กูรู’ ฟันธงเทรนด์ปี 65 อะไร?..กุมชะตาธุรกิจ!!!

กูรู’ ฟันธงเทรนด์ปี 65  อะไร?..กุมชะตาธุรกิจ!!!

แม้ไม่มีใครคาดการณ์อนาคตได้ แต่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องจับยามสามตาอ่านเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค โลกการค้าขายที่จะเปลี่ยนแปลง การแข่งขันทวีความดุเดือดขึ้น เศรษฐกิจโตหรือถดถอย เทคโนโลยีใหม่ใดจะเข้ามามีบทบาททรงพลัง ฯ เหล่านี้เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายธุรกิจแทบทั้งสิ้น

กรุงเทพธุรกิจ สื่อในเครือและพันธมิตร เสิร์ฟสัมมนาออนไลน์ Trends Driving the Future ดึงเทรนด์ใหญ่ที่ธุรกิจต้องรู้มาแบ่งปัน เพื่อให้นักธุรกิจ นักการตลาด ผู้ประกอบการใช้เป็น “เข็มทิศ” กำหนดทิศทาง วางแผนธุรกิจปีหน้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมาสู้กับโควิดอย่างเมามัน ส่วนปีหน้าฟ้าใหม่ปี "เสือ" ลุ้นไม่เจอความดุดันดับฝันธุรกิจ 

++จะค้าขายปี 65 รู้ไว้ผู้บริโภคเปลี่ยนอีกแล้ว

เมื่อโลกไม่เคยหยุดนิ่ง พฤติกรรมผู้บริโภคก็เช่นกัน แต่การเปลี่ยนแปลงแต่ละปีมีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ก่อนรู้ปีหน้าผู้คนปรับไลฟ์สไตล์อย่างไร สรุปย้อนวิถีปี 64 กันเล็กน้อย

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานาเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟังเสียงผู้บริโภคบนสื่อสังคมออนไลน์หรือ Social listening เก็บข้อมูลการโพสต์ แสดงความเห็นเรื่องราวต่างๆที่มีมหาศาลข้อความ พบ 3 เทรนด์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ 1. ความเป็นปัจเจกบุคคล(Individual) นับวันผู้บริโภคมีความแตกต่างกันมากขึ้น ทั้งความต้องการ ให้คุณค่าสิ่งต่างๆไม่เหมือนกัน สิ่งนั้นเธอชอบ อีกฝ่ายไม่ต้องเฮโลคล้อยตามไปชอบเหมือนในอดีต

ยิ่งกว่านั้นตัวแปรของช่องว่างระหว่งวัยหรือGeneration gap ทำให้ความคิดต่างกันมาก ซึ่งปัจจุบันเจนเอ็กซ์(X) เจนวาย(Y) เจนซี(Z) คิดต่างคนละขั้วกว่าเดิม

2. Life Appreciation ผู้คนปรับตัวใช้ชีวิตให้มีความสุขภายใต้โรคระบาดครอบงำโลก เพราะท่ามกลาง 2 ปีที่รับมือต่อกรกับโรคโควิด-19 หากจมจ่อมกับความทุกข์ เนื่องจากวิถีชีวิตเปลี่ยนจากมาตรการรัฐที่ทำให้ทุกคนต้อง “กักตัว” ล็อกตัวเองอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น แต่ปัจจุบันผู้คนเข้าใจ คุ้นชินกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่(New Normal) ไม่แค่อยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน แต่เปลี่ยนสถานที่เพื่อสร้างสุขพร้อมทำงานได้ เกิด Workation เป็นต้น

3.Digital Transfomation เส้นแบงโลกออฟไลน์ออนไลน์เลือนลางมากขึ้น เพราะ “ดิจิทัล” จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ยิ่งมีโรคโควิด-19 ระบาด “เร่ง” ให้พฤติกรรมออนไลน์เปลี่ยนทั้งเสพสื่อ ชอปปิงออนไลน์ ฯ เติบโตยิ่งขึ้น อย่างคนไทย 69.2% ของผู้ใช้งานอินเตอร์ มีการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เเฉลี่ย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ดูคอนเสิร์ตผ่านออนไลน์เติบโต 24% ทำงานออนไลน์เพิ่ม 10% คนไทย 70.3% ของชาวเน็ต ยังเสพคอนเทนท์ที่ต้องจ่ายเงิน(Subcription)แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆด้วย ไม่ว่าจะเป็น เน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส ฮอท สตาร์ สปอทิฟาย และOnly Fans เป็นต้น

กูรู’ ฟันธงเทรนด์ปี 65  อะไร?..กุมชะตาธุรกิจ!!!

อดีตมีผลต่ออนาคตต พฤติกรรมผู้บริโภคปี 2565 กล้า สรุป 3 เทรนด์มีบทบาท ได้แก่ 1. Diversity ความหลากหลายมีมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ตามมาคือ ผู้บริโภค”เคารพความแตกต่าง” เหล่านั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทั้งเพศ “ความต่างทางความคิด” ความชอบ รูปร่าง สีผิว อ้วน ดำ สูง ต่ำ ฯ หมดยุคหยิบความต่างมากติติงหรือ Bully กันแล้ว เพราะหากแบรนด์และนักการตลาดไม่ตระหนักประเด็นเหล่านี้ระวัง!ดราม่าบังเกิด ถูกผู้บริโภคลากไปขย้ำพังข้ามคืนได้

กรณีศึกษามีมาก ในจีนชัด แบรนด์ดังระดับโลกทำแคมเปญการตลาดโดยไม่เคารพวัฒนธรรมจีน โดนแบนจนต้องเก็บสินค้ากลับประเทศต้นทาง

ชีวิตที่ถูก “ตีกรอบ” เพราะโรคระบาด มาตรกการรัฐร่วม 2 ปี จนทำให้หลายคนหงอยเหงาซึมเศร้า Burn-out Syndrom ภัยเงียบคุกคามคนทำงาน แต่ตอนนี้เทรนด์ที่ 2.Life Enhancement ยังตอกย้ำการปรับตัวเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่พร้อมทำชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น แฮปปี้ได้แม้มีวิกฤติ ปิดท้ายกับเทรนด์ 3.Hybrid life โลกหลังโควิด ผู้บริโภคจะเป็นชาวไฮบริดจ์ ที่ผสานหลายอย่างเข้าในชีวิต ทั้งการทำงาน ใช้ชีวิต ไม่แยกออฟ-ออนไลน์ หลายอย่างทำได้พร้อมๆกัน เป็นต้น

++เทคโนโลยีตีคู่สุขภาพดี

โควิดเขย่าโลกรอบด้าน รวมถึงเร่งปฏิริยาให้ผู้บริโภคตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น ต้องการเป็นคนแข็งแรงห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ แต่ยุคดิจิทัลสุขภาพดีต้องมาพร้อมกับเทคโนโลย นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร กรรมการ และกรรมการบริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาาบาลบีเอ็นเอช ฉาย 3 ทิศทางธุรกิจสุขภาพที่จะเกิดปีหน้า ดังนี้ 1.การเปลี่ยนแปลงในธุรกิจสุขภาพยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น จะเห็นหลายด้าน เริ่มที่จำนวนผู้ป่วยใน(IPD)ผู้ป่วยนอก(OPD)จะลดลง เพราะเทคโนโลยีทำให้ผู้คนเจ็บป่วยน้อยลง และยังเอื้อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เทคโนโลยี 5G 6G ทำให้การผ่าตัดทางไกลได้ เป็นต้น

กูรู’ ฟันธงเทรนด์ปี 65  อะไร?..กุมชะตาธุรกิจ!!!

บทบาทหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ต้องปรับ ไม่แค่รอรักษา เพราะผู้ป่วยยุคนี้ ค้นหาอาการป่วยผ่านโลกออนไลน์ มีเทคโนโลยี ตัวช่วยรักษาอาการเบื้องต้น เรียกว่า “ตัดวงจรหาหมอ” ได้ ส่วนการ “แข่งขัน” คู่แข่งไม่ได้มีแค่ทางตรงที่เป็นโรงพยาบาล คลินิกต่างๆแต่ สตาร์ทอัพ ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี ประกัน ค่ายสื่อสารและโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ต่างลงสนามกันเพียบ ไม่ว่าจะเป็น Google Health, Amazon Care และ Microsoft Telehealth เป็นต้น

“ใครคิดว่าเทรนด์เฮลท์เทคอีกนานจะมา คำตอบไม่ใช่..เพราะมาเร็วแน่ ภายใน 2-3 ปีจะแรงขึ้น”

2.เทรนด์สุขภาพ และวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นจะเห็นอุปกรณ์ต่างๆเข้ามาเชื่อมต่อสุขภาพผู้ป่วยและโรงพยาบาลรองรับการรักษามากขึ้น ทั้ง Internet of Things:IoT เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) เทคโนโลยีโลกเสมือนที่ผนวกโลกแห่งความจริง(AR) การจำลองภาพเสมือนจริง(VR) เป็นต้น

นพ.ชัยรัตน์ ย้ำว่า เทคโนโลยีเหล่านั้นมีผลต่อการรักษา เพราะจะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตอนเจ็บป่วยเท่านั้น มีผลทั้ง “ก่อน” และ “หลัง” การรักษา รักษาได้ อย่างก่อนรักษา(Pre-care) เตรียมพร้อมผ่าตัดมาดี จะทำให้ใช้เวลาผ่าตัดและการฟื้นตัวเร็วขึ้น Homecare อยู่บ้านก็ทำการรักษาได้ ไม่ต้องไปโรงพยาบาล

Risk care หากพยากรณ์เพื่อรู้ล่วงหน้าว่ามีโอกาสเกิดโรคอะไร จะได้ป้องกันได้ทันท่วงที Self-care การวัดความดัน เช็คปริมาณน้ำตาลในเลือด หากพบความผิดปกติค่อยไปโรงพยาบาล Sick Care เมื่อเจ็บป่วยแล้วไม่ต้องไปโรงพยาบาล เพราะเทคโนโลยีทำให้ผ่าตัดทางไกลได้ เป็นต้น

“หลังโควิดคนจะห่วงสุขภาพมากขึ้น แต่เทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคลดการพึ่งพาแพทย์ อาจไม่ต้องมารักษา นี่คือเทรนด์ที่กำลังมา”

3.กลยุทธ์ที่จะรองรับเทรนด์สุขภาพ ต่อกรอนาคต รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง นพ.ชัยรัตน์ บอกว่า นักบริหาร นักธุรกิจต้องเหมือนขับรถรู้และมองกระจกทุกบ้าน กระจกมองหลังเรียนรู้อดีต นำดาต้าที่มีมาแก้ไขให้ดีขึ้น มองกระจกข้างเพื่อดู “คู่แข่ง” ตามและแซงมาหรือยัง ให้รู้โอกาสและความเสี่ยงด้วย มองกระจกหน้ารถเพราะเป็นเนวิเกเตอร์ให้รู้อนาคต

นอกจากนี้ ต้องทำตัวเป็น “พ่อครัว” ที่มี “อาวุธ” พร้อมในลิ้นชัก หากเจอบะหมี่ฯ ต้องหยิบตะเกียบคีบ น้ำต้องใช้ช้อนตัก เนื้อต้องคว้ามีดมาสับ ใช้ ความเร็วให้เท่าทันสถานการณ์

++ทำตรงข้ามตำรา

เทคโนโลยีเปลี่ยน โควิดบีบบังคับ ผู้บริหารใช้ตำราเดิมเคลื่อนธุรกิจไม่พอ ต้องทำตรงข้าม เดิมการค้าขายยและบริการยึด “โปรดักท์เป็นศูนย์กลาง”(Product Centric) ปัจจุบันความต้องการของผู้บริโภคกำหนดทุกสิ่ง(Customer Centric) ตอนนี้ นพ.ชัยรัตน์ บอกต้องกลับไปสู่ยุคที่โปรดักท์เป็นศูนย์กลางอีกครั้ง เพื่อให้เห็นภาพชัดยกให้แบรนด์ “Apple” ที่ออกไอโฟน “นำตลาด” สร้าง Wow! Effect ให้เกิดในตลาด หรือการเสิร์ฟ “โอมากาเสะ” ราคาแพง ต้องทานเมนูตามที่เชฟรังสรรค์ให้ แต่เป็นอาหารที่ดี มีคุณค่า

“ถ้าทำตามความต้องการของลูกค้า เหนื่อย หากกลับไปสู่โปรดักท์เป็นศูนย์กลาง ทำได้แบบไอโฟน โอมากาะส ไม่ตามกระแส แต่นำลูกค้า เมื่อทำได้ก็จะนำตลาดด้วย”

กูรู’ ฟันธงเทรนด์ปี 65  อะไร?..กุมชะตาธุรกิจ!!!

สิ่งที่เกิดขึ้น สมิติเวช พลิกตำราอะไรบ้าง นพ.ชัยรัตน์ แบ่งธุรกิจเหมือน “เรือใหญ่” ที่ต้องเคลื่อนธุรกิจโรงพยาบาลให้เติบโตต่อ หรือหากเป็นเต่าต้องติดสเก็ตเพื่อ Speed ไม่พอยังเป็นพญาอินทรีย์ที่มีกรงเล็บจงอยคิดใหม่ มองการเปลี่ยนแปลง และเป็นกบที่กระโดดสูง อย่างมีวิกฤติโควิด คนไข้ไม่มาโรงพยาบาล ต้องออกไปฟาผู้ป่วยมี Homecare Remote Careฯ สร้าง New S-curve เป็นผีเสื้อที่ทำให้ป่าไม้เขียวชะอุ่มจากผสมเกษร แม้จะเป็นธุรกิจโรงพยาบาล แต่ไม่ต้องการให้คนป่วย จึงหนุน Self-care ลดการพึ่งพาแพทย์ต่างๆ และเป็นปูที่มี 10 ขา เคลื่อนตัวคล่องแคล่วว่องไว(Agile) ยุทธศาสตร์หลักมีแล้ว ต้องมี “แผนสำรอง” รับความเสี่ยงให้เรือใหญ่อยู่รอด..ไม่ตาย!

“ไม่ใช่แค่คนมีสุขภาพดีหรือ Healthy แต่เพื่อความมั่งคั่งหรือ Wealthy ร่ำรวย เศรษฐกิจเติบโตด้วย”

มีเรือใหญ่ เดินหน้า ต้องมี “เรือเล็ก” ที่คล่องตัวเคลื่อนหาน่านน้ำใหม่ คนที่กล้าเปลี่ยนมาทำสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม รองรับผู้ป่วย เริ่มจากทีมT-Team: Transformer ลุยทำสิ่งที่เปลี่นยเร็วแรง สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ Ant Team:Antman มดงานที่อยู่หน้างาน ทำของใหม่ๆได้ MD Team:Marvel หมอดีคิดทำสิ่งใหม่ๆ X-Team: X-Men ผู้บริหารที่เห็นภาพใหญ่ คิดสิ่งใหม่เพื่อเดินไปข้างหน้า

++10 เทรนด์เขย่าโลกอีคอมเมิร์ซ

โลกชอปปิงกำลังพลิกโฉมมากขึ้น เพื่อดึงเงินจากกระเป๋าลูกค้า โดยออนไลน์ทรงอิทธิพลยิ่งขึ้น และ 10 เทรนด์อีคอมเมิร์ซ ภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com นำเสนอผ่านตาผู้บริโภคบ้างแล้ว อะไรร้อนแรง มีดังนี้ 1.อีคอมเมิร์ซผงาดเป็นช่องทางหลักมาตรฐานของการค้าขาย คนไทยเกินครึ่งประเทศตอบรับชอปปิงออนไลน์ มูลค่าตลาดปีนี้พุ่งแตะ 4.01 ล้านล้านบาท

2.ยักษ์ใหญ่มาร์เกตเพลส JSL(JD, Shoppe, Lazada) จะทำ “กำไร” หลัง”เผาเงิน” ขาดทุน “หลายพันล้านบาท” มาหลายปีเพื่อแลกกับการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าออนไลน์ ปี 2564 ลาซาด้ามีกำไรแล้วกว่า 266 ล้านบาท รายได้กว่า 14,000 ล้านบาท 3.ซูเปอร์แอ๊พระเบิดศึกต่อ โควิดทำให้ธุรกิจหลายหมวดเจ็บตัวเจ๊งระนาว ผู้ประกอบการต้องพลิกกระบวนท่าใหม่ มุ่งสู่ถนน SuperApp มากยิ่งขึ้น เช่น แอร์เอเชีย ธนาคารต่างๆ รวมถึงมาร์เก็ตเพลสอย่างช้อปปี้ มีทั้งวอลเล็ท ช้อปปี้ฟู้ด ท่องเที่ยว บริการครบจบที่แอ๊พเดียว

กูรู’ ฟันธงเทรนด์ปี 65  อะไร?..กุมชะตาธุรกิจ!!!

4.Live Commerce มาพร้อมการจ้างผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเอง(OEM) ยุคนี้พ่อค้าแม่ขายยึดช่องทางโซเชียลมีเดีย Live ขายสินค้าทำเงินเป็นกอบเป็นกำ อย่าง “พิมรี่พาย” ปิดยอดขาย 100 ล้านบาท ใน 10 นาที เมื่อขายดีสิ่งที่ตามมา แทนจะนำสินค้าพันธมิตรมาขาย ปั้นแบรนด์ตัวเองแล้ว “จ้างผลิต”(OEM) โกยกำไรดีกว่า

“ผู้ผลิตสินค้ากำลังเจอคู่แข่งใหม่”

5.การค้าขายรวมทุกช่องทาง ตั้งแต่เปิดร้านบนโซเชียลมีเดีย ไปสู่การมีหน้าร้านบนมาร์เก็ตเพลส หากขายดีมีเงินทุนมาก ก็สร้าางเว็บไซต์ตัวเอง เพื่อเก็บข้อมูลผู้บริโภค(Data)ไว้ในมือ 6.เข้าสู่โลกค้าปลีกอัตโนมัติ ด้วยตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ที่ปัจจุบันขยายตัวมากขึ้น จุดเด่นคือไม่ต้องเสียเงินจ้างพนักงาน ซึ่งทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ หากต้นจ้าง 15,000 บาทต่อเดือน ทั้งปี “หลักแสน” นำเงินทุนนี้ไปติดตั้งตู้อัตโนมัติ เพิ่มโอกาสทำเงินได้ไม่น้อย และตู้ไม่เหนื่อย ไม่บ่นด้วย

7.กาารแข่งขันดุเดือดเลือดพล่านกว่าเดิม เมื่อสงครามการค้าปะทุ ค่าโฆษณาออนไลน์ที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ประกอบการจะเทเงินหนักขึ้น หากรายใดใช้เงินเท่าเดิม โอกาสโกยเงินหรือยอดขายจะน้อยลง ส่วนการเข้าถึงผู้บริโภคยากขึ้น โฆษณาออนไลน์เก่ง แม่นยำน้อยลง เพราะนโยบาย กฎหมายความเป็นส่วนตัวต่างๆมีผลบังคับใช้ 8.CryptoCommerce มีบทบาท เพราะคนไทยเปิดรับสินทรัพย์ดิจิทัลสกุลต่างๆในกรซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ปัจจุบันห้างค้าปลีก ค่ายรถหรู เปิดทางให้ผู้บริโภคใช้เงินดิจิทัลซื้อสินค้าได้

9.การขายตรงถึงผู้บริโภค(D2C)จะ “ฆ่าตัวกลาง” เมื่อผู้ผลิต แบรนด์ใช้ “ออนไลน์” เป็นหน้าร้านเสิร์ฟสินค้าตรงถึงผู้บริโภค ทำให้อนาคตการอาศัย “ตัวกลาง” อาจลดบทบาทลง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจำหน่ายและกระจายสินค้า ยี่ปั๊วซาปั๊ว และ 10.ร้านค้าท้องถิ่นภูธรขาลง เพราะตัวเลือกช่องทางขายมีมากขึ้น โดยเฉพาะออนไลน์ ซึ่งมีข้อได้เปรียบทั้งสิ้นค้าหลากหลาาย “ราคาต่ำ” เทียบร้านค้าทท้องถิ่นขายแพง ตัวเลือกน้อย ภาวะถดถอยจึงจะเกิดขึ้น

กูรู’ ฟันธงเทรนด์ปี 65  อะไร?..กุมชะตาธุรกิจ!!!

++อิทธิพลสกุลเงินดิจิทัล

โลกล้ำหน้ามาก ไม่เพียงค้าขาย แต่เงินตราที่ใช้ซื้อสินค้ายังเปลี่ยนไป โดยสกุลเงินดิจิทัล(Cryptocurrency) มีบทบาทมากขึ้น ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ซิปเม็กซ์(ZIPMEX) ประเทศไทย ฉายภาพ การเติบโตของคริปโตเคอเรนซีพุ่งขึ้น 5-6 เท่าตัว มีนักลงทุนซื้อขายแตะ 1.7 ล้านบัญชี จากเดิมมีเพียง 2.5 ล้านบัญชี

วันนี้ตลาดคริปโตเคอเรนซีเกิดขึ้นแล้ว เห็นจาก 5 ปีก่อน บิตคอยน์เคยครองตลาด 83% วันนี้ลดเหลือ 42% เนื่องจากนักลงทุนจัดสรรคเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ เพิ่ม ที่ผ่านมามีทั้ง ด็อกคอยน์ ชิบะ โทเคน อีเธอร์เรียม PSG Fan Token โทเคนของแฟนคลับสโมรสรฟุตบอลปารีส แซงต์-แชร์กแมง หรือ Manchester City Fan Token ของสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ เป็นต้น

ตลาดเปิดกว้าง แต่ปรากฏการณ์ที่ตามมา เกิดระบบการเงินไร้ศูนย์กลางหรือ Decentralized Finance(DeFi) จากเดิมต้องพึ่งพาแบงก์ในการทำธุรกรรมต่างๆ แต่ตอนนี้ดำเนินการผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนได้

เหรียญโทเคนดิจิทัลอย่าง NFT(Non-Fungible Token) นับวันมาแรงขึ้น อนาคตจะเห็นการใช้ประโยชน์ในธุรกิจ เช่น อาจเห็นการนำไปซื้อบัตรชมคอนเสิร์ตศิลปินแบล็คพิงค์แบบวีไอพี หากขายต่อบริษัทได้ค่าธรรมเนียม

ในไทยหลายบริษัทศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ NFT มาใช้ ทั้งอสมท อาร์เอส กรุ๊ป จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นต้น

นอกจากนี้ การลงทุนในเหรียญเกมได้รับความนิยมไม่แพ้กัน อย่างเหรียญ SAND ในเกม The SANDBOX มูลค่าขยับ 1,000-2,000% แนวโน้มจะเห็นคอมมูนิตี้ของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้มากขึ้น