"ดีพร้อม" ชูอัตลักษณ์กาแฟดอย ปั้นภาคเหนือ “แลนด์มาร์คอาราบิก้า”

"ดีพร้อม" ชูอัตลักษณ์กาแฟดอย ปั้นภาคเหนือ “แลนด์มาร์คอาราบิก้า”

ความนิยมดื่มกาแฟมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับธุรกิจกาแฟนอกบ้านหรือคาเฟ่ แต่ความนิยมของคอกาแฟโดยภาพรวมกลับเติบโตและขยายตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่อายุน้อยลง

เมื่อวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเข้าสู่ "คลื่นลูกที่สามของกาแฟโลก" ด้วยการขับเคลื่อนของคอกาแฟที่ต้องการประสบการณ์ดื่มกาแฟที่มีคุณภาพคับถ้วย ทำให้คล้ายกับการดื่มไวน์เข้าไปทุกที เมื่อนักดื่มเริ่มสนใจฟาร์มปลูก ถิ่นกำเนิด รสชาติที่ซับซ้อน และกรรมวิธีการทำ จึงเป็นต้นกำเนิดของกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) รวมถึงโอกาสของเมล็ดกาแฟไทย

จากทิศทางของตลาดกาแฟไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยมีความต้องการใช้เมล็ดกาแฟเฉลี่ยที่ 88,862 ตันต่อปี ในขณะที่ความสามารถผลิตเมล็ดกาแฟดิบได้เฉลี่ยเพียง 24,671 ตันต่อปี หรือประมาณ 28% ของความต้องการใช้เมล็ดกาแฟเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมกาแฟไทยยังมีโอกาสเติบโตต่อไป ด้วยการผลักดันความสามารถการเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคหลายกลุ่มที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ และพร้อมจะทดลองรสชาติใหม่ๆ

นอกจากนี้ ในด้านตลาดต่างประเทศ กาแฟไทยถือเป็นกาแฟที่มีคุณภาพดี ซึ่งปัจจุบันมีตลาดส่งออกเมล็ดกาแฟดิบที่สำคัญ คือ แคนาดา ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และมีตลาดส่งออกกาแฟคั่วที่สำคัญ คือ กัมพูชา มาเลเซีย และฮ่องกง 
 

รัฐปั้นเอกลักษณ์กาแฟดอย
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม มีหมุดหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมกาแฟพันธุ์อาราบิก้าซึ่งปลูกมากในพื้นที่ภาคเหนือให้เกิดธุรกิจอย่างครบวงจร สอดรับกับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม รับการเติบโตของธุรกิจร้านเครื่องดื่มและการท่องเที่ยวในภาคเหนือ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปหลังยุคโควิด เช่น การดื่มกาแฟจากที่บ้าน และผู้บริโภคที่เริ่มดื่มกาแฟอายุน้อยลง

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อให้อุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือมีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น ในปี 2565 ดีพร้อม จึงได้วางแนวทางผลักดันให้ผลผลิตจากเกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มพรีเมียม กลุ่มผู้รักสุขภาพ รวมถึงธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (คาเฟ่) ผ่านการพัฒนาคุณภาพและรสชาติแทนการเพิ่มปริมาณเพื่อเจาะตลาดกาแฟพิเศษ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีความชื่นชอบและให้ความสำคัญกับกลิ่น รสชาติ ลักษณะเฉพาะ และเรื่องราว (Storytelling) ของเมล็ดกาแฟที่มาจากแต่ละพื้นที่เพาะปลูก เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับกาแฟของภูมิภาคและสามารถขายได้ในราคาสูง

นอกจากนี้ เมื่อศึกษามูลค่าในระดับโลกยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟในช่วงระหว่างปี 2564 – 2566 จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 9% และมีมูลค่าที่สูงมากถึง 191.1 พันล้านดอลลาร์ ดีพร้อมจึงได้มีแนวทางเพิ่มโอกาสการเติบโตของผู้ผลิตกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือผ่านโครงการยกระดับศูนย์กลางการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟอะราบิก้าภาคเหนือ ด้วยแนวทางที่สำคัญดังนี้ 

1. การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเมล็ดกาแฟอาราบิก้า ซึ่งมีการเพาะปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนกว่า 7 หมื่นไร่ ให้มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในด้านกลิ่น รสชาติ และลักษณะปรากฎเฉพาะของกาแฟ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมประยุกต์ใช้ในการปลูก ตลอดจนยกระดับให้เป็นกาแฟคุณภาพพิเศษ หรือ Specialty Coffee ซึ่งเป็นกาแฟที่มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพและได้คะแนนจากนักทดสอบ (Q Grader) 80 คะแนนขึ้นไป รวมถึงนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยแบ่งปันเทคนิคการดูแลต้นกาแฟ การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยวให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น พร้อมผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค

2. ส่งเสริมกระบวนการคั่ว ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีโรงคั่วอยู่กว่า 70 แห่ง และถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการเติบโตอุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มุ่งลดปัญหาสำคัญทั้งการบริหารจัดการของเสียจากการแปรรูปกาแฟ อาทิ กลิ่นและควันจากกระบวนการเผาไหม้ การกำหนดให้แต่ละโรงคั่วมีมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มโรงคั่วขนาดเล็ก รวมถึงเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการลงทุนทำกาแฟคั่วบด ด้วยการเรียนรู้จากผู้ประกอบการในคลัสเตอร์กาแฟที่ประสบความสำเร็จ

3. ยกระดับธุรกิจผ่านแนวทางการเกษตรสร้างสรรค์ ด้วยการผลักดันกาแฟในแต่ละดอยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเอง เช่น กาแฟอมก๋อย กาแฟดอยวาวี กาแฟดอยอินทนนท์ กาแฟดอยผาหมี รวมถึงรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

ไม่ว่าจะเป็น การทำกาแฟแบบแคปซูล กาแฟที่มีกลิ่นเฉพาะ กาแฟดริป รวมถึงช่วยยกระดับบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการขนส่ง มีความดึงดูดสายในช่องทางค้าขายออนไลน์ และยกระดับพื้นที่ในการเพาะปลูกให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย

4. การส่งเสริมธุรกิจกาแฟของภาคเหนือตอนบนผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 และศูนย์พัฒนาและทดสอบอัตลักษณ์กาแฟอาราบิก้าภาคเหนือ (Northern Boutique Arabica Coffee Center : NBACC) ของดีพร้อม ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางที่สำคัญและมีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรที่เชี่ยวชาญ โปรแกรมอบรมวิชาชีพสำหรับผู้ที่สนใจจัดตั้งหรือพัฒนาธุรกิจกาแฟ รวมถึงการสร้างเครือข่ายของหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนา โดยภายใน ศูนย์ฯประกอบด้วย 6 โซน ได้แก่ โซนนิทรรศการข้อมูลองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนากาแฟตั้งแต่เริ่มปลูก โซนเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลอง/ทดสอบ โซนตัวอย่างเมล็ดกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) โซนการสาธิตในการชงและชิมกาแฟ โซนตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากกาแฟ และโซนห้องอบรมสัมมนา

5. เพิ่มโอกาสในการขยายตลาด ด้วยการผลักดันให้กาแฟแต่ละแบรนด์ หรือ แต่ละแหล่งเพาะปลูกมีโอกาสเข้าถึงช่องทางการค้าออนไลน์ ห้างสรรพสินค้า หรือ เครือข่ายร้านกาแฟที่มีชื่อเสียง พร้อมทั้งส่งเสริมการออกแบบสินค้า การจดสิทธิบัตร - ขึ้นทะเบียนสินค้าเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) รวมถึงการบ่มเพาะวิธีการสร้างเรื่องราว (Story Telling) หรือการสร้างคอนเทนต์ โดยอาศัยความพิเศษของวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อปลุกระแสให้เกิดเทรนด์การดื่มกาแฟ 1 กลิ่น 1 แก้ว 1 วันให้เข้าถึงกลุ่มร้านค้าและผู้บริโภคในอนาคต 

6. การรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมกาแฟผ่านคลัสเตอร์ (Cluster) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟ โดยแบ่งเป็นกลุ่มต้นทางได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ความรู้ด้านการคัดเลือกสายพันธุ์ การดูแลพื้นที่ปลูก การตัดแต่งกิ่ง การเก็บเกี่ยว การแปรรูป เมล็ดกาแฟ ตลอดจนการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน กลุ่มกลางทางสนับสนุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อให้ได้มาตรฐาน และกลุ่มปลายทางได้สนับสนุนการประกอบธุรกิจกาแฟ เสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะบุคลากร ทั้งเรื่องเทคนิคการคัดคุณภาพสารกาแฟ เทคนิคการคั่ว การผสมสูตรที่มีลักษณะเฉพาะ การชงกาแฟ และการบริหารจัดการหน้าร้าน เพื่อให้เกิดความอยู่รอดและยั่งยืน

ด้านนายจีรศักดิ์ จูเปาะ เจ้าของแบรนด์ YAYO Coffee บริษัท หญ่าโย ดีซี จำกัด กล่าวว่า ได้เข้าร่วมกับดีพร้อม ในโครงการยกระดับศูนย์กลางการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟอาราบิก้าภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยได้รับการส่งเสริมเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงอัตลักษณ์ของกาแฟชนิดพิเศษ (Specialty coffee) ด้วยข้อได้เปรียบที่จากแหล่งปลูกดอยช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ที่มีความสูงมากกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ซึ่งจัดเป็นกาแฟไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กาแฟจึงมีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในด้านกลิ่น รสชาติ และลักษณะปรากฎเฉพาะของกาแฟ 

ประกอบกับช่วงแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หญ่าโยมีออร์เดอร์สารกาแฟลดลง จึงได้ริเริ่มการพัฒนากาแฟชนิดพิเศษ (Special Coffee) เพื่อเพิ่มมูลค่าเมล็ดกาแฟของตนเอง โดยได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมประยุกต์ใช้ในตลอดกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การปลูก การดูแลต้นกาแฟ การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป การบรรจุ และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ 

ทั้งนี้ หญ่าโยเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟดิบหรือสารกาแฟ โดยใช้กระบวนการผลิตแบบเปียก หรือ Wet Process จำหน่ายให้บริษัท คัฟฟ่า คอฟฟี่เม็คเกอร์ จำกัด เป็นหลัก สามารถทำผลผลิตได้ 5 ตันต่อเดือน รับซื้อเมล็ดกาแฟจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบนดอยช้าง เกิดการจ้างงาน 300 ครัวเรือน