EA หวังรัฐดันรถเชิงพาณิชย์ หนุนไทยผงาด ‘ฮับอีวีเอเชีย’

EA หวังรัฐดันรถเชิงพาณิชย์  หนุนไทยผงาด ‘ฮับอีวีเอเชีย’

“อีเอ” หวังรัฐบาลสนับสนุนรถเชิงพาณิชย์เป็นรถไฟฟ้า เชื่อทำได้เร็วกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล หนุนประเทศไทยขึ้นเป็น “ดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย สำหรับอีวีฮับ” ได้เร็วขึ้น 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า  ส่วนตัวมองว่ารถเชิงพาณิชย์เป็นรถที่เหมาะจะเป็นรถไฟฟ้า เพราะเป็นรถที่ใช้งานเยอะ ซึ่งหากเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์เชิงพาณิชย์ไฟฟ้า เมื่อใช้เยอะต้นทุนยิ่งถูกลง และยังเป็นการช่วยลดมลภาวะทางอากาศ PM 2.5 โดยหากเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าเชื่อว่า จะทำให้ PM 2.5 ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าเร็วเท่าไหร่ จะทำให้สิ่งแวดล้อมของประเทศดีขึ้นเร็วเท่านั้น

 สำหรับอุตสาหกรรมรถเชิงพาณิชย์ไฟฟ้า จะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับการสนับสนุน และความชัดเจนจากภาครัฐว่า จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมนี้เกิด เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลยังมุ่งเน้นรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล ซึ่งการทำรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลให้ได้ขนาดเศรษฐกิจ (อีโคโนมี ออฟ สเกล) จะต้องใช้เวลา แล้วอาจจะมีอุปสรรค เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล อาจขัดกับอุตสาหกรรมรถยนต์หลักของประเทศไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถเชิงพาณิชย์เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยยังไม่เก่ง แต่ถ้าได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ จะทำให้ประเทศไทยได้โปรดักส์ แชมเปียนตัวใหม่ได้อีโคโนมี ออฟ สเกล และเป็นฐานอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถไฟฟ้าเกิดขึ้นในประเทศ ทำให้อุปกรณ์ชิ้นส่วนของรถเชิงพาณิชย์ไฟฟ้าไปส่งเสริมให้รถยนต์บุคคลที่ประเทศไทยเป็น ดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย สามารถเปลี่ยนเป็น “อีวี ฮับ” หรือ ดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย สำหรับรถอีวีได้อย่างแข็งแรงและเข็งแกร่ง

ดีทรอยต์เอเชีย “อีวี” 

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า ยุทธศาสตร์นี้ถ้ารัฐบาล มุ่งเน้นด้านนี้จะทำให้ระยะเวลาการที่เราเป็น ดีทรอยต์ ออฟ เอเชียสำหรับอีวี ฮับ จะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว 

นายสมโภชน์ กล่าวว่า  จากที่โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ที่ดำเนินการโดยบริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด (AAB) จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในอีก 1 เดือนข้างหน้า  โดยงยุทธศาสตร์ของบริษัท เน้นประกอบรถเชิงพาณิชย์ไฟฟ้า เช่น รถบัสไฟฟ้า ,รถเทเลอร์ , รถ 10 ล้อ, รถ 6 ล้อ ,รถ 4 ล้อ  โดยโรงงานนี้มีกำลังการประกอบรถไฟฟ้าที่เต็มกำลังการผลิตที่ 6,000-8,000 คันต่อปี  ซึ่งทางบริษัทจะมีการทำแบรนด์รถเชิงพาณิชย์ไฟฟ้าของตัวเองด้วย

โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ากลุ่มหนึ่งในการสั่งซื้อ (ออเดอร์) ซื้อรถไฟฟ้า ซึ่งหากบริษัทได้รับคำสั่งซื้อ จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานแบตเตอรี่ ลิเทียม ไอออน เป็น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี จากปัจจุบันที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

คาดว่า จะมีความชัดเจนภายใน 12 เดือนจากนี้ ปัจจุบันบริษัทมีคำสั่งซื้อรถเชิงพาณิชย์ไฟฟ้าแล้วอย่างน้อยจำนวน 500 คัน ในปีหน้า ซึ่งผลิตแล้ว 120 คัน จะส่งมอบปีนี้ 60-70 คัน

นอกจากนี้ จากการที่ประเทศไทยมีการสนับสนุนรถอีวี เชื่อว่า อนาคตรถบัสไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีการจดทะเบียนที่ 1.3 ล้านคัน ก็จะเปลี่ยนมาเป็นรถบัสไฟฟ้า  หนุนธุรกิจด้านการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า และความต้องการใช้แบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มองว่าหากอุตสาหกรรมรถเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นจะทำให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่สูงมาก เกิดกำลังผลิตของโรงงานแบตเตอรี่ของบริษัทที่มีแผนการก่อสร้างได้ที่ 50  กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ถึง 10  เท่า

“ ปัจจุบันประเทศไทยมีรถบัสไฟฟ้าจำนวน 1.3 ล้านคัน ซึ่งในที่สุดจะต้องเปลี่ยนมาเป็นรถบัสไฟฟ้า ทำให้มีความต้องการใช้แบตเตอรี่ 200-500 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งสูงกว่ากำลังผลิตของบริษัทถึง 10 เท่า ซึ่งบริษัทเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี แต่จุดสำคัญจะต้องมีการสนับสนุนรถยนต์เชิงพาณิชย์ไฟฟ้า จากรัฐบาล เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้เกิด”

เร่งขยายสถานีชาร์จ

ส่วนเรื่องแผนการขยายสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในปีหน้า บริษัทจะขยายอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะโรงงานแบตเตอรี่ของบริษัทเสร็จแล้ว คาดว่า ปีหน้าจะมีสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มเป็นระดับ 1,000 สถานี จากปัจจุบันที่มี ประมาณ 500 สถานี  มีหัวชาร์จ จำนวน 1,660 หัวชาร์จ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์)ประมาณ 50% แต่ถ้าอยู่ในชุมชนเมือง มีมาร์เก็ตแชร์ อยู่ที่ 70-75%

   

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์