Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 29 November 2021

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 29 November 2021

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 66-73 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 29 November 2021

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 พ.ย. – 3 ธ.ค. 64)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ปรับลดลงอย่างมากจากความกังวลเรื่องของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้และคาดจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มที่จะคงกำลังการผลิตในเดือน ม.ค. 65 เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19และอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการปล่อยคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 2 ธ.ค. อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นและปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในยุโรปที่มีความรุนแรงค่อนข้างมาก

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
-  จับตาการประชุมของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรในวันที่ 2 ธ.ค. ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะเดินหน้าเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นตามข้อตกลงเดิมที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นที่ราว 4 แสนบาร์เรลต่อวันหรือไม่ หลังจากกลุ่มประเทศผู้ใช้น้ำมันทั่วโลกร่วมกันปล่อยน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกลุ่มโอเปค ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเกินดุลเพิ่มเติมกว่า 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ม.ค. 65 และ ก.พ. 65 ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มผู้ผลิตอาจจะไม่ปรับเพิ่มปริมาณการผลิตในเดือน ม.ค. 65
 

 

 

-  เศรษฐกิจและปริมารความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันเนื่องจากมีการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในทวีปยุโรปที่ปรับตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรป อาทิเช่น ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ มีการออกมาตรการจำกัดกิจกรรมทางสังคมอีกครั้ง เพื่อลดการติดเชื้อลง ขณะที่ เยอรมันอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์การติดเชื้อและพิจารณาว่าจะมีการออกมาตรการตาม 2 ประเทศดังกล่าวหรือไม่ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายงานโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ารายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในทวีปยุโรป สิ้นสุด ณ วันที่ 24 พ.ย.64 ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับกว่า 4.0 แสนราย ซึ่งระดับดังกล่าวถือเป็นระดับที่สูงกว่าการแพร่ระบาดในครั้งที่แล้ว
-  จับตาความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและ 6 ประเทศในวันที่ 29 พ.ย. นี้ ว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้หรือไม่ โดยความคืบหน้าล่าสุดทางสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามีโอกาสที่จะสามารถหาข้อสรุปได้ ทั้งนี้หากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงได้จะส่งผลให้อิหร่านสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตและการส่งออกขึ้นได้ราว 1.0 – 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าปริมาณการส่งออกจริงคาดจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า
- ประเทศผู้ใช้น้ำมันหลายประเทศทั่วโลกนำโดย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย เตรียมปล่อยน้ำมันดิบออกจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อคลายความตึงตัวของตลาด โดยสหรัฐฯ จะปล่อยน้ำมันดิบออกมาทั้งหมดรวม 50 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และมีผลกระทบต่อตลาดน้อยกว่าที่คิด เนื่องจากปริมาณโดยส่วนใหญ่กว่า 32 ล้านบาร์เรลจะต้องมีการซื้อคืนในภายหลัง 
 

-  โกลด์แมน แซคส์ คาดราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและคาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในไตรมาส 4 ของปี 2564 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากตลาดน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในภาวะขาดดุลต่อเนื่อง จากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่อุปทานมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับจำกัด และ การปล่อยปริมาณน้ำมันดิบจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ ของหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในระดับที่น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ จึงทำให้ผลกระทบอยู่ในระดับจำกัด
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวลดลงตามปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ล่าสุด ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 19 พ.ย. 64 รายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.5 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น
-  การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบต่อเนื่องกว่า 16 เดือนติดต่อกันตามราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูง ล่าสุดปริมาณการขุดเจาะสำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 25 พ.ย. รายงานโดย Baker Hughes ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ เม.ย. 63 ที่ราว 467 แท่น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เป็นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ราว 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

-  อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วส่งผลกดดันต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดิบ โดยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค.64 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการพิจารณาที่จะลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเร็วขึ้นกว่าเดิมและอาจจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าที่กำหนด จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดมากกว่านับตั้งแต่เดือน ก.ค. 63 
-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการสหรัฐฯ เดือน พ.ย.64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจีน เดือน พ.ย.64 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการยูโรโซน เดือน พ.ย.64

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 - 26 พ.ย. 64)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 7.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 68.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 6.17 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 72.72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.47 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในยุโรป ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้จึงส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากการปล่อยปริมาณน้ำมันดิบจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศผู้ใช้น้ำมันที่น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และปริมาณโดยส่วนใหญ่จะต้องมีการซื้อคืนในภายหลัง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากข่าวที่กลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรส่งสัญญาณอาจจะไม่ปรับเพิ่มปริมาณการผลิตในเดือน ม.ค. 65 หลังมีการปล่อยน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์แล้ว