“ศุภชัย” ดัน CP ก้าวที่ 100 ลุยผู้นำองค์กรพัฒนายั่งยืน

“ศุภชัย” ดัน CP ก้าวที่ 100 ลุยผู้นำองค์กรพัฒนายั่งยืน

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องมาครบ 100 ปี ในปี 2564 และได้เผชิญความท้าทายมาตลอดศตวรรษ ขณะนี้ได้เข้าสู่เป้าหมายใหม่ในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งวางเป้าหมายการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2564 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นองค์กรระดับ LEAD สะท้อนการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและความยึดในหลักสากล 10 ประการของ United Nations Global Compact

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ซีพีให้ความสำคัญกับการผลักดันองค์กรสู่ความยั่งยืนมาตลอด โดยเริ่มต้นจากวางเป้าหมายติดตามและรายงานทุกปีถึงความคืบหน้า เพื่อดูความสำเร็จหรือความล้มเหลวของเป้าหมายโดยเชิญแต่ละกลุ่มธุรกิจของซีพีมากำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด ซึ่งศึกษาแนวทางจากทั่วโลกเพื่อมาประยุกต์ใช้ เพราะซีพีมีซัพพลายเชนค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นต้องมีตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมครอบคลุมทั้งหมด โดยใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก (UN SDGs)ซีพีจะดูว่านำเสนอด้านใดได้มากและด้านใดทำไปแล้ว

รวมทั้งเป้าหมายที่วางไว้จะผลักดันความยั่งยืนที่รวบรวมมาจากทั่วโลก รวมถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 และปรัชญาที่ใช้ทำงานร่วมกับ 21 ประเทศ จึงนำ 3 ส่วนมารวมกันและวางเป้าหมายของซีพี โดยจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุด คือ ความตระหนักรู้ของผู้นำ

“ได้เป็นลีดได้อย่างไรต้องบอกว่าได้เองเพราะเราทำเรื่อยๆ ตอนที่เริ่มเข้าร่วม UN Global Compact สมัครไปใหม่ตั้งเป้าหมายว่าต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงและเป็นตัวอย่างที่ดี”

ส่วนเป้าหมาย Zero Carbon และ Zero Waste เป็นเป้าหมายที่ประกาศมา 2 ปี แต่เป้าหมายความยั่งยืนของเครือประกาศมา 5 ปีแล้ว แต่ไม่ได้มีภาพรวมที่ชัดเจน โดยเป้าหมาย Zero Carbon และ Zero Waste จะช่วยลดมลภาวะและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากและถ้าไม่ตั้งเป้าหมายคงคิดไม่ออกว่าจะผ่านสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

“ผมเองไม่ได้ตั้งเป้าหมายให้เฉพาะเครือซีพีว่า 10 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2573 ต้องเป็น Net zero แต่ผมยังบังคับตัวเองด้วยอย่างการขับเคลื่อนมา 3-4 ปี ดีขึ้นแค่ 10-20%ทำอย่างไรจะให้ถึงศูนย์ทำให้เข้าสู่พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดคาร์บอนเพื่อเกิด Net zero”

“ศุภชัย” ดัน CP ก้าวที่ 100 ลุยผู้นำองค์กรพัฒนายั่งยืน

สำหรับ “พลังงานหมุนเวียน” ก่อนอื่นต้องเริ่มจากการคำนวณว่าทั้งระบบนิเวศใช้พลังงานเท่าไหร่ โดยตอนนี้อย่างมากทำไปได้10% ดังนั้นยังต้องลงทุนอีกมาก และซีพีตั้งเป้าหมาย 5 ปี จะลงทุนพลังงานหมุนเวียน 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์ โดยพลังงาน 50% จะป้อนซีพีและอีก 50% ป้อนลูกค้าภายนอก

ทั้งนี้ ปัจจุบันซีพีใช้พลังงานอยู่แล้วแต่ส่วนมากจากเชื้อเพลิงแก๊สและฟอสซิล และต่อมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยอนาคตเพียงแต่เปลี่ยนต้นทุนมาเป็นพลังงานทดแทน โดยมองการลงทุนที่มีเทคโนโลยีค่อนข้างชัวร์และไม่เสี่ยงมาก คือ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ซึ่งพลังงานที่แน่นอนสุด คือ พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะไทยมีพื้นที่รองรับแดดได้ดีและเป็นเมืองร้อน

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ป่าไม้” มองว่าการซื้อวัตถุดิบที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงระบบต้นน้ำ เช่น ฟาร์มข้าวสาลี ถั่วเหลืองและข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์และการเลี้ยงสัตว์ดังนั้นถ้าย้อนกลับได้ถึงระดับฟาร์มและให้ค่าตอบแทน เพื่อให้เข้าร่วม Carbon neutral ก็จะเห็นผลเป็นรูปธรรม

“หากให้อินเซนทีฟกับฟาร์ม เมื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้วมีพื้นที่เหลือก็ปลูกไม้ยืนต้น อันนี้จะเป็นเรื่องกรีน ประกอบกับเราทำเรื่องความยั่งยืนจะไม่ซื้อสินค้าที่ได้จากการบุกรุกป่าหรือทำลายป่า และถ้าเป็นไปได้เราอาจต้องไปซื้อของที่ฟื้นฟูป่าด้วย”

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างโครงการที่ซีพีสนับสนุนระดับฟาร์ม อาทิ การพัฒนาในจังหวัดน่าน ส่งเสริมหมู่บ้าน 2-3 หมู่บ้าน เพื่อไม่ให้ตัดไม้ โดยผลักดันการทำเกษตรด้วยการแบ่งพื้นที่ทำแหล่งน้ำ เพราะการทำเกษตรที่ดีต้องมีน้ำทำใหผลผลิตมากขึ้นเพราะมีระบบการจัดการน้ำ

ในขณะที่ "พลังต่อการเปลี่ยนแปลง" จะต้องกล่าวถึงบริษัทระดับโลก หรือ Global Compact ซึ่งบริษัทไทยมีถึง 80 บริษัท มีมูลค่าถึง 5 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้าร่วมทำเต็มที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อีก 500 แห่ง ที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้หากภาครัฐกำหนดเป้าหมาย Carbon neutral และ Waste รวมถึงมิติความยั่งยืน

“บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมากและหากมีเกณฑ์ชัดเจนผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเร็วขึ้น เพราะจุดเริ่มต้นของซีพีเกิดขึ้นจากการตระหนักรู้เชิงบังคับจากการให้อินเซนทีฟ ดังนั้นถึงเวลาต้องเรียนรู้แล้วไม่อย่างนั้นจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้”

นอกจากนี้เมื่อผลักดันสู่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีซัพพลายเชนมาก จะสร้างการตระหนักรู้ไปถึงบริษัทเล็ก และให้ปรับตัวและเกิดการเปรียบเทียบแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน

“ผมเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่า Transparency สำหรับการตั้งเป้าหมาย ตรวจสอบ และประกาศ ถือเป็นความโปร่งใส เมื่อโปร่งใสก็มีกลไกตลาดมีความตระหนักรู้ และกลไกตลาดจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงซีพีก็เหมือนกัน ซัพพลายเชน พาร์ทเนอร์มาร่วมตั้งเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน”

ทั้งนี้ องค์กรที่มีขนาดใหญ่ยิ่งต้องรีบดำเนินการ โดยสร้างการรับรู้ในองค์กร แต่สิ่งสำคัญ คือ “ผู้นำ” จะต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นเพราะทางหนึ่งมองว่าเป็นภาระ แต่อีกทางมองเป็นการสร้างแนวทางใหม่ ซึ่งต้องเปลี่ยนกรอบความคิดผู้นำว่าต้องเริ่มคิดเรื่องนี้ เพราะผู้นำที่ดีต้องมีมิติที่เป็นส่วนร่วม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงบริษัทและทำให้องค์กรยั่งยืนมากขึ้น