‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ที่ 33.43 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ที่ 33.43 บาทต่อดอลลาร์

“เงินบาท”เปิดตลาดวันนี้(26 พ.ย.) อ่อนค่าที่ 33.43 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เงินบาทยังคงมีแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะการทยอยปรับสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าของผู้เล่นต่างชาติ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 พ.ย.) ที่ระดับ 33.43 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.36 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะการทยอยปรับสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าของผู้เล่นต่างชาติ ซึ่งล่าสุด เราเห็นการขายบอนด์ระยะสั้นสุทธิติดต่อกันสองวัน รวมแล้วราว 4 พันล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่า ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนเริ่ม cut loss สถานะการเก็งกำไรเงินบาทออกมาบ้าง สอดคล้องกับ สัญญาณเชิงเทคนิคัลในระยะสั้นที่ชี้ว่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าแตะระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้อยู่ 

ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ด้วยเช่นกัน เพราะเรามองว่า เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสเผชิญแรงขายทำกำไรด้วยเช่นกัน หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาและเงินดอลลาร์ก็เริ่มแตะแนวต้านเชิงเทคนิคัล (RSI เข้าสู่โซน Overbought) ซึ่งหากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนเงินดอลลาร์ ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้บ้างในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 รวมถึงความกังวลล่าสุดต่อเชื้อ COVID สายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรง ก็อาจยังพอช่วยหนุนโมเมนตัมเงินดอลลาร์อยู่ในระยะนี้เช่นกัน

ในระยะสั้นนี้ เราเชื่อว่า เงินบาท จะกลับไปเจอแนวต้านสำคัญในโซน 33.45-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ส่งออกบางรายยังรอขายเงินดอลลาร์ รวมถึงผู้เล่นต่างชาติอาจรอจังหวะกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทอีกรอบได้ หากสัญญาณเชิงเทคนิคัลเงินบาทเริ่มเปลี่ยนทิศหรือเกิด Divergence นอกจากนี้ ต้องติดตามทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เพราะหากราคาทองคำสามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ ก็จะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ส่วนแนวรับเงินบาทได้ขยับขึ้นมาแถว 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเห็นผู้นำเข้าบางส่วนเข้ามาซื้อเงืนดอลลาร์บ้าง เท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือน

แม้ว่าใน ฝั่งสหรัฐฯ จะเป็นวันหยุดเทศกาล Thanksgiving ทำให้ธุรกรรมในตลาดเบาบางลง ทว่าบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงถูกปกคลุมด้วยความกังวลแนวโน้มเฟดพร้อมที่จะเร่งการลดคิวอี รวมถึงขึ้นดอกเบี้ยได้หลายครั้งในปีหน้า ซึ่งเราคาดว่ามุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดจะทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก และนอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ตลาดยังเริ่มกังวลโอกาสการแพร่ระบาด COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ที่พบในแอฟฟริกาใต้ ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลให้หลายประเทศแบนการเดินทางจากประเทศในแถบแอฟฟริกา และกดดันให้ ค่าเงิน Rand ของแอฟฟริกาใต้ (ZAR) อ่อนค่าลงหนักเกือบ 2%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 กลับมารีบาวด์ขึ้นราว +0.40% โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่รีบาวด์ขึ้นมาบ้าง หลังจากที่ย่อตัวลงหนักตลอดสัปดาห์ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นยุโรปอาจยังถูกกดดันจากประเด็นปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่ยังคงกดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปยังอยู่ในโหมดปรับฐานจากจุดสูงสุดก่อนหน้าต่อ 

ในฝั่งตลาดบอนด์ โดยรวมตลาดยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน เนื่องจากวันหยุดในฝั่งสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สัญญาณฟิวเจอร์ของบอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ก็สะท้อนภาพบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นต่อ ซึ่งเป็นไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังมีโมมนตัมการแข็งค่าหนุนอยู่ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 96.80 จุด โดยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นั้นถูกหนุนโดยภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและดูโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงแนวโน้มเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีหน้า นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และมุมมองตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำแกว่งตัว sideways ในช่วง 1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคงมองว่า ระดับดังกล่าวจะเป็นแนวรับสำคัญที่ผู้เล่นบางส่วนยังคงรอกลับเข้ามาเก็งกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์เก็งกำไรทองคำในจังหวะรีบาวด์ดังกล่าวอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะกดดันให้เงินผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ในช่วงนี้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นว่า ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) Christine Lagarde จะมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการเงินของ ECB อย่างไร ซึ่งหากประธาน ECB แสดงความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากปัญหาการระบาดระลอกใหม่และย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น มุมมองดังกล่าวอาจกดดันให้ เงินยูโร (EUR) ผันผวนและอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ได้