โควิด-19 ดันตลาดอีคอมเมิร์ซโตแรงในเวียดนาม

โควิด-19 ดันตลาดอีคอมเมิร์ซโตแรงในเวียดนาม

ทูตพาณิชย์เวียดนามชี้ช่องผู้ประกอบการไทยใช้แพลตฟอร์ม Shoppee Lazada Tiki โฆษณาสินค้าเข้าถึงผู้บริโภคเวียดนาม ชี้เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้เข้าชมมากที่สุด เผยตลาดอีคอมเมิร์ซโตเร็วด้วยผู้ใช้ 35.4 ล้านคน รายได้มากกว่า 13 พันล้านดอลลาร์ในปี 64

นางสุภาพร สุขมาก  สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม (สคต.) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 บริษัท iPrice Group ได้เผยแพร่รายงานการวิจัยเกี่ยวกับตลาดอีคอมเมิร์ซของ 3 ประเทศได้แก่ ประเทศเวียดนาม ไทย และมาเลเซีย วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้คือ ค้นหาความแตกต่างของแนวโน้มการช้อปปิ้งออนไลน์ของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ในเว็บไซต์ iPrice และ SimilarWeb ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของเครือ Sea Group การวิจัยระบุว่า Shopee เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบหลายอุตสาหกรรมที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงเกี่ยวกับการเข้าชมทั้งในประเทศเวียดนาม ไทย และมาเลเซียโดยเฉพาะ ในประเทศมาเลเซีย การเข้าชมแพลตฟอร์ม Shopee คิดเป็น 71 % ของการเข้าชม ทั้งหมดบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบหลายอุตสาหกรรมของมาเลเซีย รองลงมาคือแพลตฟอร์ม Lazada Malaysia 18 % และแพลตฟอร์ม PG Mall  9 %

 

ในประเทศไทย แพลตฟอร์ม Shopee Thailand คิดเป็น 57% และแพลตฟอร์ม Lazada Thailand คิดเป็น 35 % ของการเข้าชมทั้งหมด รองลงมาคือแพลตฟอร์ม Central Online เพียง 2%  ส่วนประเทศเวียดนาม แพลตฟอร์ม Shopee ยังคงคิดเป็น 57 % ของการเข้าชมทั้งหมด บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบหลายอุตสาหกรรม รองลงมาคือแพลตฟอร์ม Lazada Vietnam คิดเป็น 16 % และแพลตฟอร์ม Tiki คิดเป็น 13% แพลตฟอร์มอื่นๆ คิดเป็น 14% เวียดนามคิดเป็น 36%  ของผู้ใช้ที่มีปฏิสัมพันธ์ใน Facebook ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้ มีแนวโน้มที่จะกด "ไลค์" กด"หัวใจ" ปฏิสัมพันธ์ใน Facebook

โควิด-19 ดันตลาดอีคอมเมิร์ซโตแรงในเวียดนาม

นางสุภาพร กล่าวว่า  ตามรายงานของโซเชียลมีเดีย Napoleon Cat  ระบุว่า  81 % ของประชากรเวียดนามทั้งหมดเป็นผู้ใช้ Facebook (นับถึงเดือนต.ค. 2564) สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า Facebook ยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้บริษัทโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวียดนาม ข้อมูลของ บริษัท iPrice Group ยังแสดงให้เห็นว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 การเข้าชมเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ 10 อันดับแรกของเวียดนามโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของประเทศไทย และ 3เท่าของประเทศมาเลเซีย ในเดือนต.ค. 2564 รายงาน e-Conomy SEA 2021 ที่เผยแพร่โดยบริษัท Temasek Google และ Bain & Company ระบุว่าในปี 2564 ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามจะมีมูลค่า  13 พันล้านดอลลาร์ คาดว่าในปี 2568 ตลาดจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง 32% หรือประมาณ 39 พันล้านดอลลาร์ และจะกลายเป็น ตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองมาจากประเทศอินโดนีเซีย (แหล่งที่มา https://e.vnexpress.net/)

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19   ส่งผลให้เศรษฐกิจหลายด้าน แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซมีส่วนทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยประชากร วัยหนุ่มสาว ผู้บริโภคมีการใช้ Smart Phone ในอัตราที่สูง และผู้คนจำนวนมากทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ บนสมาร์ทโฟน ซึ่งในปี 2564 ตลาดอีคอมเมิร์ซในเวียดนามจึงเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยผู้ใช้ 35.4 ล้านคน และรายได้มากกว่า 13 พันล้านดอลลาร์ ในแพลตฟอร์ม Shopee คิดเป็น 57 % ของการเข้าชมทั้งหมดบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบหลายอุตสาหกรรม รองลงมาคือแพลตฟอร์ม Lazada Vietnam และ Tiki ในอนาคต ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นและกลายเป็นแนวโน้มใหม่ในการช้อปปิ้งของผู้บริโภคเวียดนามอีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามสนับสนุน และส่งเสริมการใช้อีคอมเมิร์ซในธุรกิจและชุมชน รวมถึงส่งเสริมการทำธุรกรรมการค้าข้ามประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้เป็นประเทศที่มีตลาดอีคอมเมิร์ซพัฒนาชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เวียดนามได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในตลาดอีคอมเมิร์ซของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19   การบริโภคดิจิทัลได้กลายเป็นแนวโน้มใหม่และจำนวนผู้ขายใน อีคอมเมิร์ซดิจิทัลเพิ่มขึ้น ดังนั้นขนาดของตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามก็ขยายมากขึ้น ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ Shoppee Lazada Tiki และ Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในเวียดนาม ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการขายสินค้า เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวเวียดนาม อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และโฆษณาสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพในตลาดเวียดนาม”นางสุภาพร กล่าว