“พาณิชย์”จับตาโอมิครอน ชี้เสี่ยงใหม่ท้าทายศก.โลก

“พาณิชย์”จับตาโอมิครอน  ชี้เสี่ยงใหม่ท้าทายศก.โลก

ปี2564 นับเป็นปีที่การค้าระหว่างประเทศไทยร้อนแรงไม่น้อย จากสถิติกระทรวงพาณิชย์การส่งออกปี 2561 มีมูลค่า 2.56แสนล้านดอลลาร์ ปี 2562 มูลค่า 2.46 แสนล้านดอลลาร์ ,ปี 2563 มูลค่า 2.31 แสนล้านดอลลาร์

เฉพาะ10เดือน(ม.ค.-ต.ค.)ปี2564 มูลค่าการส่งออกสูงถึง 2.22 แสนล้านดอลลาร์ แล้วเรียกได้ว่าแรงถึงท้ายปีหลังการระบาดโควิด-19ค่อยๆคลี่คลายในหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐและจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยด้วยสัดส่วนมากกว่า10% ของการส่งออกทั้งโลก ทำให้เศรษฐกิจปลายทางฟื้นตัวนำไปสู่ดีมานด์สินค้าที่สูงแบบก้าวกระโดด แต่ล่าสุดหลังการพบสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” เกิดคำถามว่า การส่งออกของไทยที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีถึง 70% นั้นจะยังร้อนแรงต่อไปได้หรือไม่ 

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า โควิดสายพันธุ์ โอมิครอน ได้เปิดความเสี่ยงใหม่ให้กับเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว โดยหากเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างทั่วโลก จะทำให้ประเทศต่างๆต้องกลับมาเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการล๊อกดาวน์ ซึ่งอาจส่งผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก

“พาณิชย์”จับตาโอมิครอน  ชี้เสี่ยงใหม่ท้าทายศก.โลก

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือ อาจเกิดโควิดกลายพันธ์ใหม่ๆได้อย่างต่อเนื่องเพราะหลายประเทศในโลกที่ประชากรที่ได้รับวัคซีนมีสัดส่วนน้อย ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่ของการแพร่ระบาดใหม่ได้อีกไปเรื่อยๆ จึงจำเป็นที่ประชาคมโลกต้องให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา ให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการกระจายการเข้าถึงวัคซีนให้ได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม ผลจากโอมิครอนทำให้ขณะนี้บางประเทศได้ประกาศปิดประเทศแล้วเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดภายใน ซึ่งต้องติดตามอีกระยะหนึ่งว่า จะสามารถควบคุมได้หรือไม่หากการระบาดรุนแรงจนส่งผลให้ต้องมีมาตรการล๊อกดาวน์ภายใน จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการขนส่งภายในของประเทศนั้นๆได้ซึ่งหากเกิดขึ้นในหลายๆประเทศ อาจทำให้เกิดสถานการณ์ supply chain disruption ได้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบต่างจะไม่เกิดขึ้นทั่วโลกเหมือนเช่นในปี 2563 เนื่องจากที่ผ่านมา โควิด-19 ได้ผลักดันให้ผู้ผลิตทั่วโลกปรับตัวโดยการพึ่งพาภายในภูมิภาคมากขึ้น จึงเกิดห่วงโซ่การผลิตจำนวนมากขึ้นหมายความว่า แม้จะเกิดการระบาดระลอกใหม่จากโอมิครอน กระบวนการผลิตจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ไม่หยุดชะงักทั่วโลก ทั้งนี้หากเกิดโอมิครอนเข้ามาในไทย และระบาดรุนแรง ต้องไม่ให้กระทบต่อภาคการผลิตเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศ ซึ่งอาจต้องใช้แนวทาง มาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (bubble and seal) โรงงาน ดังเช่นที่ผ่านมา

ในช่วง2 ปีที่ผ่านมาของการระบาดของโควิด-19 หน่วยงานต่างๆของไทยไม่ได้อยู่นิ่งเฉยแต่ได้มีการปรับตัวรองรับสถานการณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยในส่วนของกรม ได้ใช้กลยุทธ์ “ตั้งรับ ปรับตัว หาโอกาส” มาตั้งแต่เริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 โดยใช้ช่วงเวลาที่ต้องล๊อกดาวน์ประเทศ และการล๊อกดาวน์ของประเทศต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ ในการเร่งปรับตัว และหาโอกาส เพื่อที่ว่า เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติแล้วจะได้สามารถเดินหน้าเชิงรุกได้เลย

ในส่วนของการปรับตัว กรมได้ดำเนินการไม่เพียงแต่ปรับการทำงานของกรมเอง โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาประยุกษ์ใช้งานในทุกมิติเพื่อสามารถเดินหน้าภารกิจของกรมต่อไปได้ อย่างไม่สะดุดทั้งในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการ การพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วยนวัตกรรม การส่งเสริมภาคบริการที่ตอบโจทย์ยุค New Normal โดยเฉพาะดิจิทัลคอนเทนต์ การพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ และการพัฒนาการให้บริการของกรมโดยเปลี่ยนจากออฟไลน์ เป็นออนไลน์ทั้งหมด 

นอกจากนี้ ยังเร่งผลักดันผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศให้ปรับตัวในการใช้ช่องทางออนไลน์เข้าถึงตลาดต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ และพัฒนาการให้บริการออนไลน์ของกรมอย่างต่อเนื่องในการนี้ หากเกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องมีการล๊อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง กรมมีความพร้อมที่จะเดินหน้าภารกิจของกรมในการส่งเสริมการส่งออกต่อไปได้โดยผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ การจัดเจรจาธุรกิจทางออนไลน์ (OBM) ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้นำเข้าในต่างประเทศ การจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริง (virtual trade fair) การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนโดยการผลักดันสินค้าไทยขึ้นขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของต่างประเทศ เป็นต้น