‘จุรินทร์’ ดันค้าชายแดนโกยเงิน 1.4 ล้านล้าน

“จุรินทร์” ชี้ผลจากการเร่งรัดเปิดด่านชายแดนทำตัวเลข 10 เดือนพุ่ง 31.72% มูลค่าการค้าขาย 1.42 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปี 6%

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ระบุ ตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดนเดือนต.ค.2564 ที่ประกอบด้วยคู่ค้าสำคัญ 7 ประเทศ คือ เมียนมา มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน และสิงคโปร์ มีมูลค่า 148,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.07% และเฉพาะการส่งออก มีมูลค่าสูงถึง 82,068 ล้านบาท เพิ่ม 31.48% นำเข้ามูลค่า 66,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.81% ไทยได้ดุลการค้า 15,333 ล้านบาท 

ส่วนยอดรวม 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 1,424,345 ล้านบาท เพิ่ม 31.72% เป็นการส่งออกมูลค่า 860,436 ล้านบาท เพิ่ม 37.41% และนำเข้ามูลค่า 563,909 ล้านบ้าน เพิ่ม 23.89% โดยไทยได้ดุลการค้าชายแดนกับผ่านแดน 296,527 ล้านบาท
         
“ถือว่าเราทำตัวเลขได้ทะลุเป้าที่กำหนดไว้ทั้งปีแล้ว โดยกำหนดเป้าการเติบโตไม่น้อยกว่า 6% คิดเป็นมูลค่า 789,198 ล้านบาท แต่ขณะนี้เกินแล้ว ผ่านมา 10 เดือนทำได้มูลค่า 860,436 ล้านบาท มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ทั้งปีถึง 48,251 ล้านบาท”

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดนเป็นบวก มาจากการค้าโลกขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลทางบวกต่อการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ มีการเร่งรัดเปิดด่านโดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ซึ่งล่าสุดเปิดไปอีก 2 ด่าน คือ ด่านตากใบ กับบูเก๊ะตา ที่ จ.นราธิวาส ทำให้ด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย เปิดครบแล้ว 9 ด่าน หรือรวมทั้งประเทศเปิดแล้ว 48 ด่าน และมีแนวโน้มที่จะเปิดได้อีกที่ด่านหนองเอี่ยน จ.สระแก้ว ตรงข้ามชายแดนกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาตอบรับแล้ว และยังได้หารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้สั่งการให้เร่งทำเส้นทางสัญจร ขอให้กรมศุลกากรใช้คอนเทนเนอร์เป็นที่ทำการชั่วคราว และสุดท้าย โครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก มีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ส่งออกคล่องตัวขึ้น จนถึงวันที่ 3 ธ.ค.2564 สามารถทำตัวเลขจับคู่กู้เงินแล้วถึง 3,300 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ไปประชุมหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ไทยได้ใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟจีน-สปป.ลาว เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด นอกจากการเดินทางของประชาชนแล้ว ยังหมายถึงการขนส่งสินค้าออกไปด้วย ซึ่งจะได้เชิญผู้ส่งออก ผู้เกี่ยวข้องมาหารือเร็ว ๆ นี้ ส่วนมาตรการป้องกันโควิด-19 ตัวใหม่นั้นต้องแยกกัน เรื่องเกี่ยวกับคนข้ามแดน เป็นเรื่องที่ทางสาธารณสุข และ ศบค. จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่ในส่วนของรถสินค้าข้ามแดนต่าง ๆ มีการเฝ้าระวังทั้ง 2 ฝั่งอยู่แล้ว จึงดำเนินการส่งสินค้าออกต่อไปได้ และขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนมา