ประกันรายได้ข้าว"ชาวนา"ต้องรู้สู้กระแสดิสรัปชั่นการตลาด-ผลิตข้าวไทย

ประกันรายได้ข้าว"ชาวนา"ต้องรู้สู้กระแสดิสรัปชั่นการตลาด-ผลิตข้าวไทย

ไทยคือผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกมาโดยตลอดแต่เมื่อ2-3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ตลาดไม่เอื้อให้ไทยครองแชมป์อีกต่อไปเครื่องมืออย่างประกันรายได้ชาวนา การโหมการส่งอกอาจไม่ใช่ คำตอบในยุคที่

ตลาดข้าวไทยลดลงไปเรื่อยๆ ส่งผลสะท้อนกับไปถึงภาคการผลิตที่ชาวนาเผชิญสถานการณ์ราคาตกต่ำต่อเนื่อง แม้จะมีโครงการประกันรายได้ชาวนา ที่ปัจจุบันใช้เงินเป็นหลักแสนล้านบาทเพื่ออุดช่องโหว่ราคาตลาดกับราคาประกัน หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปเกิดคำถามว่า อนาคตข้าวไทยที่เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่หนีไม่พ้นกระแส “ดิสรัปชั่น”จะอยู่รอดได้อย่างไร

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวเดือนพ.ย.ปี2564  คาดว่าจะได้ปริมาณ8  แสนตันเป็นแรงส่งให้การส่งออกข้าวทั้งปี ได้ 6 ล้านตันตามเป้าหมายและมีความเป็นไปได้ที่อาจมากกว่าเป้าหมาย 

อย่างไรก็ตาม คงเป็นไปไม่ได้แล้วที่การส่งออกข้าวจะได้ปริมาณมากถึงเลข 2 หลัก หรือมากกว่า/เท่ากับ 10 ล้านตันเหมือนแต่ก่อน เพราะตลาดข้าวของไทยถูกจำกัดตัวเท่าเดิมและมีแนวโน้มลดลงเนื่องจาก คุณภาพและราคาข้าวของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ 

ดังนั้นคาดการณ์ส่งออกข้าวไทยปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านตันแต่ต้องขึ้นกับปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ทิศทางตลาด ซึ่งเบื้่องต้นปริมาณข้าวปีหน้าจะมีสูงเพราะน้ำมีเพียงพอเพาะปลูกเมื่อปริมาณผลผลิตสูงก็จะทำให้การส่งออกสูงด้วย 

สำหรับคุณภาพข้าวพบว่าพฤติกรรมการบริโภคเน้นข้าวพื้นนุ่มขณะที่ผลผลิตของไทยส่วนใหญ่เป็นข้าวพื้่นแข็ง ด้านราคา มีเงื่อนไขจากปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำทำให้ต้นทุนชาวนาสูงเป็นที่มาของความจำเป็นต้องตั้งราคาขายที่สูงตาม ซึ่งไม่สามารถแข่งขันได้ในที่สุด ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตต่อไร่จึงเป็นอีกโจทย์ของการพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย

“ตลาดของเราถูกจำกัดให้แคบลงไปทุกที  จะไปเอาตลาดที่ไหน จะทำตลาดได้อย่างไรถ้าสินค้าเราไม่มีการพัฒนาเลย ตอนนี้คนกินข้าวพื้นนุ่ม เราก็มีแต่ข้าวพื้นแข็ง คนตัดสินใจเลือกซื้อที่ราคาข้าวเราก็แพงเพราะผลผลิตต่อไร่ต่ำคำนวนต่อหน่วยก็ต้องขายในราคาแพงซึ่งแข่งกับประเทศอื่นไม่ได้”

ทั้งนี้ วันที่ 5 ธ.ค. 2564 สมาคมฯมีกำหนดเริ่มปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์แม่โจ้ ที่ให้ผผลผลิต 700-800กิโลกรัม(กก.)ต่อไร่ มากกว่าพันธุ์ข้าวเดิมที่เฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ และสามารถปลูกช่วงนาปรับได้ ทำให้ต้นทุนและราคาข้าวดังกล่าวจะสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ สมาคมฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวข้าวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวไทย เมื่อพันธุ์ข้าวที่ชนะการประกวดสมาคมฯก็จะเร่งผลักดันให้ได้รับการรับรองและคุ้มครองพันธุ์ เพื่อที่จะสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งการประกวดครั้งนี้เป็นครั้งแรกของไทยที่ประกวดพันธุ์ข้าวใหม่

“ถ้าปลูกข้าวแล้วได้ไร่ละไม่ถึง 1,000 กก.เราก็จะเเข่งขันยากอยู่ดีเพราะเราจะมีต้นทุนสูงทันที ควรเอาเงินที่อุดหนุนข้าวมาปรับเป็นการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตลาดข้าวของไทยจากนี้ยังไปต่อได้ ซึ่งปัจจุบันเหมือนไม่รู้ว่าจะพัฒนาอะไรจะไปหาตลาดที่ไหนตลาดที่มีอยู่ก็ถูกคู่แข่งแย่งไปหมดแล้ว”

นอกจาก ปัจจัยตัวสินค้าคือ“ข้าว”ของไทยเองที่ไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งคุณภาพและราคาได้แล้ว ปี2564ปัญหาการส่งออกยังอยู่ที่การขนส่งคือไม่มีตู้สินค้าเพียงพอ และค่าขนส่งสูงขึ้น โดยเส้นทางฮ่องกงจากราคาเฉลี่ยก่อนหน้านี้ที่ ตู้ละ 200 ดอลลาร์ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 1,200 ดอลลาร์ และสหรัฐเดิม ตู้ละ 3,000 ดอลลาร์ เพิ่มเป็น 18,000 ดอลลาร์ 

“ปัญหานี้ส่วนหนึ่งมาจากที่ไทยไม่มีกองเรือและบริษัทขนส่งของตัวเองทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองการหาตู้เพื่อการส่งออกคาดว่าหากไม่มีปัญหาดังกล่าวการส่งออกอาจได้มากกว่านี้”

 ส่วนปัญหาจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน ขณะนี้ยังไม่กระทบกับการส่งออกเนื่องจากคู่ค้ายังไม่มีแผนปิดพรมแดนหรือล็อกดาวน์ประเทศการขนส่งยังไปได้ แต่ไม่ได้ดีเหมือนก่อนโควิดเพราะปัญหาเดิมจากการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้ยังสะสางไม่หมด หลายท่าเรือหลักๆเช่นลอสแอนเจอลิส ยังมีปริมาณตู้ตกค้างสูง การเดินเรือจากเดิมใช้เวลาตู้สินค้ากลับมาที่ท่าเดิมใน 45วันก็เพิ่มเป็น3 เดือน จึงยังเกิดปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าอยู่ 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวถึงการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวว่านโยบายสำคัญคือนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยดำเนินการมาแล้ว 2 ปี ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ 3

สำหรับประกันรายได้ข้าวกับยางนั้น รัฐบาลได้ค้างจ่ายเงินส่วนต่างที่จะต้องจ่ายให้กับเกษตรกร เพื่อชดเชยกับราคาตลาดที่ไม่ถึงรายได้ที่ประกัน สำหรับข้าวค้างจ่าย 5 งวด และยางค้างจ่าย 2 งวด 

“แต่หลังจากท่านนายกรัฐมนตรีขยายเพดานตามพระราชบัญญัติวินัยการคลัง เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 มีผลให้เพดานเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 35% สามารถนำเงินที่มีอยู่มาจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับยางพาราได้”

สำหรับข้าว ปีที่ 3 เงินที่เกษตรกรจะได้รับ มี 3 ก้อน ก้อนที่หนึ่ง เงินส่วนต่าง โดยงวดที่ 1-2 กับงวดที่ 3 บางส่วน ได้จ่ายให้กับเกษตรกรไปแล้ววงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 3 ที่เหลือ จะมาจ่ายให้ครบโดยเริ่มจ่ายวันนี้ (9 ธ.ค. 2564) โดยจ่ายงวดที่ค้างอยู่ 5 งวดพร้อมกัน คือ งวดที่ 3 บางส่วนและงวด 4-7 รวมเป็นเงิน 64,847 ล้านบาท

ส่วนงวดที่ 8 จะจ่ายวันที่ 14 ธ.ค.เป็นเงิน 3,720 ล้านบาท และงวดที่ 9-33 จะทยอยจ่ายทุก 7 วันจนครบ โดยงวดสุดท้าย วันที่ 27 พ.ค. 2565 เกษตรกรครัวเรือนที่ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด

  • ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ สูงสุด 58,988 บาท
  • ข้าวหอมนอกพื้นที่สูงสุด 60,086 บาท
  • ข้าวหอมปทุม สูงสุด 36,358 บาท
  • ข้าวเปลือกจ้าว สูงสุด 67,603 บาท
  • ข้าวเหนียว 71,465 บาท

สามารถช่วยชาวนาได้ประมาณ 4.7 ล้านครัวเรือน

เงินก้อนที่สอง คือเงินในมาตรการคู่ขนานซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเป็นเวลา 5 เดือนเพื่อไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดมากจนเกินไป ช่วยตันละ 1,500 บาท หรือสหกรณ์เก็บไว้จะช่วยตันละ 1,500 บาท และช่วยเหลือดอกเบี้ย ถ้าสหกรณ์เก็บข้าว 12 เดือน ช่วยดอกเบี้ย 3% ถ้าโรงสี เก็บข้าว 6 เดือน จะช่วยดอกเบี้ย 3% เพื่อไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดมากเกินไปและไปกดราคาข้าวในตลาด

ก้อนที่สาม คือ ช่วยค่าบริหารจัดการหรือปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท โดยจ่ายวันที่ 13 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป เป็นเงิน 53,871 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.7 ล้านครัวเรือน

ส่วนชาวนาที่น้ำท่วมเสียหายจะได้เงินอีกก้อนหนึ่ง คือ เงินชดเชยความเสียหายจากอุทกภัยหรือภัยธรรมชาติโดยชาวนาที่ปลูกข้าวแล้วน้ำท่วม จะยังได้รับเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว เพราะขอให้ปลูกจริง ไปขึ้นทะเบียนแม้พืชผลจะเสียหายเพราะภัยธรรมชาติจะยังได้รับเงินช่วยเหลือส่วนต่างเช่นกัน

สำหรับข้าว แม้ราคาตกไปช่วงหนึ่งแต่ขณะนี้ถือว่าราคาข้าวกระเตื้องขึ้น สำหรับข้าวแห้งที่ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาข้าวเปลือกเจ้าขณะนี้ขึ้นไป 7,700-8,100 บาทแล้ว

การส่งออกก็ดีขึ้นครึ่งปีหลังจากครึ่งปีแรกเดือนละ 400,000-500,000 ตัน ตอนนี้เดือนละ 700,000-800,000 ตัน ซึ่งอาจทำได้ทั้งปีถึง 6,000,000 ตัน เพราะเราสามารถแข่งขันเรื่องราคาได้จากค่าเงินบาทที่อ่อนลงและมาตรการอื่นๆที่ช่วยกันทำงานกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ช่วยให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น”

ความพยายามของทุกฝ่ายเพื่อผลิตและขายข้าวให้ได้ดีสมกับความเหน็ดเหนื่อยของชาวนาแต่ในโลกของความเป็นจริง ความพยายามดังกล่าวอาจเป็นเพียงเกราะป้องกันชาวนาออกจากผลของดิสรัปชั่นที่ว่า การผลิตและการตลาดของข้าวไทยต้องถึงเวลาปรับตัวขนานใหญ่แล้ว