ธปท.ชี้ โควิด-โอไมครอน ไม่สะเทือนเศรษฐกิจปีนี้ ลุ้นจีดีพีเกินคาด

ธปท.ชี้ โควิด-โอไมครอน ไม่สะเทือนเศรษฐกิจปีนี้ ลุ้นจีดีพีเกินคาด

ธปท.จับตา “โอไมครอน” ชี้ผลกระทบยังไม่ชัด ขอประเมิน 2-3 สัปดาห์ เทียบความรุนแรงเดลตา วิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจ เผย นโยบายการเงินการคลังมีกระสุนดูแลผลกระทบเศรษฐกิจ ลุ้นเศรษฐกิจไทยปีนี้โตกว่าคาดที่ 0.7%

       การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน กำลังเป็นที่จับตามองของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อนำมาเป็นปัจจัยสำหรับประมาณการเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปรียบเทียบผลกระทบกับสายพันธุ์เดลตา ที่เคยระบาดอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

     นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” เป็นประเด็นที่ ธปท.ต้องจับตาใกล้ชิด แต่ยอมรับว่า วันนี้ภาพของผลกระทบยังไม่ชัดเจนว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลตา

       ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์และองค์การอนามัยโลก (WHO) จะต้องใช้เวลาราว 2-3 สัปดาห์ เพื่อประเมินถึงความรุนแรงของโอไมครอน ซึ่งเชื่อว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ธ.ค.2564 น่าจะมีการพูดถึงสายพันธุ์โอไมครอนที่ชัดเจนมากขึ้น

     แต่อย่างไรก็ตาม จากการกลายพันธุ์ของโควิด โอไมครอน ครั้งนี้ สังเกตได้ว่า หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีการตื่นตัวค่อนข้างเร็วกว่าช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา รวมถึงบริษัทผลิตวัคซีนต่างๆ ที่เริ่มมีการตื่นตัว พยายามหาสูตรวัคซีนเพื่อป้องกัน ดังนั้นถือเป็นสัญญาณที่ดีว่า ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นจะมีการดูแลที่ดีและรวดเร็วขึ้น

มาตรการการเงิน-คลังมีต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ ถามว่า มาตรการการเงินการคลังมีรูมเพียงพอหรือไม่ ในการดูแลผลกระทบจาก โอไมครอน ที่ผ่านมา ในการประชุม กนง. จะเห็นว่า คณะกรรมการให้ความสำคัญมากในการดูแลเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวได้ อย่างแข็งแรง และนโยบายการคลังก็มีการออกมาต่อเนื่อง นอกจากนี้ การที่ภาครัฐพยายามเปิดเพดานหรือรูมมากขึ้น เพื่อให้มีความสามารถมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการทำมาตรการครั้งต่อไป

     ขณะที่นโยบายการเงิน ที่ผ่านมา มีหลายมาตรการที่ออกมาดูแล ไม่เฉพาะมาดูแลจากผลกระทบเดลตาเท่านั้น แต่ออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น จนถึงผลกระทบที่เกิดจากหลายระลอก 

     รวมถึงมีการออกมาตรการเพิ่มเติม หลังมีการแพร่ระบาดของเดลตาด้วย และเมื่อ 3 ก.ย.2564 ธปท.ยังมีการออกมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมด้วย

แนะใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด

    อีกทั้ง ยังมองไปถึงระยะถัดไปด้วยว่า จะทำอย่างไร ให้นโยบายการเงินสามารถช่วยลูกหนี้ รวมถึงดูแลเศรษฐกิจ ให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 และต้องให้เกิดการฟื้นตัวให้ได้ ดังนั้นสิ่งที่ ธปท.พยายามทำคือ ทำอย่างไรเพื่อที่จะได้ตรงจุด ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ที่สามารถช่วยได้ตรงจุดและตรงที่เกิดปัญหาได้จริง

      เช่น การช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง รวมถึงมาตรการที่สนับสนุนให้ลูกหนี้ปรับตัวได้ในระยะยาว รวมถึงมาตรการรวมหนี้ ที่เพิ่มออกมาล่าสุดด้วย เหล่านี้ก็เพื่อแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่มีสินเชื่อบ้าน

    ฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามาตรการจะออกต่อเนื่อง เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่จะมีการออกมาต่อเนื่อง และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่การฟื้นฟู สินเชื่อฟื้นฟูจะมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

      “หลายคนบอกว่า โอไมครอน แพร่เร็ว แต่เคสยังไม่เยอะ ยังไม่มากพอที่จะทำให้เราเห็นภาพ หรือตัดสินใจได้ ดังนั้นต้องใช้เวลา โดยเฉพาะหากเทียบกับเดลตา แต่วันนี้หลายฝ่ายมีการติดตามใกล้ชิด เราเองก็รอฟังอยู่เพื่อใช้ประเมินภาพ จากอาการที่เกิดขึ้น แต่ในช่วงที่ผ่านมา เราได้พัฒนาในแง่ของขีดความสามารถ ค่อนข้างมากทั้งในด้านสาธารณสุข การฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นตัวบอกเราว่า การเร่งดำเนินการปัญหาจะเกิดขึ้นได้เร็ว ดังนั้นถามว่าเหล่านี้จะกระทบการทำนโยบายการเงินการคลังหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าสามารถควบคุมได้เร็ว หรือไม่ หากจบเร็วคงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มาก”

ลุ้นเศรษฐกิจปีนี้โต 0.7%

      อย่างไรก็ตาม หากดูภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะไตรมาส 3 ที่ออกมา ถือว่าสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์พอสมควร ดังนั้นภาพรวมเศรษฐกิจทั้ง 4 ไตรมาส ก็น่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบที่ ธปท.ประเมินไว้ที่ 0.7% หรืออาจขยายตัวมากกว่าคาดเล็กน้อย เพราะมองว่าผลกระทบจากโอไมครอน ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้ น่าจะไม่มาก ซึ่งจะเห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในปีหน้ามากกว่า

      สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือน พ.ย.2564 ประเมินว่าเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง หากเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมาจากผลของการเปิดประเทศ และส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น หนุนให้เครื่องชี้หลายด้านปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกิดการฟื้นตัวในหลายภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการ ภาคการค้า ขนส่งและร้านอาหารที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น

       แต่อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามโควิด โอไมครอน ว่าจะมีพัฒนาการอย่างไร รวมถึง ปัญหาของ Supply Disruption รวมถึงการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงราคาพลังงาน และวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงด้วย

เศรษฐกิจ ต.ค.ปรับตัวดีขึ้น

     ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจเดือนต.ค.ปรับตัวดีขึ้น ตามการบริโภคเอกชน รวมถึงผลของมาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 ที่คลี่คลายมากขึ้น รวมถึงภาคส่งออก ที่ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น

     ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาผักที่ผลผลิตได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน ตามดุลรายได้ บริการ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง

     โดยหากดูด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ และการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าต่อเนื่องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทยอยฟื้นตัว 

     สำหรับค่าเงินบาท เดือนต.ค.เฉลี่ยแล้ว ถือว่าอ่อนค่า ตามสกุลเงินในภูมิภาค หลังนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่อย่างไรก็ดี ช่วงปลายเดือนจะเห็นว่า เมื่อมีการแถลงเปิดประเทศของไทย ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่โดยรวมยังอ่อนค่าหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า

     ส่วนค่าเงินบาทในเดือนพ.ย.แข็งค่าขึ้น จากผลบวกต่อเนื่องจากการเปิดประเทศและโควิดที่คลี่คลาย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน หนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์