ผ่าดีลร้อน “TRUE-DTAC” ผ่านมุมมอง “เซียน & กูรู”

ผ่าดีลร้อน “TRUE-DTAC” ผ่านมุมมอง “เซียน & กูรู”

เครือซีพี-เทเลนอร์ จับมือสร้างอภิมหาดีล TRUE-DTAC ผุดควบรวม “บริษัทใหม่” ใหญ่กว่าเดิม ! ส่งแรงสั่นสะเทือนธุรกิจสื่อสารก่อนหมดปี 2564 “เสี่ยป๋อง-โจลูกอีสาน” วิพากษ์มุมหุ้นถือว่าบวก เหตุต้นทุน-เงินลงทุนลด-แข่งขันไร้รุนแรง แต่แง่ผู้บริโภคทางเลือกน้อยลง เดิม 3 เหลือ 2

พลันเกิดแรงกระเพื่อม ! ในแวดวงธุรกิจสื่อสารทันทีตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 19 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา หลัง “เทเลนอร์ กรุ๊ป” ผู้ถือหุ้นใหญ่ของค่ายมือถือสีฟ้า บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC กล่าวในงานแถลงข่าวที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ว่า “เทเลนอร์” กำลังหารือกับ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (เครือซีพี) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE ถึงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่เท่าเทียมกัน หรือ Equal Partnerships ระหว่าง DTAC-TRUE ซึ่งหากสำเร็จจะทำให้เกิดผู้นำตลาดโทรคมนาคมรายใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทันที ! 

เมื่อไร้ความลับในโลกยุคดิจิทัล !! สะท้อนผ่าน “พูดทางโน้น เป็นกระแสดังถึงทางนี้ !” จนเกิดเป็นกระแสพูดถึงดีลดังกล่าวเกิดขึ้น “จริง” หรือ “ลวง” ก่อนที่ TRUE-DTAC จะส่งหนังสือชี้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คล้ายๆ กันว่า หากมีข้อชี้แจ้งใดๆ ที่ทางบริษัทมีหน้าที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจะแจ้งข้อมูลต่อไป ! ยิ่งทำให้เกิดเสียงเม้าท์ในวงกว้างว่าเป็นท่าทีที่ไม่ชัดเจนเสียเลย... 

หลังเป็นกระแสต่อเนื่องมาเป็นระยะๆ และต้นสัปดาห์ (22 พ.ย.) ทุกความคลุมเครือถูกไขให้กระจ่างหลังทั้ง TRUE-DTAC ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมกันถึงมติคณะกรรมการ (บอร์ด) ว่า ทั้ง 2 บริษัทเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ควบบริษัทระหว่างกัน และรับทราบความประสงค์ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ นอกจากนี้ยังได้พิจารณากำหนดอัตราการจัดสรรหุ้นด้วย

สำหรับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท ให้แก่ผู้ถือหุ้นของ TRUE และผู้ถือหุ้นของ DTAC ในอัตราส่วน ดังนี้ คือ 1 หุ้นเดิมใน TRUE ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน DTAC ต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ ซึ่งอัตราการจัดสรรหุ้นข้างต้นกำหนดขึ้นจากสมมุติฐานว่า ภายหลังการควบบริษัท บริษัทใหม่จะมีหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด จำนวน 138,208,403,204 หุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

นอกจากนี้คณะกรรมการ 2 บริษัท รับทราบจาก บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture Company) ระหว่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ TRUE และ เทเลนอร์ เอเชีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ DTAC โดย Citrine Global มีความประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข

ก่อนการทำคำเสนอซื้อ TRUE ในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 5.09 บาท ขณะที่ความประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ DTAC โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ ราคาเสนอซื้อหุ้นละ 47.76 บาท

ผ่าดีลร้อน “TRUE-DTAC” ผ่านมุมมอง “เซียน & กูรู” เรียกว่ารายละเอียดของ “บริษัทใหม่” ระหว่าง TRUE-DTAC แจกแจงแบบกระจ่างไม่ต้องถามหรือสงสัย ! ว่าคุยกันมานานแค่ไหนแล้ว... เมื่อเกิดแรงบวกต่อธุรกิจด้วยกัน แต่ก็มาพร้อมกับแรงต้านทานจากการกินรวบตลาดทันทีหลังมีการประกาศ สะท้อนผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทั้ง TRUE-DTAC ชี้แจ้งดีลดังกล่าวทุกการเคลื่อนไหว 

“กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” สอบถามดีลใหญ่สดๆ ร้อนๆ ดังกล่าวกับเหล่า “นักลงทุนรายใหญ่-กูรูตลาดหุ้น” !!  

“โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง” อดีตนายกสมาคม นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ “วีไอ” เล่าให้ ฟังว่า สำหรับการควบรวมธุรกิจของ TRUE-DTAC และตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมานั้น ส่วนตัวมองว่าในแง่ของ “ผู้บริโภค” อาจจะทำให้ทางเลือก “ลดลง” เนื่องจากเดิมมีผู้เล่นในตลาด 3 ราย แต่กำลังจะเหลือเพียง 2 ราย

แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงกำลังดูความเคลื่อนไหวของประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากประเด็นดังกล่าวอาจทำให้รายใดรายหนึ่งมีอำนาจควบคุมตลาดมากไป และทำให้การแข่งขันในตลาดน้อยลง ซึ่งจะกระทบกับผู้บริโภคในที่สุด

ทั้งนี้ หากมองในมุมของการทำ “ธุรกิจ !” ก็ต้องบอกว่าเป็น “ผลบวก” ทั้ง TRUE-DTAC เมื่อการควบรวมกันเกิดขึ้นมาเป็น “บริษัทใหม่” แล้ว เชื่อบริษัทดังกล่าวต้องมีผลการดำเนินงานเป็น “กำไร” ทันที

และที่สำคัญภาพของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมการแข่งขันจะ “ลดความรุนแรง” จากช่วงที่ผ่านมา หลังเหลือผู้เล่นในตลาดเพียง 2 รายเท่านั้น

สำหรับ ผลบวกของการควบรวมบริษัทครั้งนี้ ! ค่าใช้จ่ายลดลง และงบลงทุนลดลงได้ ดังนั้น จะทำให้ได้เห็นรายได้ปรับเพิ่มขึ้นในทันทีที่รวมกันแล้วเสร็จ ขณะที่กำไรก็จะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อโครงสร้างต้นทุนประจำและค่าใช้จ่ายดีขึ้นแล้ว

ผ่าดีลร้อน “TRUE-DTAC” ผ่านมุมมอง “เซียน & กูรู” อนุรักษ์ บุญแสวง

“เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง” นักลงทุนด้านเทคนิค เจ้าของพอร์ตลงทุน “หลักพันล้านบาท” วิเคราะห์ให้ฟังว่า หากมองในแง่ของธุรกิจถือว่าเป็นผลบวกกับทั้ง TRUE-DTAC เนื่องจากบริษัทใหม่ต้นทุนการดำเนินงานก็ลดลง เงินลงทุนไม่สูงมาก เพราะแต่ละฝ่ายมี “จุดเด่น” ที่ต่างกันเมื่อรวมกันแล้วก็ถือว่าเหมาะสม 

โดย TRUE มีเครือข่ายจำนวนมาก หลังจากบริษัทมีการประมูลคลื่นความถี่อยู่ในมือจำนวนมาก ดังนั้น จึงอยากจะลดเรื่องลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพหลังการลงทุนจำนวนมหาศาลไปแล้วด้วยการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่เข้ามา 

ขณะที่ DTAC มีความถนัดเรื่องการควบคุมต้นทุนที่ดี สะท้อนจากบริษัทมีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง แต่เครือข่ายมีไม่มาก เพราะไม่ได้ลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เหมือน TRUE แต่ในการทำธุรกิจบริษัทต้องการคลื่นมารองรับฐานลูกค้าของตัวเอง ดังนั้น เมื่อรวมกันเป็นบริษัทใหม่ก็จะปิดจุดอ่อนของแต่ละฝ่ายได้ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นชัดเจนประเด็นแรกเรื่องของ “การแข่งขันไม่รุนแรง” เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมดีขึ้นชัดเจน สะท้อนภาพจากราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารทั้ง 3 ราย TRUE-DTAC และ ADVANC ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวดังกล่าวเนื่องจากทุกฝ่ายมีความเห็นเหมือนกันว่าการแข่งขันของอุตสาหกรรมจะลดลง ไม่เหมือนที่ผ่านมาตอนที่จะมี “ผู้เล่นรายที่4” เข้ามาในตลาดตอนนั้นราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารร่วงรับข่าวดังกล่าวทันที 

ผ่าดีลร้อน “TRUE-DTAC” ผ่านมุมมอง “เซียน & กูรู” วัชระ แก้วสว่าง

โบรกฯ มองธุรกิจรวมกันดีขึ้น ! 

“ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) บอกว่า กรณีการควบรวมกันของ TRUE-DTAC นั้น คาดว่าทั้งสองฝ่ายมีการศึกษาทำธุรกิจร่วมกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากเรื่องที่แจ้งมีรายละเอียดของการจัดตั้งรูปแบบบริษัทใหม่แล้ว โดยในมุมมองการทำธุรกิจนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากทั้ง TRUE-DTAC รวมกันทำให้ปิด “จุดอ่อน” ของทั้งคู่ ในเรื่องของคลื่นสัญญาณ 

“TRUE มีคลื่นมาก ขณะที่ DTAC มีคลื่นน้อย หากรวมกันแล้ว DTAC ไม่ต้องเช่าคลื่น และ ต้นทุนที่ลดลง ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมดูดีขึ้น เนื่องจากการแข่งขันเรื่องของราคาน่าจะไม่รุนแรงแล้ว”

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีความผิดพลาดการควบรวมกิจการของ 2 บริษัท คือ TRUE-DTAC คาดว่าหลังจากนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการเตรียมเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียน โดยกระบวนการทั้งหลายคาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-6 เดือน สำหรับราคาหุ้น DTAC-TRUE ปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบรับข่าวดังกล่าวไปแล้ว โดยหลังจากนี้คาดว่าราคาจะแกว่งออกด้านข้าง เพื่อรอดูการประชุมผู้ถือหุ้น และความเห็นของกสทช.

อย่างไรก็ตาม กรณีการควบรวมกันของ TRUE-DTAC นั้น ลักษณะจะใกล้เคียงกับกรณี การควบรวมของ BECL-BMCL ซึ่งออกมาเป็นบริษัทใหม่ คือ BEM ซึ่งตามกระบวนการหากมีเรื่องเทนเดอร์ฯ ต้องมีกระบวนการจัดการและยุติหุ้นเดิมก่อนเพื่อออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และโดยส่วนตัวคาดว่าการควบรวมน่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะทีมกฎหมายคงศึกษาข้อมูลมาก่อนหน้านี้เป็นอย่างดีแล้ว ก่อนจะมีข่าวออกมา

“เรามีมุมมองที่เป็นบวกกับการควบรวมกิจการครั้งนี้ โดยเห็นว่าจะเป็นการนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัทมาก่อให้เกิด Synergies และลบข้อจำกัดในการทำธุรกิจที่เคยมี เพราะ BECL เป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินดี แต่ไม่มีแผนลงทุนใหม่มากนัก ส่วน BMCL มีหนี้สินสูงแต่ธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงเติบโตและต้องการเงินทุน เมื่อควบรวมกันแล้วก็จะเป็น BEM ที่มีทั้งเงินลงทุนและโครงการลงทุนใหม่ๆ ที่จะสร้างรายได้และกำไรเพิ่มในอนาคต”

“พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า การควบรวมระหว่าง DTAC และTRUE ยังมีขั้นตอนการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กสทช.และกระทรวงพาณิชย์ จึงคาดว่าจะใช้เวลาเทนเดอร์ช่วงกลางปี 2565 หรือครึ่งหลังปี 65 ขณะที่ดีลการควบรวมคาดจะแล้วเสร็จเป็นเวลา 2 ปี จากการต้องดำเนินการควบรวมตามขั้นตอนต่างๆ ใช้เวลา 1 ปี และอีก 1 ปี ในการนำทรัพย์สินรวมกัน เพื่อสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อลดต้นทุนต่างๆ

“ซิกเว่-ศุภชัย” แถลงความร่วมมือกัน 

“ซิกเว่ เบรกเก้” ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ และดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทระหว่างกัน โดยเทเลนอร์ กรุ๊ปและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี)ได้เข้าทำบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (Non -Binding Memorandum of Understanding) เพื่อบันทึกความประสงค์ของคู่สัญญาในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจระหว่างกันด้วยวิธีการควบบริษัท (Amalgamation) รวมถึงกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนของการควบบริษัท

ขั้นตอนต่อจากนี้ไป จะเข้าสู่กระบวนการตวจสอบวิเคราะห์ สถานะทางธุรกิจ (Due Diligence) คาดว่าจะจบได้ในไตรมาส 1/2565 จากนั้นในไตรมาส 2/2565 จะสามารถลงนามในสัญญา หรือข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการทางตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงเข้าสู่กระบวนการทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) ต่อไป เพื่อรวมกิจการทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน 

สำหรับ การดำเนินธุรกิจากนี้ไปหรือ 20 ปีข้างหน้า จะแตกต่างจากเดิมมาก เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5จี เอไอ ไอโอที คลาวด์ จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่ใช่แค่บริษัทแต่จะเป็นกับทุกบริษัททั่วโลก เป็นการปฎิวัติเชิงเทคโนโลยี ทำให้บริษัทจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับทรู เพื่อเตรียมพร้อมก้าวไปสู่ในอีก 20 ปีข้างหน้า และต้องทำในสิ่งที่ต่างจากเดิมที่ทำมาในอดีต

ทั้งนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย อยู่ในพื้นที่ที่ดีมาก ที่จะก้าวไปสู่ดิจิทัลในอนาคตด้วยกัน ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้ในอนาคต ขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ จะสามารถทำให้ผู้บริโภคชาวไทยเข้าถึงดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ดีแทคออกมาประกาศสร้างธุรกิจใหม่

อย่างไรก็ตามบริษัทใหม่ที่จะก่อตั้งร่วมกัน ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มเทเลนอร์ จะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน และเมื่อรวมกันแล้วจะส่งผลให้มีความแข็งแกร่ง ที่จะเดินหน้าลงทุนในนวัตกรรมระดับโลก รวมถึงบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคคนไทย

พร้อมกันนี้บริษัทใหม่ จะมีขนาดที่ใหญ่มาก โดยจะมีรายได้ประมาณ 2.17 แสนล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (อีบิทด้า) ราว 83,000 ล้านบาท รวมถึงจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงรายได้ราว 40% ใกล้เคียงกับผู้เล่นรายใหญ่ อย่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส และยังคงเป็นผู้เล่นรายใหญ่อยู่ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่อุตสาหกรรม

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการกลุ่มทรูฯ กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (แลนด์สเคป) ได้เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคมจะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี 

รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

การก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยี คือ กุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดด และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กระจายไปทั่วประเทศได้ ซึ่งในฐานะบริษัทไทย 

สำหรับปัจจัยที่สององค์กรร่วมเป็นพันธมิตรกัน เพราะได้เล็งเห็นว่าทั้งคู่มีข้อจำกัด ที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าต่อได้ ข้อจำกัดที่ว่าเรายังเป็นผู้ประกอบการที่ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้บริโภคและประเทศไทยได้