บจ.ไทยแกร่ง! ขยายธุรกิจต่างประเทศ คว้ารายได้ 2.96 ล้านล้านบาท

บจ.ไทยแกร่ง! ขยายธุรกิจต่างประเทศ คว้ารายได้ 2.96 ล้านล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย บริษัทจดทะเบียนขยายธุรกิจไปต่างประเทศต่อเนื่อง ปี 63 พบ 312 บริษัทเปิดเผยรายได้ต่างประเทศสูงถึง 2.96 ล้านล้านบาท กลุ่ม "เกษตร/อาหาร-สินค้าอุตสาหกรรม-ทรัพยากร" สูงสุด

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวได้ดีจากสถานการณ์โควิด เช่น จีดีพีของสหรัฐฯ คาดว่าจะเติบโตได้ 6.0% ในปี 2564 และ 5.2% ในปี 2565 และภาคการส่งออกของไทยก็ฟื้นตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและฟื้นตัวได้ 15.7% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ และมีรายได้จากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จากการพัฒนาฐานข้อมูลโดยทีม SET Research พบว่า ในปี 2563 มี 312 บจ.ได้เปิดเผยรายได้จากต่างประเทศโดยรวมสูงถึง 2.96 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูงคือ กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มทรัพยากร

จากการทดลองสร้างพอร์ตโฟลิโอ การลงทุนในบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูง (SET-Global Play) พบว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหลังโควิด

- SET-Global Play Large Cap คัดเลือก 20-30 หุ้นขนาดใหญ่จาก 10 sectors ที่มีรายได้จากต่างประเทศสูง โดยเฉลี่ยแล้วมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูงถึง 64% และให้ผลตอบแทนรวม 25% ตั้งแต่ต้นปี

- SET-Global Play Mid & Small คัดเลือก 20-30 หุ้นขนาดกลางและเล็กจาก 10 sectors ที่มีรายได้จากต่างประเทศสูง โดยเฉลี่ยแล้วมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูงถึง 56% และให้ผลตอบแทนรวม 55% ตั้งแต่ต้นปี

ผลตอบแทนของ SET-Global Play ในระยะยาวมีความผันผวนตามสถานการณ์การค้าโลกและภาคการส่งออกของประเทศ

บจ.ลงทุนต่างประเทศ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออกของไทย

ในปี 2564 เศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด โดยคาดว่าเศรษฐกิจหลักๆ ในโลกจะฟื้นตัวได้อย่างดีตามความพร้อมด้านสาธารณสุขและการกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Reopening) ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เช่น

จีดีพีของสหรัฐฯ คาดว่าจะเติบโตได้ 6.0% ในปีนี้ และ 5.2% ในปีหน้า สำหรับประเทศไทยที่เริ่มทยอยกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็คาดว่า GDP จะฟื้นตัวได้ 1.0% ในปีนี้ และฟื้นได้ดียิ่งขึ้นที่ 4.5% ในปีถัดไป (IMF)

รูปที่ 1 - การคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกซึ่งมีมูลค่าและสัดส่วนสูงมากใน GDP ของประเทศ ได้มีการฟื้นตัวที่ดีมากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยฟื้นตัวได้ 5% ในไตรมาสที่ 1, 36.2% ในไตรมาสที่ 2, และ 15.7% ในไตรมาสที่ 3 (NESDC) นับเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ

รูปที่ 2 - มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการ ต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวม

รูปที่ 3 - ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ และมีรายได้จากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทีม SET Research ได้รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูล Economic Exposure Universe ที่เก็บข้อมูลการลงทุนทางตรงและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ เป็นประจำทุกปี โดยรวบรวมข้อมูลจากการเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปีและแบบรายงาน 56-1

ในปี 2563 พบว่า 312 บริษัทจดทะเบียนได้เปิดเผยข้อมูลรายได้จากต่างประเทศโดยรวมสูงถึง 2.96 ล้านล้านบาท และสัดส่วนของรายได้จากต่างประเทศเปรียบเทียบกับรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนฯ ทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 19 ในปี 2554 เป็นสัดส่วนร้อยละ 26 ในปี 2563 หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมด

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูงคือ กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มทรัพยากร

รูปที่ 4 – รายได้ จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนไทย

แนวทางการสร้าง Global Play Portfolio โดยใช้ฐานข้อมูลรายได้จากต่างประเทศ

ใน SET Note ฉบับนี้ จะขอนำเสนอการทดลองสร้างพอร์ตการลงทุนโดยใช้ฐานข้อมูลรายได้จากต่างประเทศที่รวบรวม โดยทีม SET Research เพื่อเป็นตัวอย่างและแนวทางในการวิเคราะห์และเลือกลงทุนที่เน้นการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีรายได้จากต่างประเทศ

โดยได้ทดลองสร้างพอร์ตการลงทุนออกเป็น 2 พอร์ตการลงทุนหลัก ตามรูปที่ 5 ได้แก่ พอร์ตการลงทุนในบริษัทที่มีรายได้ต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ (Global Play – Large Cap) และพอร์ตการลงทุนในบริษัทที่มีรายได้ต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดกลางและเล็ก (Global Play – Mid & Small Cap)

Portfolio การลงทุนในบริษัทที่มีรายได้ต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากกว่า 5,000 ล้านบาท มีรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 2,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 25% และจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัว เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (free-float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้วของบริษัท และอัตราส่วนหมุนเวียนหลักทรัพย์มากกว่า 5%

Portfolio การลงทุนในบริษัทที่มีรายได้ต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดกลางและเล็ก ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ในขนาดกลาง-เล็ก2 มีรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 10% และ จะต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัว เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (free-float) ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้วของบริษัท และอัตราส่วนหมุนเวียนหลักทรัพย์มากกว่า 0.5%

ทั้ง 2 พอร์ตการลงทุนหลักใช้วิธีการคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดและจำกัดน้ำหนักของแต่ละหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนไม่เกินร้อยละ 5 ในทุกรอบที่มีการปรับสมดุลพอร์ต (rebalancing) ซึ่งมีรอบระยะเวลาในการปรับทุกครึ่งปี

และคัดเลือกหลักทรัพย์ด้วยวิธีการวิเคราะห์จากบนลงล่าง (top-down approach) โดยเป็นการคัดเลือกจากหมวดธุรกิจ (Sector) ที่มีมูลค่ารายได้จากต่างประเทศมากที่สุด 10 อันดับแรก และคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงที่สุด 2-3 อันดับแรกในแต่ละหมวดธุรกิจนั้นๆ

รูปที่ 5 - ขั้นตอนการสร้างพอร์ตการลงทุน SET Global Portfolios

สัดส่วนการลงทุนและผลตอบแทนของ SET-Global Play

สัดส่วนการลงทุนของ portfolio ในบริษัทที่มีรายได้ต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ และ portfolio การลงทุนในบริษัทที่มีรายได้ต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์ขนาดกลางและเล็ก มีการกระจายตัวของน้ำหนักไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่คล้ายกัน

โดยพอร์ตที่ลงทุนในหลักทรัพย์ขนาดใหญ่มีสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมบริการ (service) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (agro & food) และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (property & construction) มากที่สุดที่ใกล้เคียงกันที่ประมาณ ร้อยละ 18 ของพอร์ตการลงทุน

ในขณะที่พอร์ตที่ลงทุนในหลักทรัพย์ขนาดกลางและเล็กมีสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมบริการ (service) และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (property & construction) มากที่สุดใกล้เคียงกันที่ประมาณร้อยละ 23 ของพอร์ตการลงทุน

รูปที่ 6 - สัดส่วนของกลุ่มหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุน

รูปที่ 7 - หลักทรัพย์ที่มีน้ำหนักมากที่สุด 10 อันดับแรก

จากการคัดเลือกหุ้นของบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูงแล้วนำมาจัด portfolio พบว่า SET-Global Play Large Cap มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 64% และให้ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ 25.20% และ SET-Global Play Mid & Small มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 56% และให้ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ 55.19% ซึ่งสูงกว่าการฟื้นตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ และสอดคล้องกับการฟื้นตัวได้ดีของเศรษฐกิจโลกและภาคส่งออกของประเทศ

รูปที่ 8 - ผลตอบแทนรวม (Total Return) ระยะสั้นของพอร์ตการลงทุน Global Play เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index

ในแง่ของการวัดผลตอบแทนรวมแบบย้อนหลังตามช่วงเวลา ตามรูปที่ 9 พบว่า พอร์ตการลงทุนที่มีการใช้ข้อมูลรายได้จากต่างประเทศในการคัดเลือกหลักทรัพย์ (SET-Global Play) มีผลตอบแทนรวม มากกว่าดัชนี SET100 Total Return Index และ SET Total Return Index ในหลายๆ ช่วงเวลาย้อนหลัง เช่น นับตั้งแต่มีการทดลองการจัดทำพอร์ตการลงทุนในปี 2559 หรือราว 5 ปี 5 เดือน พบว่า SET-Global Play Large Cap มีผลตอบแทนรวมร้อยละ 74.69 สูงกว่าดัชนี SET100 ที่ร้อยละ 24.08 เป็นต้น

รูปที่ 9 ผลตอบแทนรวม (Total Return) และความผันผวน (Standard Deviation) ย้อนหลังตามช่วงเวลา

ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงความผันผวนของผลการดำเนินงานต่อปี (SD) จากพอร์ตการลงทุน SET-Global Play พบว่า มีค่า SD ที่มากกว่า ดัชนี SET100 TRI และ SET TRI ในหลายๆ ช่วงเวลาที่ผ่านมาตามสถานการณ์การค้าโลกและภาคการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตามเมื่อเอาความผันผวนที่สูงขึ้นเทียบกับผลตอบแทนที่สูงขึ้น พบว่าค่า Sharpe หรือผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง (risk-adjusted return) ของ SET-Global Play ยังสูงกว่าดัชนี SET100 TRI และ SET TRI

รูปที่ 10 - ผลตอบแทนรวม (Total Return) ระยะยาวของพอร์ตการลงทุน Global Play เปรียบเทียบกับดัชนี SET Index

เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบผลตอบแทนรวมสะสมย้อนหลังในระยะยาว ตามรูปที่ 10 พบว่า SET-Global Play ซึ่งใช้ข้อมูลรายได้จากต่างประเทศในการจัดพอร์ตการลงทุน ให้ผลตอบแทนรวมสูงขึ้นเมื่อเทียบกับดัชนี SET100 TRI โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการเกิดเหตุการณ์โควิดและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนั้น หากนำพอร์ต SET-Global Play ดังกล่าว มาทำการเกลี่ยน้ำหนักการลงทุนตามสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ (tilting by % foreign revenue) โดยลดน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศต่ำ และไปเพิ่มน้ำหนักการลงทุนให้กับหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูง

โดยปรับน้ำหนักการลงทุนในช่วง ±1% (ตาม quartile ของสัดส่วนรายได้ต่างประเทศในรูปที่ 11) พบว่า การนำข้อมูลสัดส่วนรายได้ต่างประเทศมาใช้เกลี่ยน้ำหนักไปยังหุ้นที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศมากขึ้น ก็ยิ่งให้ผลตอบแทนรวมที่สูงขึ้นด้วย

รูปที่ 11 – การเกลี่ยน้ำหนักที่มีผลต่อผลตอบแทรนรวม (Total Return) รูปที่ 11 – การเกลี่ยน้ำหนักที่มีผลต่อผลตอบแทรนรวม (Total Return) 2

ข้อมูลรายได้ต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนมีประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการลงทุน อาจนำมาจัดทำแนวทางหรือ theme การลงทุน หรือนำมาพัฒนาดัชนีการลงทุน เช่น ดัชนี SET-CLMV ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีรายได้จากประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม)

และในระยะถัดไป บริษัทจดทะเบียนทั้งหมดกำลังจะเปิดเผยข้อมูลในมาตรฐานแบบ 56-1 One Report ผ่านระบบ SET Link โดยมีข้อมูลบางส่วนของแบบรายงานอยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ต่อได้ทันที (machine readable) ส่งผลให้การจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทำได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เร็วและทันเหตุการณ์

นอกจากการใช้ข้อมูลรายได้จากต่างประเทศมาทดลองสร้างพอร์ตการลงทุนแบบ SET Global Play แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้พัฒนาและจัดทำดัชนีการลงทุนและศึกษา theme การลงทุนที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกและแนวทางสำหรับการลงทุนในรูปแบบต่างๆ และสอดคล้องกับพัฒนาการของตลาดทุน ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่หลากหลาย

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจดัชนีของกลุ่มหลักทรัพย์หรือการลงทุนที่สะท้อน theme ต่างๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาขึ้นสามารถดูรายละเอียดและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ SET Index และ SET Note