราคาขาย
และความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของข้าวไทย และทำให้ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นวังวนแห่งความถดถอยของอุตสาหกรรมข้าวไทยในที่สุด (รูปที่          

     ราคาส่งออกข้าวไทยที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของไทยหันไปนำเข้าข้าวจากประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยที่ลดลง

5 ขีดจำกัดสำคัญในการปรับตัวของชาวนาไทย 

ระบบต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมข้าวไทย

     EIC พบว่า ความสามารถในการปรับตัวของชาวนา เพื่อรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของระบบต่าง ๆ มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมข้าวไทย อุตสาหกรรมข้าวไทย มีความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจและสังคม ระบบนิเวศ ระบบภูมิอากาศ ระบบการค้าเคมีภัณฑ์การเกษตรโลก และระบบการค้าข้าวโลก (รูป 8) 

     ซึ่งบริบทแวดล้อมเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยในหลากหลายมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงในระบบการค้าข้าวโลกในช่วงทศวรรษ 2000 จากการเข้ามาแข่งขัน
ของผู้เล่นต้นทุนต่ำในตลาดข้าวคุณภาพสูง ส่งผลให้อุตสาหกรรมข้าวไทยต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน ซึ่งความสำเร็จในการปรับลดต้นทุนของอุตสาหกรรมข้าวไทยจะขึ้นอยู่กับความสามารถ
ในการปรับกระบวนการผลิตข้าวของผู้เล่นในอุตสาหกรรมต้นน้ำเป็นหลัก

      เนื่องจากต้นทุนข้าวเปลือกที่ผลิตโดยชาวนา คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของต้นทุนในการแปรรูปข้าวสารเพื่อขาย ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิอากาศและระบบนิเวศทางชีวภาพในปัจจุบัน ประกอบกับการระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโลกร้อนและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศอย่างจริงจัง 

     ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ นำเอามาตรฐานด้านความยั่งยืนมาใช้ในการเลือกซื้อสินค้าจากตลาดโลกมากขึ้น 

     ตัวอย่างเช่น ผลการสำรวจผู้ค้าปลีกในยุโรปของหน่วยงานมาตรฐานการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (Sustainable Rice Platform) ในปี 2021 พบว่า หนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมีแผนที่จะจัดซื้อข้าวที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน
การผลิตข้าวอย่างยั่งยืนคิดเป็นสัดส่วน 70% ของการจัดซื้อข้าวทั้งหมดภายในปี 2025 ดังนั้น อุตสาหกรรมข้าวไทย

     จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านความยั่งยืน ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าวของชาวนาเป็นหลักเช่นเดียวกันเนื่องจากกระบวนการเพาะปลูกข้าว 

     คือ กิจกรรมการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในห่วงโซ่มูลค่าข้าว สะท้อนได้จากข้อมูล
ของ Our World in Data ที่ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการเพาะปลูกข้าวมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 90% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในห่วงโซ่มูลค่าข้าวโลก 

     ดังนั้น ความสามารถในการปรับตัวของชาวนา เพื่อรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงจากระบบต่าง ๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมข้าวไทย

     อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยชาวนามีขีดจำกัดในการปรับตัวหลายด้าน จนส่งผลให้ชาวนาไทยปรับตัวช้า และมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมข้าวไทยติดอยู่ในวงจรแห่งความถดถอยดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดย EIC พบว่า ชาวนาไทยมี 5 ขีดจำกัดสำคัญในการปรับตัวดังต่อไปนี้

    1. ชาวนาไทยได้รับเงินทุนช่วยเหลือเพื่อพัฒนาจากต่างประเทศในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับชาวนา
ในประเทศคู่แข่ง โดยจากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าในช่วงปี 2000-2019 ไทยได้รับเงินทุนช่วยเหลือเพื่อพัฒนาภาคเกษตรจากต่างประเทศโดยเฉลี่ยเพียงปีละ 746 ล้านบาท แตกต่างจากอินเดียและเวียดนามที่ได้รับเงินทุนช่วยเหลือโดยเฉลี่ยปีละ 16,785 ล้านบาท 
และ 5,983 ล้านบาท ตามลำดับ 

     เนื่องจากอินเดียและเวียดนามมีรายได้ต่อหัวประชากร (GDP per capita) ที่ต่ำกว่าไทยค่อนข้างมากซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ไทยมีข้อจำกัดในการลงทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านต่าง ๆ 

     เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคหรือการพัฒนากระบวนการปลูกข้าวที่ช่วยลดต้นทุน เป็นต้น 

     ซึ่งการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการปรับตัวของชาวนาไทย

     2. งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวและนวัตกรรมในการผลิตข้าวของภาครัฐอยู่ในระดับต่ำ โดยจากข้อมูลพบว่างบประมาณส่วนใหญ่ในการแก้ปัญหาเรื่องข้าวของทุกรัฐบาล ถูกใช้ไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

      ตัวอย่างเช่น ในปีการผลิตข้าว 2021/2022 รัฐบาลจ่ายเงินส่วนต่างให้ชาวนาภายใต้โครงการประกันรายได้ไปแล้วกว่า 82,308 ล้านบาท ในทางตรงกันข้าม นโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวนาอย่างยั่งยืนกลับได้รับการจัดสรรงบประมาณในระดับต่ำ

    ตัวอย่างเช่น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ข้าวระยะ 5 ปี (2020–2024) รัฐบาลตั้งงบเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวไว้เพียง 455 ล้านบาทหรือปีละ 91 ล้านบาท และตั้งงบเพื่อใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าวไว้เพียง 329 ล้านบาทหรือปีละ 66 ล้านบาทเท่านั้น

     3. ชาวนาจำนวนมากเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำ น้ำ คือ หัวใจของการปลูกข้าว ถ้าไม่มีน้ำ ชาวนาก็ไม่สามารถปลูกข้าวได้ แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมชลประทาน พบว่า ในปี 2021 ไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานเพียง 24% แตกต่างจากเวียดนามที่มีพื้นที่ปลูกข้าวอยู่ในเขตชลประทานกว่า 89%

    โดยการที่พื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ของไทยอาศัยน้ำฝน ส่งผลให้ชาวนาไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ซึ่งเมื่อชาวนาไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ก็ส่งผลให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ที่ได้อยู่ในระดับต่ำ และขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้าอากาศเป็นหลัก  

     4. ชาวนาส่วนใหญ่มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็กนอกจากน้ำแล้ว ดิน คือ อีกหนึ่งทรัพยากรสำคัญในการปลูกข้าว

    โดยจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ในปี 2020 ชาวนาไทยมีที่ดินโดยเฉลี่ยเพียง 13.2 ไร่ต่อครัวเรือน โดยชาวนากว่า 9 แสนครัวเรือนหรือ 19.3% ของครัวเรือนชาวนาทั้งหมด มีที่ดินน้อยกว่า 5 ไร่ ในขณะที่อีก 1.3 ล้านครัวเรือนหรือ 28.4% ของครัวเรือนชาวนาทั้งหมดมีที่ดินอยู่ระหว่าง 5-10 ไร่

     ซึ่งการที่ชาวนามีที่ดินขนาดเล็ก ส่งผลให้ผลประโยชน์ที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับที่ต่ำ จนไม่มีแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลง นอกจากนั้น การที่ชาวนามีที่ดินขนาดเล็ก ยังส่งผลให้ประโยชน์
ทางเศรษฐกิจที่ได้จากการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมข้าวอยู่ในระดับต่ำอีกด้วย ส่งผลให้ชาวนาต้องหันไปทำอาชีพเสริมอื่น ๆ จนไม่มีเวลามาใส่ใจในการพัฒนากระบวนการผลิตข้าวเท่าที่ควร

    5. ชาวนาไทยส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ สะท้อนได้จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2020 
ที่เปิดเผยว่า 23.4% ของหัวหน้าครัวเรือนเกษตรทั้งประเทศมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 65 ปี ในขณะที่อีก 29.1% มีอายุเฉลี่ยระหว่าง 56–65 ปี ซึ่งการที่ชาวนามีอายุมากขึ้น ประกอบกับการมีที่ดินขนาดเล็ก จนไม่คุ้มที่จะลงทุนซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้เอง ส่งผลให้ชาวนาไทยส่วนใหญ่ต้องจ้างแรงงานและเครื่องจักรกลในการทำนาแบบครบวงจร ตั้งแต่การเตรียมแปลงจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว

    ดังนั้น ชาวนาจึงมีขีดจำกัดในการลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากชาวนาเป็นเพียงผู้ซื้อบริการจากตลาดผู้รับจ้างในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าว เช่น ตลาดรถรับจ้างเกี่ยวข้าว หรือตลาดแรงงานรับจ้างฉีดยาและใส่ปุ๋ย เป็นต้น 

7 แนวทางในการลงทุนเพื่อช่วยปลดล็อกขีดจำกัดในการปรับตัวของชาวนาไทย 

    ราคาข้าวในตลาดโลกยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ จากแรงกดดันของสต็อกข้าวโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง 

     การหยุดวงจรแห่งความถดถอยของอุตสาหกรรมข้าวไทย คือ วาระเร่งด่วนที่ผู้เล่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในอุตสาหกรรมข้าวจะต้องร่วมมือกันแก้ไข เนื่องจากหากปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะส่งผลให้อุตสาหกรรมข้าวไทยยิ่งถดถอยลงไปเรื่อย ๆ และงบประมาณของภาครัฐที่ใช้เพื่ออุดหนุนชาวนาก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน

     โดย EIC คาดการณ์ว่า ในระยะ 1–3 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะมีภาระในการจ่ายเงินส่วนต่างให้ชาวนาภายใต้โครงการประกันรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2022–2025 ราคาข้าวในตลาดโลกจะยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากแรงกดดันของสต็อกข้าวโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง (รูป 9)

    อนึ่ง EIC มองว่า การช่วยปลดล็อกขีดจำกัดในการปรับตัวของชาวนา คือ หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมข้าวไทยหลุดจากวงจรแห่งความถดถอยรวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน

    โดย EIC ขอเสนอ 7 แนวทาง
ในการลงทุนโดยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชาวนา เพื่อช่วยปลดล็อกขีดจำกัดของชาวนาไทยดังต่อไปนี้ 

    1. การลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านข้าวที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวนาไทย การขาดงบลงทุนวิจัยและพัฒนา มีส่วนทำให้ศักยภาพในการผลิตข้าวของชาวนาไทยเติบโตในระดับต่ำ 

     โดยในช่วงปี 1985–2020 ผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเพียงปีละ 0.8% แตกต่างจากผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาอินเดียและเวียดนามที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 1.8% และ 2.1% ตามลำดับ 

     ซึ่งการที่ผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาไทยเติบโตในระดับต่ำ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าชาวนาประเทศคู่แข่งค่อนข้างมาก อีกทั้ง
ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของชาวนาในภูมิภาคเอเชียถึงกว่า 46.2% (รูปที่ 10) ปัญหาดังกล่าวสะท้อนถึงโอกาสในการลงทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตข้าวของชาวนาไทยให้ทัดเทียมกับคู่แข่ง 

   ซึ่งจากการศึกษาของศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลีย พบว่าการลงทุนวิจัยและพัฒนาของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute) เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้แก่ชาวนาเวียดนาม มีส่วนช่วยให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาเวียดนามในพื้นที่ภาคใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 1.2% ในช่วงปี 1985–2009 

      โดยEIC มองว่า ภาครัฐยังมีศักยภาพในการลงทุนเพิ่ม ผ่านการโยกเงินอุดหนุนชาวนาที่ใช้เงินมากกว่าปีละหนึ่งแสนล้านบาท มาลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านข้าวเพิ่มขึ้นแทน

     ทั้งนี้รูปแบบการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมข้าวในประเทศออสเตรเลีย เป็นหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ กล่าวคือ ในแต่ละปี อุตสาหกรรมข้าวของออสเตรเลียจะได้เงินวิจัยมาจาก 1) การสมทบเงินของชาวนาตามปริมาณผลผลิตข้าว 

     2) การสมทบเงินของภาครัฐในจำนวนที่เท่าเทียมกับการสมทบ
ของชาวนา และ 3) การสมทบของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยเงินทุนวิจัยและพัฒนาที่ได้มา 
จะถูกนำไปใช้วิจัยในประเด็นสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวนาและช่วยให้อุตสาหกรรมข้าวออสเตรเลียสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น เงินทุนวิจัยดังกล่าวยังถูกนำไปใช้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมนำผลการวิจัยที่ได้ไปประยุกต์ใช้จริ

ผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าชาวนาประเทศคู่แข่งค่อนข้างมากและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของชาวนาเอเชียและชาวนาโลก

    2. การลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับชาวนาไทยทุกครัวเรือน น้ำ คือ หัวใจสำคัญในการทำการเกษตร โดยหากชาวนามีความมั่นคงด้านน้ำ ก็จะช่วยให้ 1) ชาวนาสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ได้ ผ่านการจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของต้นข้าว

     2) ชาวนาสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาลงได้ผ่านการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง 3) ชาวนาสามารถลดต้นทุนในการใช้สารเคมีลงได้ ผ่านการใช้น้ำเพื่อกำจัดวัชพืชทดแทนการใช้สารเคมี 

    และ 4) ชาวนาสามารถหันไปปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ที่มีมูลค่าสูงได้ โดยปัญหาสำคัญในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย คือ น้ำมักจะมาไม่ถูกที่ถูกเวลา ดังนั้น จึงต้องมีการลงทุนสร้างระบบในการกักเก็บน้ำและระบบในการกระจายน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ 
เป็นแนวทางหนึ่งในการลงทุนที่น่าสนใจในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย

     3. การลงทุนสร้างเครือข่ายความร่วมมือขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม จะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อชาวนามีการนำนวัตกรรมใหม่ไปใช้อย่างกว้างขวาง

     แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมชาวนาเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับครัวเรือนชาวนามากถึงกว่า 4.7 ล้านครัวเรือนดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือขนาดใหญ่ ที่ประกอบไปด้วยชาวนา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวซึ่งโมเดลการยกระดับผลิตภาพเกษตรกรของประเทศจีน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ 

     โดยในช่วงปี 2005–2015 นักวิจัยในมหาวิทยาลัยของจีนได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือขนาดใหญ่ ที่ประกอบไปด้วย ตัวแทนภาคเอกชนจำนวน 138,530 คน เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐจำนวน 65,420 คน นักวิทยาศาสตร์ นักเรียน นักศึกษา จำนวน 1,152 คน 

     โดยเครือข่ายนี้ได้เข้าไปทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรให้สอดคล้องกับลักษณะของชุดดิน สภาพดินฟ้าอากาศและความต้องการของพืช 

     เช่น การใส่ปุ๋ยในระดับที่เหมาะสมกับความต้องการของต้นข้าว เป็นต้น โดยหลังจากที่เครือข่ายนี้ได้ดำเนินกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์และการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับเกษตรกรมากกว่า 14,000 ครั้ง ในช่วงเวลา 10 ปี เครือข่ายนี้ก็ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกของเกษตรกรได้ถึง 20.9 ล้านราย

     ซึ่งการเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกอย่างเดียวสามารถช่วยให้เกษตรเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 10.8–11.5% และช่วยลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลงได้ถึง 14.7–18.1% 

    4. การลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกขีดจำกัดของชาวนา 

     ตัวอย่างเช่น การลงทุนเก็บข้อมูลจากแปลงนา เช่น สภาพดิน สามารถนำมาสร้างแบบจำลองการเติบโตของข้าว เพื่อจัดทำคำแนะนำการผลิตข้าวที่จะช่วยให้ชาวนาได้ผลผลิตต่อไร่สูงที่สุด หรือ การสร้างแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้ชาวนารวมกลุ่มกัน เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตและบริการรับจ้างที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวจะช่วยให้ชาวนาสามารถต่อรองราคาปัจจัยการผลิตและค่าบริการที่ถูกลงได้ 

     นอกจากนั้น การลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาศาสตร์ข้อมูล ยังเป็นการช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ที่หลากหลายให้กับชาวนาไทย

      ตัวอย่างเช่น การลงทุนเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว จะช่วยให้ชาวนาสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ เป็นต้น 

    โดยภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาศาสตร์ข้อมูลไปให้บริการชาวนา เนื่องจากชาวนาไทยมีที่ดินขนาดเล็ก ส่งผลให้ประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนนำเทคโนโลยีมาใช้อยู่ในระดับต่ำ จนไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนด้วยตนเอง 

     ดังนั้น การลดต้นทุนของการใช้เทคโนโลยีผ่านการใช้บริการจากผู้รับจ้าง จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ชาวนาเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ซึ่งภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบนิเวศ ที่จะช่วยให้ผู้รับจ้างในกิจกรรมที่เกี่ยวของกับการผลิตข้าวทั้งในปัจจุบันและในอนาคต สามารถลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาศาสตร์ข้อมูลไปให้บริการชาวนาได้

     5. การลงทุนสร้างห่วงโซ่มูลค่าสินค้าแปรรูปขั้นสูงจากข้าวและของเหลือจากการผลิตข้าว การเพิ่มศักยภาพในการผลิตข้าวของชาวนา จะกดดันให้ราคาข้าวปรับตัวลดลง หากไม่มีการสร้างตลาดเพื่อรองรับผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น 

    ดังนั้น การลงทุนสร้างห่วงโซ่มูลค่าสินค้าแปรรูปขั้นสูงจากข้าว เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารปศุสัตว์ ขนม เครื่องดื่มแอลกอฮอร์ เอทานอล และไบโอพลาสติก เป็นต้น เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวของชาวนา 

    นอกจากนั้น การสร้างห่วงโซ่มูลค่าสินค้าแปรรูปขั้นสูงจากของเหลือจากการผลิตข้าว เช่น การนำฟางข้าวมาทำเป็นชีวมวลและปุ๋ยชีวภาพ จะช่วยลดการเผาฟางข้าวและช่วยสร้างรายได้ใหม่ให้กับชาวนา 

     6. การลงทุนสร้างห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรมูลค่าสูงอื่น ๆ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ทั้งนี้ปัจจุบันชาวนาได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมข้าวในระดับต่ำ เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ของไทยมีที่ดินทำกินขนาดเล็ก

     ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้กับชาวนา โดยภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการเข้าไปสร้างห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรมูลค่าสูงอื่นๆ เช่น ผักและผลไม้ กับชาวนาไทย

    7. การลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตลาดข้าวและตลาดปุ๋ยภายในประเทศ EIC พบว่า ต้นทุนของค่าการตลาดหรือต้นทุนในการนำสินค้าไปสู่มือผู้บริโภคของการค้าข้าวเปลือกและการค้าปุ๋ยเคมีในไทยอยู่ในระดับสูง โดยจากรูปที่ 11 เราจะพบว่า ในช่วงปี 2016–2020 ต้นทุนค่าการตลาดข้าวเปลือกหอมมะลิในประเทศที่สูง ส่งผลให้ชาวนาได้รับราคาข้าวต่ำกว่าราคาที่ผู้บริโภคภายในประเทศจ่ายถึง 30.0%

      แตกต่างจากต้นทุนค่าการตลาดข้าวเปลือกหอมมะลิส่งออกที่ทำให้ชาวนาได้รับราคาต่ำกว่าราคา
ที่ผู้นำเข้าจ่ายเพียง 13.8% ในทำนองเดียวกัน ต้นทุนค่าการตลาดปุ๋ยยูเรียในประเทศส่งผลให้เกษตรกรต้องจ่ายค่าปุ๋ยแพงขึ้น 38.0% จากราคานำเข้า 

    ดังนั้น การลงทุนเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าการตลาดลง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งหรือเครื่องจักรกลในการผลิต จะสามารถช่วยให้ราคาข้าวที่ชาวนาได้รับปรับตัวสูงขึ้นและราคาปุ๋ยเคมีปรับตัวลดลงได้ 

ต้นทุนค่าการตลาดหรือต้นทุนในการนำสินค้าไปสู่มือผู้บริโภค ของการค้าข้าวเปลือกและการค้าปุ๋ยเคมีในประเทศอยู่ในระดับที่สูง

      กล่าวโดยสรุป ผลการศึกษาและวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าการที่อุตสาหกรรมข้าวไทยไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดข้าวโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมข้าวไทยต้องเผชิญกับภาวะถดถอย

      โดยการช่วยปลดล็อกขีดจำกัดในการปรับตัวของผู้เล่นในอุตสาหกรรมต้นน้ำหรือชาวนา จะเป็นทางออกสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมข้าวไทยหลุดพ้นจากวงจรแห่งความถดถอย รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน