เปิดประเทศดึงธุรกิจนิคมฯโต ธุรกิจแห่ลงทุนใน EEC

เปิดประเทศดึงธุรกิจนิคมฯโต ธุรกิจแห่ลงทุนใน EEC

เปิดประเทศหนุนยอดจองนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี เปิดโอกาสนักลงทุนบินมาดูพื้นที่ กนอ. เผยสมาร์ท ปาร์ค เตรียมเปิดใช้งาน ปี 67 รวมปี 64 เซ็นสัญญาร่วมเอกชนตั้ง 4 นิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี ขยายพื้นที่นิคมฯเดิมอีก 3 แห่ง รวมพื้นที่ว่างลงทุนกว่า 36,552 ไร่

นับถอยหลังอีก 8 วัน ตามที่รัฐบาลได้ประกาศแผนเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน เรียกได้ว่าเป็นแรงกระตุ้นทางบวกชั้นดีให้แก่ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งธุรกิจการนิคมอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในผู้ได้รับอานิสงค์ เมื่อนักลงทุนเดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว เปิดโอกาสให้เข้ามาดูพื้นที่และตัดสินใจลงทุนในไทยได้สะดวกขึ้น

การนิคมอุตสาหกรรมประเทศไทย (กนอ.) เผยว่า แนวโน้มเอกชนลงทุนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 37 แห่ง พื้นที่รวม 121,731 ไร่ ด้านยอดขายและเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย. 64) รวม 932.4 ไร่ ทั้งนี้ การลงทุนมีการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ไทยต้องรับผลกระทบและคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะลากยาวออกไป

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ปีหน้าธุรกิจที่จะมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างชัดเจนคือการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศไทยและในเวียดนามที่เตรียมจะมีการเปิดนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามเพิ่มอีก 2 แห่งบนพื้นที่ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นไร่ โดยในปีหน้าคาดว่ายอดขายที่ดินจะเติบโต 20 – 30% ทั้งในไทยและเวียดนาม ซึ่งการเติบโตมาจากความชัดเจนในการเปิดประเทศตั้งแต่ในวันที่ 1 พ.ย.2564 การย้ายฐานการผลิตเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในไทยและเวียดนามยังมีความต่อเนื่อง โดยล่าสุดเริ่มมีกระแสการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่เกิดขึ้น

สุรัช พัฒนวงศ์ยืนยง ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ PIN เผยว่า กลุ่มลูกค้าของโครงการ PIN 1 2 และ 3 จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประเภท SME ซึ่งกว่า 70% เป็นนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ส่วนในโครงการหลัง PIN 4 5 และ 6 จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอากาศยาน โดยมีสัดส่วนนักลงทุนชาวจีนเพิ่มมากขึ้น

ด้วยข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งของนิคมฯ ที่อยู่ใกล้ถนนเส้นทางหลวง อีกทั้งกำลังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา สนามบินสุวรรณภูมิ และเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน 

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมยังมีปัจจัยบวกเรื่องโอกาสที่นักลงทุนชาวจีนกำลังขยายฐานการผลิตและพุ่งเป้ามาที่ภูมิภาคอาเซียนตามนโยบายผลักดันของรัฐบาล เนื่องจากการใช้พลังงานของโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มไม่เพียงพอ ในขณะที่ประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังมีไฟฟ้าสำรองเหลือใช้ 40%

โดยจากการพูดคุยกับนักลงทุนชาวจีน เขามีการพิจารณาไทยกับเวียดนาม ซึ่งไทยมีความได้เปรียบเวียดนามเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นดีมาโดยตลอด อีกทั้งการลงทุนในพื้นที่อีอีซีนักลงทุนชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ 100% ต่างจากประเทศอื่นที่ให้สิทธิเช่าระยะยาวเท่านั้น ทั้งยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดไว้

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ในนิคมอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น เขตอุตสาหกรรมทั่วไป (General Zone) ให้สิทธิในการถือครองที่ดิน ให้สิทธินำเข้าแรงงานช่างฝีมือและผู้ชำนาญการ รวมทั้งคู่สมรสและบุคคลในอุปการะเข้ามาอยู่ในไทย ทั้งยังให้สิทธิในการส่งเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศ

ส่วนเขตประกอบการเสรี (Free Zone) เป็นสิทธิด้านภาษีอากร ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมพิเศษฯ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต สาหรับเครื่องจักร วัตถุดิบ ได้รับยกเว้นอากรขาออก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต สำหรับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ได้รับยกเว้นหรือคืนค่าภาษีอากร สำหรับเครื่องจักร และวัตถุดิบ ส่วนของที่นำเข้าไปในเขตฟรีโซนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออก ให้ยกเว้นไม่อยู่ภายในบังคับของกฎหมายควบคุม

สุรัช ให้ความเห็นว่า แม้ในตอนนี้เวียดนามจะมีข้อได้เปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงานราคาต่ำกว่า แต่ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวของเวียดนามจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานในประเทศกำลังจะปรับตัวสูงขึ้นในอีกไม่นาน

ด้าน วิรีศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. เผยว่า นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จังหวัดระยอง ที่กนอ. เป็นผู้ดำเนินงาน มีพื้นที่ 1,383.76 ไร่ คาดว่าจะเปิดดำเนิการได้ในปี 2567 เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายคาร์บอนต่ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ภายในปี 2564 กนอ. ได้เซ็นสัญญาร่วมดำเนินงานเอกชนตั้ง 4 นิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน และนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ รวมพื้นที่ 5,981.83 ไร่ รวมทั้งมีการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิม 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 5 และนิคมอุตสาหกรรมอัญธานีหรือเจมโมโพลิส คิดเป็นพื้นที่ 1,079.94 ไร่ เท่ากับว่าเพิ่มที่ว่างให้นิคมอุตสาหกรรมในอีอีซีอีกรวม 7,061.80 ไร่