Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 13 December 2021

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 13 December 2021

ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว หลังตลาดลดความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งการเจ็บป่วยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสายพันธุ์เดลต้า

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70-75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-79 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 13 December 2021

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 – 17 ธ.ค. 64)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังตลาดคลายความกังวลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จากการที่ BioNTech และ Pfizer ออกมาแถลงว่าการฉีดวัคซีน Pfizer สามโดสจะสามารถต้านโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ ประกอบกับอัตราการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสายพันธุ์เดลต้า อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวในมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และทำให้บางประเทศโดยเฉพาะกลุ่มยุโรป เริ่มบังคับใช้มาตรการปิดพรมแดนและกำหนดข้อจำกัดในการเดินทางจากประเทศอื่นๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ในส่วนของอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังกลุ่มโอเปคพลัสมีมติเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลงเดิม 
 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

     -  ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน หลังผู้เชี่ยวชาญด้านการแพร่ระบาดของสหรัฐฯ กล่าวว่า อาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ยังไม่พบอาการที่มีความรุนแรงในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ส่งผลให้ตลาดคาดว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ล่าสุดมีการแถลงการว่าการฉีดวัคซีน Pfizer ครบสามโดส จะสามารถต้านโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโอมิครอนสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วกว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดิม ส่งผลให้หลายประเทศมีการเพิ่มมาตรการการจำกัดการเดินทางเพื่อลดอัตราการแพร่ระบาด
     - รายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ประจำเดือน ธ.ค. 64 ปรับลดคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกเฉลี่ยในปี 64 ลง 620,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับรายงานในเดือน พ.ย. 64 แตะระดับ 96.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนั้นยังปรับลดคาดการณ์การเติบโตของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกเฉลี่ยในปี 65 เมื่อเทียบกับปี 64 จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเติบโต 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ในช่วงไตรมาส 4/64 และ 1/65 
      - ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบจีน มีแนวโน้มฟื้นตัว ประกอบกับโควต้านำเข้าน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น หลัง General Administration of Customs เปิดเผยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจีนในเดือน พ.ย. 64 เพิ่มขึ้น 1.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แตะระดับ 10.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณนำเข้าเฉลี่ยของจีนระหว่างเดือน ม.ค. – พ.ย. 64 ลดลง 7.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2-3 จีนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโควต้านำเข้าน้ำมันดิบที่มีอยู่อย่างจำกัด 
 

      - การประชุมของกลุ่มโอเปคพลัส ในวันที่ 2 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา มีมติเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลงเดิม ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ม.ค. 65 เนื่องจากทางกลุ่มโอเปคพลัสคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันไม่มากนัก โดยสหรัฐฯ มีการออกมาแสดงท่าทีพอใจกับการตัดสินใจของกลุ่มโอเปคพลัส และกล่าวเสริมว่าสหรัฐฯ ไม่มีแผนที่จะพิจารณาทบทวนการตัดสินใจระบายน้ำมันดิบออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ ซึ่งสหรัฐฯมีแผนที่จะขายน้ำมันดิบ 32 ล้านบาร์เรล จากแหล่งเก็บน้ำมัน 4 แห่ง คาดว่าจะสามารถส่งมอบระหว่างเดือน ธ.ค. 64 ถึง เม.ย. 65 
       - การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจ (JCPOA) ครั้งที่ 7 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก หลังเกิดข้อโต้แย้งในประเด็นต่างๆ หลายประการระหว่างการประชุม ส่งผลให้ความเป็นไปได้ในการกลับมาส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านถูกกดดัน 
       - EIA คาดการณ์ราคาน้ำมันเบรนท์เฉลี่ยในไตรมาส 1/65 จะอยู่ที่ 73 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่ว่าราคาเฉลี่ยในปี 65 จะปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจาก EIA คาดว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปคพลัสและนอกกลุ่ม มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความต้องการใช้ที่อาจจะได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน 
       - เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือน พ.ย. 64 การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออังกฤษ เดือน ธ.ค. 64 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 – 10 ธ.ค. 64)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 5.41 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 71.67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 5.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 75.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 72.89 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มยังคงอยู่ในระดับต่ำ หลังสมาชิกกลุ่มโอเปคบางประเทศไม่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ตามโควต้าที่ได้รับ ขณะที่ตลาดลดความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า อย่างไรก็ตามบางประเทศมีการออกมาตรปิดพรมแดนและควบคุมการเข้าประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด