แรงกระเพื่อมเงินดิจิทัลยุคใหม่ สร้างผลกระทบระบบการเงินไทย

แรงกระเพื่อมเงินดิจิทัลยุคใหม่  สร้างผลกระทบระบบการเงินไทย

กระแสแรงแห่งยุคข้ามปีหนีไม่พ้นการเข้ามามีบทบาทของธุรกิจดิจิทัล หลังเกิดปรากฎการณ์ธุรกิจไทยแห่กันเปิดตัวใช้เหรียญคริปโทเคอเรนซี่แลกเปลี่ยนแปลงเป็นสินค้าหรือบริการ เป็นโอกาสพร้อมกับความเสี่ยงใหญ่ให้กับระบบการเงินว่าได้

ความนิยมในเหรียญดิจิทัลปะทุในไทยตั้งแต่เกิดเหรียญหลักระดับโลกอย่าง “ บิทคอยน์” หรือ BITCOIN  ราคาปรับตัวทำสถิติทะลุ1 ล้านบาทปี 2563 และทะลุ  2 ล้านบาทปี 2564   จนทำให้เกิดกระแสลงทุน แต่การลงทุนยังจำกัดกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบและสนใจเพื่อเก็งกำไร แม้ว่าจะเป็นกลุ่มเฉพาะเจาะจงแต่อัตราการเติบโตกลับเป็นเท่าตัว

ด้วยจำนวนผู้ที่เปิดบัญชีตลาดคริปโทฯของไทย ตามข้อมูลสำนักงาน ก.ล.ต. มีถึง 1.77 ล้านบัญชี (สิ้น ต.ค.) จากต้นปี 2563 มีจำนวนผู้เปิดบัญชี  7  แสนบัญชี  และปี 2562 จำนวนบัญชี 1.4 แสนบัญชี  ที่สำคัญยังเป็นจำนวนบัญชีที่ขึ้นมาเท่ากับบัญชีหุ้นเปิดทำการ 40 ปี ที่มีเกือบ 2 ล้านบัญชี หรือบัญชีลงทุนในกองทุน 1.6 ล้านบัญชี  

จำนวนบัญชีเติบโตภายในระยะเวลา 3 ปี ส่งผลทำให้ธุรกิจเริ่มดึงดูดกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้ให้เข้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า  ซึ่งในระยะแรกกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถือว่าเป็นกลุ่มแรกที่เปิดให้มีการรับชำระทั้งซื้อ –จ่ายดาวน์ –โอนกรรมสิทธิ์ ไปถึงการจ่ายค่าส่วนกลาง ซึ่งถือว่าเป็นการทำการตลาดที่ฮือฮามากในช่วงที่เผชิญการระบาดโควิด-19 จนต้องล็อกดาวน์

รายแรกที่ประกาศใช้คริปโทฯ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ด้วยการรซื้อที่อยู่อาศัยและจ่ายค่าส่วนกลางในโครงการที่บริหารโดยพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ใน 4 สกุลเงินดิจิทัล Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), USDC และ USDT ผ่านทาง Bitazza (บิทาซซ่า) โบรกเกอร์-ดีลเลอร์

หลังจากนั้นมีอีกหลายเจ้าในกลุ่มอสังหาฯ ที่ประกาศรับชำระซื้อหรือขายที่อยู่อาศัย จ่ายดาวน์ สามารถจ่ายค่าโอนกรรมสิทธิ์ได้อีกหลายเจ้า ซึ่งบางรายยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าต่างประเทศ เช่น บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S  ร่วมมือกับ Genesis Block ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลระบบนอกตลาด (OTC) ของฮ่องกง  ให้ชาวต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยผ่านเงินดิจิทัล

โดยเป็นการทำตลาดเกาะกระแสดิจิทัลที่มาแรง หากดูจากความแพร่หลายยังไม่มากเพราะกลุ่มผู้ต้องการซื้อบ้านเป็นดีมาร์ทจริงที่ซื้อในปริมาณไม่เยอะจากมูลค่าที่สูง และที่สำคัญไม่ใช้สินค้าที่ซื้อได้รายวัน   

จนเกิดปรากฎ X ดีลเข้าซื้อหุ้นใน บิทคับ (Bitkub)   ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)  มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาทช่วงต้นเดือนพ.ย. ที่ผ่านมาและมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำธุรกิจ ทำให้เงินดิจิทัลในตลาดคริปโทฯ เข้ามาทับซ้อนกับธุรกิจการเงินจริงในไทยมากยิ่งขึ้น

จากนั้นมีการประกาศใช้เหรียญ BITKUB ในธุรกิจอื่นตามมาที่สร้างกระแสได้ดีคือ Bitkub ผนึกกับ กลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ในไทย “เดอะมอลล์ กรุ๊ป ” จัดตั้ง JV “บิทคับ เอ็ม” สัดส่วนคนละ 50 %  เพื่อร่วมลงทุนและบริหาร บิทคับ เอ็ม โซเชียล ( BITKUB M SOCIAL) ให้เป็นดิจิทัลคอมมูนิตี้ (Digital Communiy) แห่งแรกของไทย

แรงกระเพื่อมเงินดิจิทัลยุคใหม่  สร้างผลกระทบระบบการเงินไทย

เบื้องต้นสามารถนำเงินดิจิทัล  7 เหรียญ ( BITCOIN, TETHER, ETHEREUM, STELLAR, XRP, BITKUB COIN และ JFIN COIN) แลกเป็นสินค้า หรือบัตรกำนัล ทั้งห้างและศูนย์ในกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ไม่มีค่าธรรมเนียม 1 ธ.ค.ม 2564 - 28 ก.พ. 2565   ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในธุรกิจค้าปลีกที่เข้าสู่เงินดิจิทัล

ท่ามกลางราคาเหรียญ BITKUB ที่ซื้อขายชื่อ “KUB” เกิดการเก็งกำไรราคาพุ่งทะยานไปถึงราคาสูงสุด 500 บาท (30 พ.ย.64) สัปดาห์เดียวผลตอบแทน 367 % ก่อนที่ราคาเหรียญจะร่วงระเนระนาดแห่เทขายเหรียญออกมาจนราคาลงอยู่ที่ 234 บาทในวันเดียวกัน

ปรากฎการณ์ที่ตามมาคือการออกมาส่งสัญญาณไม้แข็งของทางการอย่างแบงก์ชาติ ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ

เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ที่จะส่งผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย  

โดยได้ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อจำกัดความเสี่ยงข้างต้น สอดคล้องกับแนวทางของธนาคารกลางและภาครัฐในประเทศอื่นที่ออกกฎเข้มในตลาดดิจิทัลอย่างตลาดใหญ่จีนสั่งรัฐวิสาหกิจของจีนที่ทำเหมืองขุดสกุลเงินดิจิทัลยุติการดำเนินการเตรียมออกบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน

ตลาดเสรีสุดๆ อย่างสหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน 1 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมเพิ่มเนื้อหาในกฎหมายให้โบรกเกอร์รายงานการซื้อขายและถือครองสกุลเงินดิจิทัลต่อกรมสรรพากรมูลค่ามากกว่า 10,000 ดอลลาร์ขึ้นไป  และอินเดียออกมาห้ามใช้คริปโทฯสำหรับการทำธุรกรรมหรือชำระเงินด้วยการเตรียมออกข้อบังคับเช่นกัน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยว่าการตีกรอบดังกล่าวจะทำให้การพัฒนาสะดุด ด้วยธุรกิจสามารถอาศัยตลาดดิจิทัลลดต้นทุนทรัพยากรที่มีอยู่ และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าหรือบริการด้วยต้นทุนที่ลดลง ที่สำคัญไม่ต้องผ่านตัวกลางอีกต่อ และแนวโน้มมีโอกาสจะเติบโตมากขึ้น

ทางที่น่ากังวลใจคือองค์ความรู้ความเข้าใจที่ไม่เท่ากัน   การประเมินความเสี่ยงลดน้อยลง  ยิ่งเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมากผ่านการซื้อขายสินค้าหรือบริการในชีวิตประจำวันได้ กลายเป็นช่องทางให้เกิดการเอาเปรียบ โกงรูปแบบดิจิทัล ความเสียหายประเมินได้ยากเพราะไม่มีตัวกลางคอยกลั่นกรอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดเงินดิจิทัลในไทยและธุรกิจเกี่ยวข้องเกิดจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ว่าได้