มุมมองดีมานด์แรงงานEEC อุตฯอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

มุมมองดีมานด์แรงงานEEC  อุตฯอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

เมื่อพูดถึงความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และคุณลักษณะของตัวบุคคลทั่ว ๆ ไป (Attributes) ของแรงงานเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนมองเห็นและสามารถที่จะจับต้องได้

องค์ประกอบเหล่านี้สถานประกอบการต่าง ๆ ล้วนให้ความสำคัญในการคัดเลือกคนเข้ามาร่วมงาน แม้กระทั่งกลุ่มแรงงานระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart electronics) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต้องการ 

จากมุมมองของสถานประกอบการ ในด้าน ความรู้ สถาบันการศึกษาควรจัดการเรียนการสอนที่เป็นความรู้ใหม่ ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากหนังสือหรือตำรา เพิ่มเติมโดยการให้ความรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้มีความรับผิดชอบในการทำงานเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง ความรู้ในเรื่องของระบบงานองค์กร ก็เป็นประเด็นที่มีสำคัญ เพราะการขับเคลื่อนต้องมีผู้บริหาร พนักงาน โดยกลุ่มคน ปวส. จะเป็นคนขับเคลื่อนงานในระดับของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งระบบงานองค์กรจะลงไปถึงพวกเขา ทำให้คนกลุ่มนี้รู้ระบบงานองค์กร เช่น ระบบ ISO และการจัดการสมัยใหม่ (Modern management) ต่าง ๆ ที่สามารถจะขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกันได้

สิ่งที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะพบในปัจจุบันคือ การนำความรู้ที่ได้เรียนมาใช้งานได้จริงบ้างเป็นบางส่วน เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์จาก 100 เปอร์เซ็นต์ อาจจะได้แค่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ และองค์ความรู้ทางด้านภาษายังค่อนข้างน้อย อุตสาหกรรมมองว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกรูปแบบ และมีการลงทุนจากชาวต่างชาติค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ภาษาก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เราจะต้องส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาอื่น ๆ ที่เป็นภาษาที่ 3

ด้านทักษะ (Skills) ที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมีความต้องการ นอกเหนือจากทักษะที่ค้นพบโดยทั่ว ๆ ไปนั้น มองว่า ทักษะในการทำงาน 5ส เป็นทักษะในการแก้ไขปัญหา 50%เป็นทักษะพื้นฐานที่เด็กไทยขาดมาก ส่งผลให้การทำงานที่อาจจะไม่เป็นขั้นตอน รวมถึงทักษะในการนำเสนอ สถาบันการศึกษาควรมีการปลูกฝังผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ และจัดให้ครอบคลุมทุกกลุ่มของผู้เรียนเพราะจะทำให้ทักษะด้านนี้ติดอยู่ในตัว

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมองว่าทักษะในปัจจุบันที่ขาดหายไปก็คือทักษะที่เกิดจากการปฏิบัติ โดยมีมาตรฐานกำหนด เช่น ทำได้รวดเร็ว ทำได้ถูกต้อง คือทำได้ถูกต้องและตรงตามมาตรฐาน

ในด้านคุณลักษณะ (Attributes) สถานประกอบการไม่ต้องการคนเก่ง แต่ต้องการคนดี ซึ่งสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นคนเก่งได้ สิ่งที่สถานประกอบการต้องการจริง ๆ รวมถึงการเป็นคนที่รู้จักการยอมรับปรับเปลี่ยน ยอมรับความผิดพลาด เพราะนวัตกรรมเกิดจากความผิดพลาด เรียนรู้จากความผิดพลาด ฉะนั้นต้องยอมรับในความผิดพลาดและต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น ๆ ด้วย

ในด้านคุณลักษณะที่พบในปัจจุบันของแรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พบว่า แรงงานในกลุ่มนี้ยังขาดในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ การไม่กล้าแสดงออก รวมถึงปัญหาในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม มาตรฐานความรับผิดชอบที่บ่งบอกถึงตัวตนของผู้ปฏิบัติงานเองซึ่งเป็นด้านที่มีปัญหามากที่สุด

ดังนั้น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจะได้แรงงานที่ตรงความต้องการเพื่อให้ได้คนที่ตรงใจควรที่จะมีการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมขึ้นมา เพื่อทำให้สามารถระบุ (Identity) ความรู้ หรือทักษะที่อุตสาหกรรมต้องการ การจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือไฟฟ้าขึ้นมา รวมถึงมีความร่วมมือกันในการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเฉพาะกลุ่มเป็นความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้ามาร่วมหรือเป็นพี่เลี้ยง เพื่อร่วมผลิตกำลังให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะต่อไปเป็นความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้ามาร่วมหรือเป็นพี่เลี้ยง เพื่อร่วมผลิตกำลังให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะต่อไป

บทความโดย...ดร. ไพรินทร์ ทองภาพ

รองคณบดี นวัตกรรมบริหารคุณภาพวิชาการสู่สากล

วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา