กรอ.-จิสด้า-วช. จับมือใช้เทคโนโลยีอวกาศแสกนภัยพิบัติในโรงงานขนาดใหญ่

กรอ.-จิสด้า-วช. จับมือใช้เทคโนโลยีอวกาศแสกนภัยพิบัติในโรงงานขนาดใหญ่

กรอ. ร่วมกับ จิสด้า และวช. พัฒนา 3 โมเดลเพื่อการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ได้แก่ โรคอุบัติใหม่ สารเคมี และอุทกภัย ในโรงงานขนาดใหญ่ เพื่อลดผลกระทบและเป็นแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ. หรือ GISTDA) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พัฒนาโมเดลต้นแบบเพื่อการเฝ้าระวัง ลดผลกระทบของการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 และการเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติในโรงงานขนาดใหญ่

ด้วยระบบเฝ้าระวังจากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เล็งนำร่องพื้นที่ 9 จังหวัด ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่จำนวนมาก คาดว่าจะสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มและส่งมอบให้ กรอ. ภายในมิถุนายน 2565

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสายพันธ์ใหม่ที่มีการแพร่กระจายรวดเร็วมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม 3 โมเดลต้นแบบ เพื่อเฝ้าระวังลดผลกระทบของการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติในโรงงานขนาดใหญ่ ด้วยระบบเฝ้าระวังจากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

ทั้งนี้ กรอ. และ จิสด้า ได้ร่วมกันถอดบทเรียนโครงสร้างข้อมูล มาตรการและแนวทางการดำเนินงานในการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร แล้วนำมาทำกรอบโครงการกำหนดเป็นโมเดลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อวางแนวทางให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้มีการวางระบบวิเคราะห์การจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงงาน

"ซึ่งนอกจากปัญหาการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 แล้ว ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังมีโอกาสเผชิญปัญหาภัยพิบัติในรูปแบบอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม เศรษฐกิจ ในวงกว้าง กรอ. จึงได้ทำโมเดลเฝ้าระวังและบริหารจัดการภัยพิบัติที่เกิดจากสารเคมี อุทกภัย และโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย"

โดยจิสด้าได้นำเอาแผนที่ประเทศไทยในลักษณะของภาพถ่ายดาวเทียมมากำหนดพื้นที่ให้เห็นว่ามีโรงงาน ชุมชน ตั้งอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วนำมาทำกระบวนการที่เรียกว่า บับเบิ้ลแอนด์ซีล (bubble and seal) แบ่งเป็นโซน ๆ เพื่อให้สามารถควบคุมและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อได้

ซึ่งจะนำมาเป็นโมเดลการเฝ้าระวังและลดผลกระทบการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ โมเดลภัยพิบัติด้านสารเคมี ในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา และโมเดลด้านอุทกภัยในจังหวัดนครราชสีมา และสุราษฎร์ธานี

รวมทั้งสิ้น 9 จังหวัดนำร่อง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงเคยได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติ

ในเบื้องต้นได้มีการพัฒนาระบบประมวลผลข้อมูล และวางระบบการวิเคราะห์การจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเลือกใช้โมเดลที่มีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่จังหวัด เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเดิม ซึ่งคาดว่าจะสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มให้เป็นระบบเฝ้าระวังที่สมบูรณ์แบบได้ภายในมิถุนายน 2565

โดย กรอ.จะเป็นหน่วยงานบริหารหลัก ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการฐานข้อมูลร่วมกันในการจัดการสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติ ของโรงงานในพื้นที่