KUB-JFIN กระแสแห่ลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี หลังปรากฏการณ์เชื่อมธุรกิจ

KUB-JFIN  กระแสแห่ลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี หลังปรากฏการณ์เชื่อมธุรกิจ

ปรากฏการณ์ราคาเหรียญ คริปโทเคอร์เรนซีสายพันธุ์ไทย ทำราคานิวไฮ ด้วยแรงซื้อเก็งกำไร และภายในวันเดียวกัน ราคาก็ร่วงลงอย่างรุนแรง จากราคาไปสู่ดวงจันทร์ ถูกดึงลงมายังภาคพื้นดินได้อย่างง่ายดาย เป็นเรื่องปกติในตลาดที่มีความเสี่ยงสูงมาก อย่างคริปโทเคอร์เรนซี

โดยปฏิกิริยาราคาไปถึงดวงจันทร์หรือ go to the moon ของ “บิทคับ คอยน์” หรือ KUB เริ่มตั้งแต่เกิดดีลเข้าซื้อหุ้นใน บิทคับ (Bitkub) X กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ต้นเดือนพ.ย. ที่ผ่านมาส่งผลทำให้ราคา KUB เริ่มมีการปรับตัว ทำให้มูลค่าการซื้อขายคึกคักมีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก จากต้นปี 2564 ราคาเหรียญนิ่งอยู่ที่ 16-18 บาทต่อเหรียญ

จากนั้นมีการประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่องใช้เหรียญคริปโทเคอร์เรนซี ชำระแทนเงินสดในอสังหาริมทรัพย์ ผ่าน Wallet ของบิทคับ ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN จนในช่วงสัปดาห์เดียว 26-30 พ.ย. 64 ราคาทะลุ 100 บาทต่อเหรียญได้เป็นครั้งแรก จากข่าวการบิทคับ X กลุ่มเดอะ มอลล์ กรุ๊ป จัดตั้ง “บิทคับ เอ็ม” ถือหุ้นในสัดส่วนคนละ 50 % ซึ่งเบื้องต้น สามารถนำสกุลเงินดิจิทัลมาแลกสินค้าและบริการ ที่ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า ในเครือเดอะ มอลล์ กรุ๊ป และไม่มีค่าธรรมเนียม

การเก็งกำไรใน KUB พุ่งทะยานไปถึงราคาสูงสุด 500 บาท (30 พ.ย.) เรียกได้ว่าสัปดาห์เดียว ผลตอบแทน 367 % ก่อนที่ราคาเหรียญจะร่วงระเนระนาดเป็นลักษณะขายทำกำไรและเทกระจาดขายเหรียญออกมาจนราคาลงอยู่ที่ 234 บาทในวันเดียวกัน

เนื่องจากมีข้อมูลก่อนหน้านี้ว่าวันที่ 1 ธ.ค.64 จะมีการทยอยปลดล็อกเหรียญ KUB จำนวนนับล้านเหรียญจากแพลตฟอร์ม Bitkub next หรือ Bonus kub ที่มีการล็อกเหรียญไว้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 ซึ่งเป็นอีกแรงทำให้เห็นราคาร่วงตามหลักดีมานด์และซัพพลาย

อีกเหรียญที่จะไม่เขียนถึงไม่ได้  JFIN Coin หรือ  JFC  บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่ปล่อยเหรียญมาตั้งแต่ปี 2561 ราคา ICO 6.60 บาท สามารถขายได้หมดเกลี้ยงแต่กลับไม่ประสบความสำเร็จราคาเปรี้ยงปร้างในตลาดรอง ด้วยมูลค่าของเหรียญไม่เพิ่มขึ้นจนราคาลงไปต่ำถึงติดลบ

จุดเปลี่ยนของ JFC ช่วงเดือนก.ย. หลังกลุ่มเจมาร์ท ตั้งแต่ JV ร่วมกับกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ที่มีบริษัทลูกทั้ง ธุรกิจตามทวงหนี้ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ,บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ,ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เจเอเอส จำกัด (มหาชน) หรือ J และ บริษัท เจฟินเทค จำกัด เป็นผู้ออกเหรียญ JFC

และปรากฏการณ์กลุ่ม JMART X เกิดขึ้นอีกเมื่อมีการยอมรับเข้าร่วมเป็นพันธมิตรผ่าน JV กับทางธนาคารกสิกรไทย ในธุรกิจ AMC หรือธุรกิจบริหารหนี้สิน ซึ่งคาดจะเกิดขึ้นปี 2565 หลังแบงก์ชาติปรับเกณฑ์ด้านข้อบังคับและกฎหมาย ส่งผลทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะมีการนำสินทรัพย์รวมไปถึงเหรียญ JFC ภายในกลุ่มทำให้เกิดมูลค่า

ช่วงสัปดาห์เดียวกันราคาอยู่ที่ 62-85 บาทต่อเหรียญ และมีแรงซื้อไล่ราคาเก็งกำไรหนาแน่นดันราคาขึ้นมาทะลุ 100 บาทได้เช่นกัน ( 29 พ.ย. ) และราคาไปทำนิวไฮ ที่ 243 บาท ( 30 พ.ย. ) หรือบวกไปถึง 300 % ก่อนที่จะปรับตัวลงมาแรงเช่นกันภายในวันเดียวในลักษณะแห่เทขายราคามาอยู่ที่ 83 บาท

ราคาทั้ง 2 เหรียญมีแรงขับเคลื่อนการเก็งกำไรสูงมากด้วยเป็นตลาดที่ผันผวนอยู่แล้ว แต่ด้านการดำเนินธุรกิจทั้ง 2 บริษัทมีสิ่งที่เหมือนกันคือ การสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ (Ecosystems) ด้วยสินค้า บริการ ช่องทาง และต้องสร้างประสบการณ์ที่ให้กับลูกค้าได้ และกลายเป็นธุรกิจดิจิทัลสามารถตอบโจทย์และทลายข้อจำกัดบางอย่าง เช่น กฎเกณฑ์ของภาครัฐไปได้อย่างสิ้นเชิง ส่งผลทำให้ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในไทย เป็นช่องทางใหม่ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจต่างกระโดดเข้ามาอีกจำนวนมาก

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์