อัพเดทล่าสุด! "เยียวยากลุ่มคนกลางคืน" รับเหนาะๆ 1.2 หมื่นต่อคน

อัพเดทล่าสุด! "เยียวยากลุ่มคนกลางคืน" รับเหนาะๆ 1.2 หมื่นต่อคน

อัพเดทล่าสุด มาตรการช่วยเหลือจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกอบการ และลูกจ้างสถานบริการสถานบันเทิง เคาะจ่าย 5,000 บาท ม.33 รับ2ต่อ รับเหนาะๆ 1.2 หมื่นต่อคน คาดว่าสิ้นเดือนนี้จ่ายเงินเยียวยาได้ทั้งหมด เช็กรายละเอียดที่นี่!!

คืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มนักร้อง นักแสดง นักดนตรี ศิลปินและผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ อาชีพอิสระ ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม และผู้ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประชุมหารือกับตัวแทนภาคเอกชน ธุรกิจจัดอีเว้นท์-คอนเสิร์จ สถานบริการบันเทิง พร้อมกับสภาพัฒน์ ครั้งที่ 2 ถึงแนวทางช่วยเหลือเยียวยานักร้อง นักแสดง นักดนตรี ศิลปินและผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

โดยผลจากการหารือได้ข้อสรุปมีมติร่วมกัน เห็นสมควรจ่ายเงินเยียวยาให้ 3 กลุ่ม คือ  

กลุ่มนายจ้างที่มีลูกจ้างมากกว่า 1 คนขึ้นไป ที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ SME จะจ่ายให้นายจ้าง 3,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน เช่น ธุรกิจ SME นั้นมีลูกจ้าง 100 คน นายจ้างก็จะได้เงิน 300,000 บาท/เดือน โดยให้ลงทะเบียนโครงการ SME (โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน) ต่ออีก 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างกลุ่มนี้ 3 เดือน โดยไม่มีภาษี

ส่วนกลุ่มที่จะได้รับเยียวยาเป็นกลุ่มที่ 2  คือ จ่ายให้ลูกจ้างแรงงาน ซึ่งอยู่ในประกันสังคม ม.33 แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก กรณีเหตุสุดวิสัย จ่าย 50% ของรายได้ และส่วนที่ 2 เยียวยาอีก 5,000 บาท (ม.33 เรารักกัน) หากได้รับเงิน 2 ส่วนรวมกันก็จะเป็นเงิน 12,500 บาท ถือว่าได้รับ 2 ต่อ

และกลุ่มที่ 3 จะเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากอยู่ในอาชีพอิสระ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่มีเงินเดือน ไม่มีฐานข้อมูลยืนยันอาชีพ  เช่น นักดนตรี ศิลปิน ซึ่งจะต้องลงทะเบียนใน ม.40 ผ่านทางสมาคมธุรกิจบันเทิง ผับ บาร์ เป็นผู้รับรอง โดยจะได้รับเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท

นอกจากนี้ในส่วนของศิลปินผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้พิจารณาจ่ายเงินเยียวยา 

ทั้งนี้ ข้อสรุปที่ได้วันนี้ จะเสนอไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอให้รัฐบาลจัดสรรเงินกู้รวมวงเงินประมาณ 1 พันล้านบาท ประเมินว่ามีผู้ได้รับเยียวยาประมาณ 3 แสนคน และคาดว่าจะสามารถอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาได้ภายในเดือนนี้  ส่วนกรณีที่หากวันที่ 16 มกราคม 2565 สถานบันเทิงไม่สามารถเปิดกิจการได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด19  ก็จะเสนอรัฐมนตรีพิจารณาขอยกเว้นบางกิจกรรม เช่น การทำบุญประเพณีที่ต้องมีดนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เพราะจัดงานไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง

 

ด้านนายธเนส สุขวัฒน์ ตัวแทนนักดนตรีอิสระอาวุโส และตัวแทนผู้จัดคอนเสิร์ต ระบุว่า ได้รวบรวมรายชื่อตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากภาคธุรกิจบันเทิง ดนตรี ผับ บาร์ เสนอให้กับกระทรวงแรงงานแล้ว ซึ่งตอนนี้ยังมีตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบเข้ามาต่อเนื่อง แต่คาดว่าไม่เกิน 1-2 แสนคน

และนอกจากเสนอชื่อขอรับเงินเยียวยา ยังประสานไปยังผู้ประกอบกิจการธุรกิจบันเทิง ผับ บาร์ ให้สร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ปฏิบัติตามหลักมาตรการด้านสุขอนามัย หรือ SHA เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เพื่อที่หากวันที่ 16 มกราคม ยังกลับไปเปิดบริการไม่ได้ อย่างน้อยก็ถือเป็นการช่วยเหลือภาครัฐและตัวเองด้วย