“WHA” ย้ำปี 2565 โลจิสติกส์โต 5G หนุนระบบออโตเมติกเสริมแกร่งธุรกิจ

“WHA” ย้ำปี 2565 โลจิสติกส์โต 5G หนุนระบบออโตเมติกเสริมแกร่งธุรกิจ

“WHA” ย้ำปี 2565 โลจิสติกส์เติบโต 5G หนุนระบบออโตเมติกเข้ามาเพิ่มกระบวนการผลิตลดต้นทุน เล็งนำรถอีวีทรัคส์ เข้ามาเสริมในคลังสินค้าตามเทรนด์ลดโลกร้อน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวเสวนา “ส่องหุ้นไทย 2022 ลงทุนรับเปิดประเทศ” ในหัวข้อ "INSIGHT… หุ้นมหาชน” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า โอกาสและความท้าทายธุรกิจในปี 2565 คือ จะเห็นการเติบโตของโลจิสติกส์ที่มีการขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยจากการที่โควิด-19 ระบาด ทำให้ 95% ของแต่ละองค์กรต้องปรับตัว เทรนด์การใช้ระบบออโตเมติกเข้ามามากขึ้น ดังนั้น กลุ่มบริษัทต่างชาติจะเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น

นอกจากนี้ ด้วยเทรนด์การลดโลกร้อนที่กำลังเป็นกระแสทั่วโลก การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ถือว่าสำคัญ ทางกลุ่ม WHA จะมีการใช้รถอีวีทรัคส์ เข้ามาในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มบริษัท ได้มีการใช้ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นกับคลังสินค้ามาโดยตลอด ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิก ปัจจุบันมีพื้นที่บริหารทั้งสิ้น 2.66 ล้านตารางเมตร มีลูกค้ามากกว่า 200 ราย ครอบคลุม 41 พื้นที่ 

“การเข้ามาของดิจิทัล ดิสรัปชั่น เป็นสิ่งที่เราไม่เคยกลัว เพราะเราเตรียมตัวมาตลอด สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้การเข้ามาสู่การทรานส์ฟอร์เมชั่น ทั้งการใช้รถยนต์EV เพราะ Net Zero ก็เป็นเทรนด์ เพื่อให้กลุ่มลูกค้าระดับโกลบอลซื้อหุ้น ถ้าทำได้จะลดต้นทุนได้ทั้งประเทศไทย”

นอกจากนี้ บริษัทเล็งเห็นการใช้เทคโนโลยีมาโดยตลอด โดยเมื่อ 5 ปีก่อน มองว่าจะเอามาช่วยเพิ่มศักยภาพในการขยายธุรกิจ เนื่องจากบริษัท มีอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยี 5G เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มธุรกิจ หลักคือ 1. ธุรกิจโลจิสติกส์ ในอนาคตจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ 2. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีการปรับโครงสร้างพื้นฐานภายในนิคมให้พร้อมรับการเติบโตของเทคโนโลยี

3. ธุรกิจพลังงาน มีการพัฒนาเป็น Smart Energy ติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพราะลูกค้าต้องใช้พลังงานกว่า1,000 เมกะวัตต์ โดยทำข้อตกลงร่วมกับการไฟฟ้าเพื่อขายพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้ และมีการทำ sand box เรื่องการแลกเปลี่ยนพลังงานทำให้ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้และผู้ขายพลังงาน และ 4. ธุรกิจสาธารณูปโภค พัฒนาให้เป็น Smart Utility โดยทำเป็น sandbox เพื่อใช้งานในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น  

“เราเรียกว่าดิจิทัล อินโนเวชั่นตั้งแต่ปี 2017 คิดเสมอว่า จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาใส่อย่างไร ให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ เราแข็งแกร่งที่สุดทั้งไทย และเซาท์อีสต์เอเชีย จึงได้จับมือกับกลุ่มสตาร์ทอัพ การทำดาต้าต่างๆ จึงสำคัญเพื่อนำข้อมูลมาทำธุรกิจใหม่ในปีต่อไป โควิด-19 เราได้รับผลกระทบติดลบเล็กน้อย แต่ปีนี้จะเติบโตอย่างโดดเด่นมองที่ 20-30% ตั้งเป้าหมาย ทูเดอะซันปี 2567”

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์