‘คณิศ’ คาด ม.ค.65 เคาะรื้อสัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน

งานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่มีปัญหาเพราะ รฟท.ได้ส่งมอบพื้นที่แล้ว 98% คือพื้นที่แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และคาดว่าในเดือนมกราคม 2565 จะส่งมอบในส่วนที่เหลือ

เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ.
คณิศ แสงสุพรรณ ระบุ กรณีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา ในส่วนการจ่ายเงินเพื่อแลกกับการโอนสิทธิและทรัพย์สิน รวมถึงการบริหารรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นเงิน 10,671 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด 19 ซึ่งได้พิจารณาพบว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยมีจำนวนผู้โดยสารลดลงเหลือ 9 พันคน/วัน จากเดิมมีจำนวน 7.9 หมื่นคน/วัน

ปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณาผลกระทบและวิธีแก้ไข ซึ่งตามกระบวนการได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือรฟท. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ และคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาร่วมหารือเพื่อหาข้อเท็จจริง จากผลกระทบนอกเหนือสัญญา และพิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไร และจะมีการแก้ไขสัญญาหรือไม่ โดยให้ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน หรือไม่เกินเดือนมกราคม 2565 และหากมีการแก้ไขสัญญา จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 

อย่างไรก็ตาม เอกชนได้จ่ายเงินมาแล้ว 1,067 ล้านบาท หรือ 10% ของวงเงินที่ต้องจ่าย

ส่วนงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่มีปัญหาเพราะ รฟท.ได้ส่งมอบพื้นที่แล้ว 98% คือพื้นที่แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และคาดว่าในเดือนมกราคม 2565 จะส่งมอบในส่วนที่เหลือ

ขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่ EEC ได้ดำเนินครบ 4 โครงการ มูลค่าการลงทุนสูงถึง 654,921 ล้านบาท เป็นการลงทุนภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท และเป็นการลงทุนของภาครัฐ 238,841 ล้านบาท โดยเอกชนให้ผลตอบแทนภาครัฐ 440,193 ล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 201,352 ล้านบาท

 

ทั้ง 4 โครงการ ประกอบด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เงินลงทุน 276,561 ล้านบาท โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก เงินลงทุน 204,240 ล้านบาท โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 เงินลงทุน 64,905 ล้านบาท และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เงินลงทุน 110,000 ล้านบาท