‘โรเบิร์ต วอลเทอร์ส’ เผยจ้างงาน อีอีซี สาขา ‘อีวี’ ดาวรุ่งเงินเดือนพุ่ง 30%

‘โรเบิร์ต วอลเทอร์ส’ เผยจ้างงาน อีอีซี  สาขา ‘อีวี’ ดาวรุ่งเงินเดือนพุ่ง 30%

"โรเบิร์ต วอลเทอร์ส"​ เผยแนวโน้มการจ้างงานในปี 2564 กลับมามีทิศทางที่ดีขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อยลง การจ้างงานในภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกยังคงอยู่ในทิศทางที่ดีต่อเนื่อง ผลสำรวจระบุจ้างงานสาขาอีวีเงินเดือนพุ่ง

"บริษัทโรเบิร์ต วอลเทอร์ส"​ ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลกได้เปิดเผยผลสำรวจเงินเดือนและแนวโน้มการจ้างงานปี 2565 ของประเทศไทย พบว่าการจ้างงานของบริษัทต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และ “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก" (อีอีซี) เริ่มจะฟื้นกลับมาในปี 2564 หลังจากที่หยุดชะงักไปในช่วงปี 2563 โดยสาขาการผลิตที่มีการเติบโตต่อเนื่อง มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะสอดคล้องกับนโยบายรัฐ และการทำงานหลังโควิด-19 มากขึ้น  

นัฐติยา ซอล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ซัพพลายเชน และวิศวกรรม และสาขา อีสเทิร์น ซีบอร์ด บริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ​ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดแรงงานในอีอีซีได้รับประโยชน์จากการยย้าย และขยายฐานการผลิตจากประเทศที่มีข้อจำกัดในเรื่องการผลิต สงครามการค้า รวมทั้งการกระจายฐานการผลิตมายังประเทศไทย 

สำหรับแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ชัดเจนอย่างการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นที่ต้องการมาก เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่เริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมให้มีรถ EV ในประเทศ 30% ในปี 2030 ทำให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนี้หากพิจารณานโยบายของค่ายรถยนต์รายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทยยังคงฐานการผลิตในไทย และมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนการผลิต รวมทั้งเพิ่มไลน์การผลิตรถ EV นอกจากโรงงานการผลิตต่างๆจะมีการอบรมเพิ่มทักษะ และปรับการผลิตบางส่วนจากรถยนต์สันดาปเป็นรถ EV ทำให้แรงงานที่มีทักษะความรู้ทั้งการผลิตรถยนต์แบบเดิม โดยอุตสาหกรรม EV เป็นที่ต้องการมาก และเริ่มมีการพยายามดึงตัวแรงงานในตลาด ซึ่งมีคุณสมบัติดังกล่าวโดยเสนอผลตอบแทนสูงขึ้นกว่าที่เดิม 10-30% 

“โดยปกติแล้วในตำแหน่งงานที่เป็นผู้จัดการโรงงานหรือผู้จัดการที่ดูแลสายการผลิตรถยนต์เงินเดือนเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 80,000 บาทต่อเดือน หากมีการย้ายบริษัทสามารถที่จะเรียกเงินเดืิอนเพิ่มได้ไม่ต่ำกว่า 10% แต่สำหรับแรงงานในระดับนี้หากมีทักษะผ่านการอบรมเรื่องเกี่ยวกับรถ EV มาแล้วจะเป็นที่ต้องการของบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกัน กรณีย้ายบริษัทสามารถเรียกเงินเดือนเพิ่มได้ 10-20% ของฐานเงินเดือนเดิม รวมทั้งจะได้ข้อเสนอเรื่องสิทธิประโยชน์ สวัสดิการอื่นๆเพื่อจูงใจให้ไปทำงานที่ใหม่ด้วย” 

นัฐติยา กล่าวต่อว่าผลการสำรวจที่เกี่ยวข้องกับอีอีซียังมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาขาวิศวกรรมและภาคการผลิต (Engineering & Manufacturing) ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของพื้นที่อีอีซีพบว่าตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในปี 2565 3 อันดับแรกได้แก่

‘โรเบิร์ต วอลเทอร์ส’ เผยจ้างงาน อีอีซี  สาขา ‘อีวี’ ดาวรุ่งเงินเดือนพุ่ง 30%

1.ผู้จัดการส่วน Continuous Improvment หรือ Lean Manager  ซึ่งดูแลเรื่องของความต่อเนื่องในภาคการผลิต ช่วยลดต้นทุน ความสูญเสีย ช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่องค์กรให้ความสำคัญในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องการความต่อเนื่องของการผลิตด้วยความคุ้มค่ามากที่สุด 

2.Head of Engineering / Automation Lead โดยตำแหน่งนี้มีบทบาทในการผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในภาคการผลิตขององค์กรมากขึ้น ซึ่งตำแหน่งนี้ในปัจจุบันจะเป็นผู้บริหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีการผลิต และมีทักษะในการบริหารจัดการ

3.Product Development / R&D Manager เป็นตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการมาก มีค่าตอบแทนที่สูง เนื่องจากในปัจจุบันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการวิจัยสินค้าต่างๆจะต้องมีการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าทั้งบุคคลและองค์กร 

พบว่าจากการสำรวจพนักงานในสาขา Engineering & Manufacturing  สิ่งที่พนักงานต้องการมากที่สุด 3 อันดับได้แก่

1.ความท้าทายและความน่าสนใจของงานที่ทำ 

2.ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดี

3.รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น 

นอกจากนั้นจากผลการสำรวจยังพบว่า 82% ของพนักงานมักจะมองหางานใหม่ในปี 2565 และมีจำนวน 78% ที่คาดหวังว่าจะมีการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากปี 2564 

สำหรับอีกตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตในพื้นที่อีอีซีคือสาขาที่เกี่ยวกับซัพพายเชนในภาคการผลิต คือตำแหน่ง "Head of Supply Chain" ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานมากเช่นกัน โดยหากเป็นการโยกย้ายสถานที่ทำงานไปยังบริษัทอื่นๆที่ไม่ใช่บริษัเดิมสามารถเรียกเงินเดือนเพิ่มเติมได้ประมาณ 20-25% 

ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย  กล่าวว่าแนวโน้มการจ้างงานของไทยในภาพรวมปี 2564 ในประเทศไทยเป็นการฟื้นตัวแบบช้าๆเนื่องจากการระบาดในช่วงแรกยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการผลิต ในทางตรงกันข้าม ภาคเทคโนโลยีและดิจิทัล ได้มีการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกอุตสาหกรรมและพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดและนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจในยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ตลาดแรงงานมีการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการตลาดดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวยังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) การผลิต ซัพพลายเชนและวิศวกรรม ขณะที่การควบรวมกิจการของบริษัทต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้การจ้างงานในระดับบริหารเปิดกว้าง โดยผู้ว่าจ้างมีความต้องการผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในทางบริหาร มีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี และมีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง 

สำหรับทิศทางการจ้างงานในปี 2565 การทำงานแบบในออฟฟิศจะถูกให้ความสำคัญน้อยลง แต่จะเน้นรูปแบบการทำงานจากระยะไกลไกล (Remote working) ที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้มากขึ้นควบคู่ไปกับการทำงานที่สำนักงานที่จะยังคงมีอยู่แต่จะลดบทบาทลง 

ความต้องการในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลจะมีเพิ่มมากขึ้น โดยตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในด้านเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ การขายและการตลาด รวมไปถึงตำแหน่งที่ผู้สมัครสามารถใช้ทักษะของตนได้โดยไม่ต้องมีการฝึกอบรมใดๆ จะเรียกเงินเดือนที่สูงได้ การปรับตัวของเงินเดือนในปี 2565 ยังคงสอดคล้องกับปีก่อนหน้าที่ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ จะอิงตามความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ขณะที่พนักงานจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “วัฒนธรรมองค์กร” ควบคู่ไปกับผลตอบแทน สวัสดิการ และความมั่นคงในอาชีพ​