"กกพ.-สขค.” ร่วมเสริมเขี้ยวเล็บ คุมการแข่งขันธุรกิจพลังงาน

"กกพ.-สขค.” ร่วมเสริมเขี้ยวเล็บ คุมการแข่งขันธุรกิจพลังงาน

“กกพ.-สขค.” ร่วมศึกษาแนวทางกำกับกิจการพลังงาน หวังสร้างความเป็นธรรม เกิดประโยชน์กิจการพลังงาน-ผู้บริโภค เลขากกพ.ระบุ ตัวอย่างควบรวมแม็คโคร ถือเป็นกรณีศึกษา หวังนำมาปรับใช้ในธุรกิจพลังงาน

ปัจจุบันเราจะพบว่าผู้ประกอบธุรกิจหลายราย แม้เป็นคู่แข่งกันก็มักจะหันมาจับมือควบรวมธุรกิจกันอยู่บ่อยครั้ง ไม่เว้นแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ละประเทศจึงต้องมีกฎหมายรองรับเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเกิดความเป็นธรรม

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า หลังจากการที่สำนักงานกกพ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการกำกับดูแลการแข่งขันในการประกอบกิจการพลังงาน กับสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าในกิจการพลังงาน และเพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ทันต่อพัฒนาการของรูปแบบและพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบกิจการพลังงานและผู้บริโภคในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานจะให้ฝ่ายยุทธศาสตร์ร่วมวางโปรแกรม เรียนรู้วิธีการทำงาน เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนทางวิชาการ องค์ความรู้ร่วมกัน ซึ่งทางกกกพ. อาจนำแนวทางของสขค.มาปรับใช้ในบางเรื่อง อาจจะใช้ได้หรือไม่ได้หมดทุกข้อกฎหมาย ยืนยันว่าสขค.ไม่ได้มายุ่งหรือก้าวก่ายในด้านกฎหมายกับกกพ.ที่มีพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงานกำกับอยู่แล้ว จะเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากกว่า และการกำกับกลุ่มธุรกิจต่างกัน เพราะสขค.จะกำกับตลาดย่อยรายเล็ก ส่วนกกพ.จะกำกับดูแลตลาดใหญ่ที่เป็นโครงข่ายพลังงาน มีข้อจำกัดทางด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานต่างๆ ที่มากกว่า

 “ในการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจพลังงานของกกพ.ทั้งรัฐ-เอกชนนั้น จริงๆ และไม่ต่างกัน เพราะทั้งรัฐ-เอกชน ถือเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะทางการค้าชัดเจน ดังนั้น สขค.จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องของกฎหมายกำกับดูแลด้านพลังงานที่เป็นธุรกิจเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมากรณีการควบรวมโลตัส กับ แม็คโคร ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ หรือ กรณี ดีแทค กับ ทรู ที่มีสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำกับดูแลอยู่แล้ว โดยการทำงานร่วมกันครั้งนี้ จะนำเอาธุรกิจของแต่ละกิจการที่มีการควบรวมมาดูว่าเมื่อควบรวมแล้วจะมีการกำกับอะไรบ้าง อย่างแม็กโคร เป็นการขายสินค้าเสรี ใครมาซื้อก็ได้ ซึ่งไฟฟ้าจะไม่เหมือนกัน”

หากย้อนไปกรณีตัวอย่างการควบรวมกิจการของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการกับ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2561 กกพ.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ GPSC ควบรวมกิจการกับ GLOW ภายใต้ 2 เงื่อนไขหลัก คือ 1. กำหนดให้ โกลว์ ขายกิจการ บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด ให้แล้วเสร็จก่อน หรือเวลาเดียวกันกับการควบรวม และ 2. กำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต 11 ข้อ เพื่อความคุ้มครองกลุ่มลูกค้าผู้ซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มธุรกิจโกลว์ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล

ทั้งนี้ ถือเป็นดีลที่มีมูลค่าแสนล้านส่งท้ายปี2561 ซึ่งในการขออนุญาติครั้งแรก กกพ. ไม่อนุมัติ โดยคณะกรรมการชุดพิเศษที่มาด้วยคำสั่งพิเศษ ตามมาตรา 44 และยกคำอุทธรณ์ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ไม่อนุมัติให้ GPSC ซื้อหุ้น GLOW โดยให้เหตุผลว่าการดำเนินการดังกล่าวส่งผลต่อการลดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 รวมทั้งการพิจารณาของ กกพ. ยังเป็นการพิจารณาที่ตระหนักถึง การสร้างบรรทัดฐานในการพิจารณาในระยะยาวด้วย
นอกจากนี้ การรวมกิจการดังกล่าวส่งผลให้พื้นที่อุตสาหกรรมในบางพื้นที่ จะมีบริษัทที่มีอำนาจการบริหารกิจการไฟฟ้าลดลงเหลือเพียงรายเดียว จึงเป็นการลดการแข่งขัน ถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่การให้บริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็ตาม เพราะพบว่า การให้บริการของ กฟภ. ก็ไม่สามารถทดแทนการให้บริการของลูกค้ากลุ่ม GLOW ได้ เนื่องจากเหตุผลทางคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ต้องการความมีเสถียรภาพ รวมทั้ง กฟภ. ยังต้องจำหน่ายไฟฟ้าในราคาเดียวกันทั่วประเทศ (Uniform Tariff) ทำให้ไม่สามารถให้อัตราส่วนลดกับผู้รับบริการได้ ส่งผลให้เกิดการลดการแข่งขันดังกล่าว
สำหรับเหตุผลที่ โฆษก กกพ. สมัยนั้น โดย น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า การที่ กกพ. ไม่อนุมัติและยกคำอุทธรณ์ในรอบแรก เนื่องจากข้อเสนอยังคงมีผลต่อการลดการแข่งขันในบางพื้นที่ ต่อมา GPSC ได้ยื่นเรื่องหลังปรับโครงสร้างทางธุรกรรมที่ความชัดเจนขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาลดการแข่งขัน ตามมติและข้อห่วงใยเดิมของ กกพ. จึงเห็นว่าการควบรวมดังกล่าวเป็นข่าวดี ช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคตะวันออก
มติของ กกพ. มีการกำหนดเงื่อนไขบังคับหลังการรวมกิจการ เพิ่มเติมท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้รับใบอนุญาต บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) จำนวน 11 ข้อ และผู้รับใบอนุญาตบริษัทในเครือได้แก่ 1. บริษัท โกลว์ เอสพีพี 11 จำกัด 2.บริษัท โกลว์ เอสพีพี 2 จำกัด (จำนวน 2 ฉบับ) และ 3. บริษัท โกลว์ เอสพีพี 3 จำกัด รายละจำนวน 10 ข้อ รวมจำนวน 4 ราย 5 ฉบับ
สำหรับเงื่อนไขแนบท้ายสัญญา จำนวน 11 ข้อ ประกอบด้วย การอำนวยความสะดวกกรณีลูกค้าเดิมเปลี่ยนผู้ให้บริการไฟฟ้า หากผู้รับใบอนุญาตเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นในการรวมกิจการ ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนอย่างเคร่งครัด, การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจ, การให้บริการอย่างมีมาตรฐานและไม่เลือกปฏิบัติ, การพิจารณาให้สิทธิในการพิจารณาต่อสัญญาหรือขยายเวลาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแก่ลูกค้ารายเดิมก่อน 3 ปี

โครงสร้างอัตราค่าบริการมีความเป็นธรรม, การผลิตและจัดหาไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอมีมาตรฐาน, การรักษาความลับข้อมูลทางธุรกิจให้กับลูกค้า, การสนับสนุนธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ, การบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีการร้องเรียนหรือฝ่าฝืนเงื่อนไขสัญญา และในกรณีที่การกระทำ พฤติกรรม หรือเหตุที่ทำให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการในกิจการพลังงานสิ้นสุดลงแล้ว ผู้รับใบอนุญาตอาจต้องร้องขอให้คณะกรรมการระงับ ยกเว้น หรือปรับปรุงมาตรการเฉพาะใหม่ก็ได้

สำหรับ บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายของ กกพ. ประกอบด้วย

1. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้น 45% โดยตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตปี2564 ที่ 8,700 เมกะวัตต์

2. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมสิ้นปี2564 ที่ 7,922 เมกะวัตต์

3. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้น 25% มีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 6,016 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าปี 2565 เพิ่มกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์

4. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 42.53% ปัจจุบันมีกำลังผลิตประมาณประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าใน 10 ปีข้างหน้าจะมีกำลังการผลิต 15000-20000 เมกะวัตต์

5. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 3,019 เมกะวัตต์ ตั้งปรับเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 7,200 เมกะวัตต์ ในปี 2568

ในขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน มีกำลังผลิต 15,789.58 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ 13 ราย รวมกำลังผลิต 14,948.50 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก รวมกำลังผลิต 8,756.82 เมกะวัตต์ รวมทั้งรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศมาเลเซีย รวมกำลังผลิต 3,877.60 เมกะวัตต